ประเด็นร้อน

 

ประกาศย้ำกลางเวทีประชุมสมัชชาสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ที่นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและหัวหน้าคสช. ได้ใช้โอกาสนี้ กล่าวชี้แจงสถานการณ์ภายในไทยว่า รัฐบาลได้วางรากฐานเพื่อนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน

โดยเมื่อวันที่ 7 สิงหาคมที่ผ่านมา ประชาชนได้ใช้สิทธิลงมติรับรองร่างรัฐธรรมนูญตามวิถีทางประชาธิปไตยและกำลังพิจารณากฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญต่างๆ ให้แล้วเสร็จ

เพื่อนำไปสู่การเลือกตั้งตามโรดแม็ปปลายปี 2560

การออกเสียงลงประชามติสะท้อนถึงความตั้งใจจริงของรัฐบาลที่จะส่งเสริมกระบวนการประชาธิปไตย โดยตระหนักถึงเสียงสะท้อนจากประชาคมระหว่างประเทศ

พร้อมยืนยันว่ารัฐบาลชุดนี้เข้ามาเพื่อดูแลสถานการณ์ช่วงเปลี่ยนผ่านเพื่อให้เกิดความเรียบร้อยและความมั่นคง

เมื่อสถานการณ์บ้านเมืองดำเนินไปสู่สภาวะปกติสุขแล้ว รัฐบาลก็ผ่อนคลายมาตรการที่ไม่จำเป็น เช่น การยกเลิกการนำพลเรือนขึ้นศาลทหาร เป็นต้น

ถึงแม้ถ้อยแถลงพล.อ.ประยุทธ์ ต่อที่ประชุมใหญ่ยูเอ็นครั้งนี้

สาระสำคัญจะไม่ต่างจากที่เคยกล่าวกับที่ประชุมผู้นำกลุ่มประเทศ จี 20 ที่นครหางโจว ประเทศจีน และนายบัน คีมุน เลขาธิการยูเอ็น ระหว่างร่วมประชุมสุดยอดอาเซียน ที่นครเวียงจันทน์ สปป.ลาว เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา

แต่ก็เป็นการตอกย้ำให้ความมั่นใจกับประชาชนคนไทยและประชาคมโลก ว่าการเลือกตั้งจะมีขึ้นในปลายปี 2560 ตามโรดแม็ปที่วางไว้แน่นอนร้อยเปอร์เซ็นต์

ไม่มีทางบิดพลิ้วเป็นอย่างอื่น

นับจากนี้เป็นต้นไปจึงเหลือเวลาอีก 1 ปี 3 เดือนก่อนการเลือกตั้ง

พล.อ.ประยุทธ์และรัฐบาลคสช.จะทำอย่างไรให้การเลือกตั้งเป็นกลไกเปลี่ยนผ่านประเทศ ไปสู่ประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อย่างแท้จริงทั้งด้าน “รูปแบบ”และ”เนื้อหา”

ตรงนี้เองคือโจทย์การบ้านข้อใหญ่

 

จากท่าทีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้สร้างความมั่นใจอย่างไม่ต้องสงสัยว่าการเลือกตั้งจะมีขึ้นไม่เกินปลายปีหน้า เพียงแต่หลังจากนั้นประเทศจะเดินต่อไปในทิศทางใดนั้น

เป็นเรื่องอนาคตที่ยังตอบไม่ได้

โดยเฉพาะสถานการณ์การเมืองปัจจุบันที่อยู่ระหว่างการจัดทำกฎหมายลูก ควบคู่ไปกับปฏิบัติการขุดรากถอนโคนพรรคการเมือง ซึ่งนับจากนี้ไปคาดว่าจะได้เห็นปฏิบัติการที่เข้มข้นขึ้นตามลำดับ

ส่วนเป้าหมายคือพรรคการเมืองใดนั้นสังคมรับรู้กันอยู่

ปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ ออกเดินตลาดพร้อมเปิดใจให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนด้วยเนื้อหาสะท้อนถึงอารมณ์ความอัดอั้นตันใจ

กับการที่นั่งอยู่ดีๆ ก็ต้องมารับเคราะห์ถูกป.ป.ช.ไต่สวนถึง 15 คดี

ล่าสุดป.ป.ช.ยังได้ส่งหนังสือแจ้งถึงการตั้ง คณะอนุกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริงกรณีการบริหารจัดการน้ำ

อันเป็นเหตุให้เกิดอุทกภัยใหญ่ปี 2554

โดยมีชื่อนางสุภา ปิยะจิตติ กรรมการป.ป.ช. เป็นประธานอนุกรรมการไต่สวนฯ เช่นเดียวกับอีก 5 คดีก่อนหน้าจากทั้งหมด 15 คดีในมือป.ป.ช. อาทิ คดีแทรกแซงโยกย้ายข้าราชการ การจ่ายเงินเยียวยาผู้ชุมนุมทางการเมือง เป็นต้น

ประเด็นนางสุภามีชื่อเป็นประธานอนุกรรมการไต่สวนฯคดีเกี่ยวกับน.ส.ยิ่งลักษณ์จำนวนมากกว่า 1 ใน 3 ของคดีทั้งหมด ทั้งที่นางสุภาถือเป็นคู่ขัดแย้งโดยตรงกับน.ส.ยิ่งลักษณ์ในกรณีจำนำข้าว

ได้นำไปสู่การยื่นร้องคัดค้านต่อประธานป.ป.ช. ถึง 7 ครั้งด้วยกัน แต่ก็ไม่เป็นผล และเมื่อวันที่ 22 กันยายน น.ส.ยิ่งลักษณ์ได้ส่งทนายไปยื่นร้องคัดค้านเป็นครั้งที่ 8 และเป็นไปได้ว่าอาจมีครั้งที่ 9 และ 10 ตามมา

นอกจากมาตรฐานอัตราเร่งในการทำคดี ถ้าเป็น ในส่วนของตนเองและพรรคเพื่อไทยก็จะรวดเร็วราวติดปีก แต่ถ้าเป็นคดีของพรรคการเมืองอื่นก็จะล่าช้าไม่คืบหน้าแล้ว

ยังมีเรื่องการใช้มาตรา 44 ออกคำสั่งเอื้อต่อการยึดทรัพย์คดีจำนำข้าว และคุ้มครองเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติให้ไม่ต้องรับผิดใดๆ ทั้งทางแพ่ง ทางอาญาและทางวินัย

ซึ่งน.ส.ยิ่งลักษณ์มองว่าไม่เป็นธรรมกับตนเอง

เนื่องจากในส่วนคดีอาญายังอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง การใช้มาตรา 44 ให้อำนาจกรมบังคับคดียึดทรัพย์ ทั้งที่ความจริงควรเป็นเรื่องของศาลแพ่ง

เท่ากับเป็นการ”ชี้นำ”คดีอาญาหรือไม่

“ถ้ามั่นใจว่ากระบวนการทั้งหมดโปร่งใสและเป็นธรรม ทำไมต้องใช้มาตรา 44 ปกป้องข้าราชการ ถ้ามั่นใจว่าทำถูกก็ไม่ต้องกลัวถูกฟ้องร้อง แต่วันนี้ใช้มาตรา 44 กันถูกฟ้องร้อง ใครจะทำอะไรก็ได้ แล้วอย่างนี้ขนาดอดีตนายกฯ ยังปกป้องและหาความยุติธรรมให้ตัวเองไม่ได้ แล้วประชาชนธรรมดาจะเรียกหาความยุติธรรมได้อย่างไร” น.ส.ยิ่งลักษณ์ระบุ

 

แนวโน้มการกวาดล้างนักการเมืองครั้งใหญ่ ไม่เพียงเห็นได้จากความเป็นไปในคดีจำนำข้าว

หากย้อนกลับไปไม่นานยังเห็น ได้จากกรณีนพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี อดีตรมว.ไอซีทีในคดีแก้สัมปทานดาวเทียม

เห็นจาก นายสมศักดิ์ เกียรติ สุรนนท์ อดีตประธานรัฐสภา นายอุดมเดช รัตนเสถียร อดีตส.ส.นนทบุรี นายนริศร ทองธิราช อดีตส.ส.สกลนคร กรณีร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมประเด็นที่มาส.ว.

การลงมติถอดถอน พล.อ.อ. สุกำพล สุวรรณทัต อดีตรมว.กลาโหม กรณีแทรกแซงการแต่งตั้งโยกย้ายปลัดกระทรวงกลาโหม

รวมถึง นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีตรมว.พาณิชย์ นายภูมิ สาระผล อดีตรมช.พาณิชย์ ในคดีขายข้าว แบบรัฐต่อรัฐหรือจีทูจี ที่เชื่อกันว่าเป็น”โมเดลนำร่อง”ไปยังคดีจำนำข้าวของน.ส.ยิ่งลักษณ์

ที่รอเข้าคิวขึ้นเขียงป.ป.ช.ยังมีนายวัฒนา เมืองสุข อดีตรมว.การพัฒนาสังคมฯ ถูกกล่าวหาทุจริตโครงการบ้านเอื้ออาทร ตั้งแต่ในยุครัฐบาลทักษิณเมื่อ 10 ปีก่อน

และถูกจับตาว่าอาจเป็นการล้างบางครั้งใหญ่ได้แก่ การที่ป.ป.ช.ตั้งอนุกรรมการไต่สวนข้อกล่าวหาใช้อำนาจตำแหน่งหน้าที่โดยมิชอบกับ 40 อดีตส.ส. พรรคเพื่อไทย ที่เข้าชื่อเสนอร่างพ.ร.บ. นิรโทษกรรมสุดซอย

ซึ่งมีแนวโน้มนำไปสู่การลงโทษอดีตส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลอีกประมาณ 260 คนที่โหวตรับร่างกฎหมาย

ยังมีกรณีอัยการคดีพิเศษยื่นคำร้องต่อศาลอาญา ให้เพิกถอนการประกันตัว 5 แกนนำนปช. โดยอ้างเหตุผลมีพฤติกรรมกระทำผิดเงื่อนไขการปล่อยตัวชั่วคราว

หลายคนสงสัยว่าทำไมคดีส่วนใหญ่เกิดกับพรรคเพื่อไทย

คำตอบก็คือเป็นเพราะมีแต่การขุดรากถอนโคน ให้สิ้นซากเท่านั้น ถึงจะเป็นหลักประกันให้กับการรัฐประหาร 2557 ว่าจะไม่”เสียของ”เหมือนการรัฐประหาร 2549

เมื่อดูจากความขยันขันแข็งของคณะกรรมการป.ป.ช.ก็มีความเป็นได้มากว่า นักการเมืองบางพรรคอาจถึงขั้นสูญพันธุ์ไปในห้วงเวลาไม่เกิน 1 ปี 3 เดือนนับจากนี้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน