บทบรรณาธิการ : เศรษฐกิจพึ่งจีน

บทบรรณาธิการ : สํานักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า เปิดผลสรุปมูลค่าการส่งออกไทยในปี 2561 แล้วว่า ขยายตัวได้ร้อยละ 6.7 พลาดจากเป้าหมายที่กำหนดไว้ร้อยละ 8

สินค้าที่ฉุดการส่งออกหนักมากในเดือนธันวาคม คือสินค้าหลักที่ส่งออกไปจีน โดยเฉพาะคอมพิวเตอร์ ติดลบถึงร้อยละ 42 และยางพารา ติดลบถึง 45

โดยเฉพาะกลุ่มประเทศที่อยู่ในห่วงโซ่การผลิตของจีน เช่น ฮ่องกง เกาหลีใต้ และไต้หวัน ล้วนชะลอตัวลง

สาเหตุหลักมาจากความไม่มั่นใจในสถานการณ์ เศรษฐกิจโลก เมื่อสงครามการค้าของชาติมหาอำนาจทางเศรษฐกิจอันดับ 1 และอันดับ 2 ส่งสัญญาณเปิดฉาก

แม้จะพักศึกไว้ชั่วคราว แต่กำหนดพักจะสิ้นสุดในไตรมาสแรกของปี 2562

กระทรวงพาณิชย์แจ้งว่า ปี 2562 ยังคงต้องเร่งหาตลาดใหม่ๆ ที่มีศักยภาพเข้ามาทดแทน และพัฒนาสินค้าให้มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มอาหาร และอุตสาหกรรมที่มีเทคโนโลยีสูงขึ้น สนับสนุนให้ต่างชาติเข้ามาลงทุน

อย่างไรก็ตาม มาตรการรับมือสถานการณ์นี้อาจยังไม่แสดงผลในทันที โดยเฉพาะเมื่อสภาพการณ์เศรษฐกิจทั่วโลกมีลักษณะคล้ายกัน

จากการปรับตัวเลขของธนาคารโลก หรือเวิลด์แบงก์เมื่อต้นปีนี้ อัตราการขยายตัวเศรษฐกิจโลกลดลงเหลือร้อยละ 2.9 เมื่อเทียบกับร้อยละ 3 เมื่อปี 2561

กลุ่มประเทศกำลังพัฒนาจะมีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ หรือจีดีพี อยู่ราวร้อยละ 4.2 ลดลงร้อยละ 0.9

แม้ว่าปี 2561 ไทยมีมูลค่าการส่งออกรวม 252,486 ล้านเหรียญสหรัฐ เป็นมูลค่าสูงสุดเป็นประวัติการณ์

แต่ในปี 2562 นี้การส่งออกมีแนวโน้มลดลง ต่อเนื่องจากเดือนพฤศจิกายนและธันวาคม 2561 อีกทั้งเวิลด์แบงก์ยังประเมินว่า จีนจะมีการขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 6.2 ในปี 2562 ลดลงจากปี 2561 ที่ร้อยละ 6.6 ซึ่งเป็นตัวเลขต่ำสุดของจีนในรอบ 28 ปี

เศรษฐกิจของไทยพึ่งพาการส่งออกและการท่องเที่ยวเป็นหลัก และรายได้สองส่วนนี้มาจากจีนในสัดส่วนสูงมาก

การจัดเลี้ยงข้าวเหนียวมะม่วงให้นักท่องเที่ยวจีนเพื่อฟื้นฟูการท่องเที่ยวอาจไม่พอ และการทำการค้ากับจีนที่ไม่มีเงื่อนไขด้านประชาธิปไตยก็อาจไม่พอเช่นกัน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน