หาเสียงทางทีวี

บทบรรณาธิการ

บทบรรณาธิการ : แม้ว่าสื่อใหม่ในโลกออนไลน์จะขยายตัวรวดเร็วและมีจำนวนผู้มีส่วนร่วมสูงมาก ราว 57 ล้านคนใช้อินเตอร์เน็ต และมากกว่า 51 ล้านคนใช้โซเชี่ยลมีเดีย

แต่การหาเสียงเลือกตั้งทางโทรทัศน์ยังเป็นประเพณีนิยม และนิยมใช้วัดคะแนนนิยมในหลายๆ ประเทศ

สำหรับไทย คณะกรรมการการเลือกตั้ง เพิ่งหารือร่วมกับผู้บริหารสถานีวิทยุโทรทัศน์ เพื่อสนับสนุนการจัดสรรเวลาออกอากาศให้แก่พรรคการเมือง

กกต.ขอความร่วมมือกับสถานีโทรทัศน์ของรัฐ และสถานีโทรทัศน์ดิจิตอล ให้ออกอากาศวันละ 1 ชั่วโมงต่อเนื่อง 10 วัน 6 โมงเช้ายันเที่ยงคืน ระหว่างวันที่ 8-21 มี.ค.

กรณีนี้กกต.ระบุเฉพาะพรรคการเมือง โดยไม่เกี่ยวข้องกับรายการของรัฐบาล

 

เนื้อหาที่กกต.หารือผู้บริหารสถานีถึงการใช้เวลาของสถานีโทรทัศน์ 5 วันแรก เป็นการออก อากาศสปอตโฆษณาของพรรคการเมือง พรรคละ 10 นาที ส่วน 5 วันถัดมาเป็นการออกอากาศเทปการประชันนโยบายของพรรคการเมือง

ในส่วนของการจัดทำสปอตให้พรรคการเมืองจัดการเอง ส่วนเวทีดีเบตเป็นกกต.จัดการและรับผิดชอบ เพื่อนำส่งให้ทางสถานีไปเผยแพร่ พร้อมระบุให้ทางสถานีเลือกเผยแพร่ได้ในช่วงเวลา 06.00-24.00 น. โดยไม่จำเป็นว่าแต่ละสถานีจะต้องเผยแพร่ในช่วงเวลาเดียวกัน หากสื่อโทรทัศน์จะจัดรายการดีเบตเอง กกต.ย้ำว่าให้ยืนอยู่บนจรรยาบรรณวิชาชีพ

 

คาดได้ว่า สถานีช่องต่างๆ จะปฏิบัติตามคำขอนี้ได้ปกติ เนื่องจากธรรมชาติของสื่อโทรทัศน์ไทยมักมีเสรีภาพในการตัดสินใจอยู่ประมาณหนึ่ง

การประชุมเรื่องใช้สื่อโทรทัศน์ดังกล่าวยังทำให้ทราบข้อมูลอัพเดตของพรรคการเมืองจาก กกต. ว่า ณ วันที่ 25 ม.ค. มีพรรคการเมืองทั้งสิ้น 105 พรรค แต่มีพรรคที่มีคุณสมบัติ ส่ง ผู้สมัครได้แล้วในขณะนี้ 36 พรรค

ในจำนวนนี้ พรรคที่เตรียมพร้อมตามระเบียบแล้วมีจำนวน 14 พรรค ได้แก่ การมีทุนประเดิม 1 ล้านบาท การจัดให้มีสมาชิก 500 คน ประชุมใหญ่แก้ไขข้อบังคับพรรค และประชุมเลือกหัวหน้าพรรค และกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ครบถ้วน รวมทั้งจัดตั้งสาขาพรรค ตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัดครบแล้ว

 

ดังนั้นคาดได้ว่าจะเห็นตัวแทนพรรคต่างๆ เหล่านี้ออกโทรทัศน์ในช่วงเวลาที่กกต.ร้องขอและ กำหนดไว้

อ่านข่าว

 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน