บทบรรณาธิการ

คดีวิวาทบนท้องถนนระหว่างวิศวกรวัยกลางคนกับกลุ่มวัยรุ่นที่บานปลายจนวัยรุ่นอายุ 17 ปีถูกยิงเสียชีวิตนั้น เป็นกรณีถกเถียงอยู่นานหลายวัน

แม้ว่าสำหรับเจ้าหน้าที่ตำรวจในจังหวัดชลบุรี พื้นที่เกิดเหตุแล้ว คดีนี้ไม่ได้สลับซับซ้อนอะไร เจ้าหน้าที่ยึดตามพยานหลักฐานให้ความเป็นธรรมทุกฝ่าย

แต่หัวข้อที่จะเป็นบทเรียนของคนในสังคมต่อไปคือ บทลงเอยของเหตุการณ์นั้นเป็นการกระทำเกินกว่าเหตุหรือไม่

คำถามที่ว่าเกินกว่าเหตุหรือไม่ เป็นคำถามสำคัญของยุคนี้ เพราะเป็นคำถามที่ทำให้เกิดข้อถกเถียงที่อาจขยายเป็นความขัดแย้งที่บานปลายต่อไปได้

หากไม่ยึดถือกติกาทั้งทางสังคมและทางกฎหมาย

 

กติกาทางสังคมไทยส่วนใหญ่คือหลักทางศาสนา ส่วนกติกาสากลระหว่างประเทศเป็นหลักสิทธิมนุษยชน

การใช้ความรุนแรงนั้น ทางศาสนามีหลักคิดคำเตือนว่าอย่าได้ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ส่วนทางสากลเป็นเรื่องที่ครอบคลุมถึงสิทธิในการมีชีวิตอยู่และทางกฎหมาย การฆ่าคนมีบทลงโทษ ทั้งในส่วนเจตนาและไม่เจตนา

กติกาเหล่านี้มุ่งเน้นให้คนหลีกเลี่ยงการใช้ความรุนแรงโดยคิดถึงผลกระทบที่ตามมา โดยเฉพาะการสูญเสียชีวิต

ในกรณีของวิศวกรกับกลุ่มวัยรุ่นอาจมีเหตุผลทางคดี ไม่ว่าช่วงก่อนเกิดเหตุหรือหลังจากเกิดเหตุ ซึ่งมีรายละเอียดเผยแพร่ทางโลกออนไลน์

ประกอบกับความคิดเห็นจำนวนมาก หลายคนเห็นว่าการยิงปืนนี้ไม่สมควร บางคนว่าสมควรแล้ว และบางคนถึงกับหากเป็นตนเองจะยิงมากกว่านี้

 

ในคดีดังกล่าวนี้ นอกจากการตัดสินในกระบวนการยุติธรรมที่ผู้คนในทางสังคมจะเฝ้าติดตามแล้ว อาจต้องร่วมกันพิจารณาอย่างมีสติว่าเกินกว่าเหตุหรือไม่

เพราะก่อนหน้านี้มีเหตุการณ์ระดับประเทศที่ยังเป็นคำถามค้างคาอยู่ในความเห็นที่ขัดแย้งกัน

เช่น การใช้คำสั่งเคลื่อนกำลังทหารเข้ามาใจกลางเมืองหลวงเพื่อสลายการชุมนุมที่ผู้ชุมนุมมือเปล่าถูกเหมารวมไปว่าล้วนติดอาวุธนั้น เกินกว่าเหตุหรือไม่

การชุมนุมเพื่อต่อต้านรัฐบาลโดยเรียกร้องให้ทหารเข้ามาแทรกแซงนั้น เกินกว่าเหตุหรือไม่

ปัญหาสำคัญคือคนในสังคมสนับสนุนให้ทำเกินกว่าเหตุหรือไม่

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน