คอลัมน์ บทบรรณาธิการ

ในเชิงอุดมคติแล้ว สถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่ดีที่สุดก็คือประเทศที่ประชาชนอยู่ดีกินดี มีหลักประกันให้กับชีวิตทั้งในยามปกติ ยามเจ็บป่วย ยามชรา หรือในยามที่ประสบเหตุไม่คาดหมาย

และมีรัฐบาลซึ่งมีฐานะการเงินการคลังมั่นคง สามารถสร้างและดูแลรักษาสาธารณูปโภคพื้นฐานและบริการที่จำเป็น รวมทั้งมีความสามารถและมีทรัพยากรมีสภาพคล่องในการดูแลประชาชนยามประสบเหตุฉุกเฉินหรือมีภัยพิบัติ

รองลงมาก็คือสังคมที่ประชาชนมีฐานะทางเศรษฐกิจแข็งแรงสามารถดูแลตนเองได้

แม้รัฐบาลจะ “ยากจน” หรือขาดดุลบ้างก็ไม่มีปัญหา

รองลงมาอีกก็คือประเทศที่ประชาชนอาจจะประสบปัญหาทางเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเพราะปัญหาภายใน หรือขาดความสามารถ ในการแข่งขันกับต่างประเทศ

แต่มีรัฐบาลที่มีฐานะการเงินการคลังเข้มแข็ง มีความสามารถในการใช้จ่าย ลงทุน และพัฒนาเพิ่มประสิทธิภาพของประชาชนให้ แข็งแรงขึ้นมาได้ในอนาคตระยะยาว

ในขณะที่ภาวะที่ไม่พึงปรารถนาที่สุดก็คือ ประเทศที่ประชาชนประสบปัญหาทางเศรษฐกิจ คนส่วนใหญ่มีรายได้ชักหน้าไม่ถึงหลัง มีความเหลื่อมล้ำสูง ขาดความสามารถในการแข่งขันกับต่างประเทศ

ซ้ำมีรัฐบาลที่ขาดความสามารถ และขาดความมั่นคงทางการเงินการคลัง

จนไม่มีสติปัญญาและกำลังที่จะกอบกู้แก้ไขปัญหา

แต่ไม่ว่าจะเป็นในกรณีใด หากมีความมุ่งมั่นตั้งใจ เอาจริงเอาจัง และมีการวางแผนระยะยาวโดยเฉพาะการพัฒนาคนที่ดี

ย่อมสามารถพลิกสถานการณ์จากเลวร้ายให้กลับมาดีขึ้นได้ในวันหนึ่ง

กรณี “เงินคงคลัง” ที่ร่อยหรอลงอย่างรวดเร็วของรัฐบาลในปัจจุบัน จะจัดอยู่ในกรณีไหนเป็นสิ่งที่จะต้องนำเอาข้อมูลอื่นๆ มาประกอบ

จะต้องไม่ให้เป็นเรื่องของการจงใจกล่าวโทษหรือจ้องจับผิด ขณะเดียวกันก็จะต้องไม่ใช่การแก้ตัวหรือปัดความรับผิดชอบให้พ้นไป

ซึ่งนอกจากจะไม่ช่วยแก้ไขปัญหาแล้ว กลับจะยิ่งซ้ำเติมสถานการณ์ลงไปอีก

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน