คอลัมน์ บทบรรณาธิการ

ในสัปดาห์นี้ไม่เพียงตัวแทนพรรคการเมืองจะต้องเข้าร่วมกระบวนการปรองดอง ที่รัฐบาลวางแนวทางไว้เท่านั้น

คาดว่าในส่วนของข้าราชการระดับสูงต้องกระฉับกระเฉงขึ้นมาด้วย

เพราะรัฐบาลวางแนวทางให้ข้าราชการระดับปลัดกระทรวง อธิบดีกรม หัวหน้าส่วนราชการประชุมเตรียมพร้อมก่อนที่จะมีการอบรม หรือพรี-เวิร์กช็อป สำหรับสร้างวิสัยทัศน์และเข้าใจกลไกการทำงานของคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง

เรียกสั้นๆ ว่าคณะทำงานป.ย.ป.

ป.ย.ป.เป็นคณะทำงานที่รัฐบาลวางแนวทางและหวังผลใน 4 เรื่องหลัก ตามชื่อของคณะกรรมการ

มีการใช้มาตรา 44 ในรัฐธรรมนูญชั่วคราว ตั้งที่ปรึกษาให้ป.ย.ป. เป็นบุคคลที่มาจากภาคส่วนต่างๆ รวมถึงภาคประชารัฐด้วย

เมื่อเร็วๆ นี้มีผู้บริหารภาคธุรกิจเอกชนชั้นนำ ไปจนถึงอดีตข้าราชการที่เกษียณอายุเข้าร่วมเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ แต่ละคนล้วนมีชื่อเสียงในการบริหารกิจการ

จึงคาดได้ว่าคงจะมีคำแนะนำในด้านบริหารราชการและการวางยุทธศาสตร์ชาติเป็นหลัก

แต่ในเรื่องการสร้างความปรองดองแล้วยังไม่เห็นภาพที่แน่ชัด เพราะเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา และต้องอาศัยการเลือกตั้งเป็นกลไกสำคัญ

การปรองดองที่คาดหมายกันว่าจะบรรลุผลให้ได้โดยไวนั้นเป็นเจตนาที่ดี

อย่างไรก็ตาม ต้องไม่ลืมว่าความขัดแย้งในเหตุการณ์ที่ผ่านมานั้นมีฝ่ายใช้อำนาจที่เกินเลยกติกา ไม่ยอมรับระบบรัฐสภา และไม่ยอมรับการเลือกตั้ง

กลุ่มที่ไม่ยอมรับนี้มีจำนวนไม่น้อย มีทั้ง นักธุรกิจในภาคเอกชนที่สนับสนุนเงินทุนเคลื่อนไหวทางการเมือง รวมถึงข้าราชการที่เลือกฝ่าย และองค์กรภาคสังคมที่มองข้ามกลไกประชาธิปไตย

หากแนวคิดเดิมยังฝังอยู่ในกลุ่มผู้มีสถานะ และอำนาจทางเศรษฐกิจและสังคมที่เหนือกว่าประชาชนทั่วไปที่มีเพียงสิทธิในการเลือกตั้ง การคาดหวังในความสำเร็จอาจต้องอยู่ในวงจำกัด

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน