คอลัมน์ รายงานพิเศษ

หลังศาลปกครองกลางไม่มีคำสั่งคุ้ม ครองชั่วคราวนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีตรมว.พาณิชย์ และพวกรวม 6 คน กรณีที่กระทรวงพาณิชย์ออกมาตรการบังคับทางปกครอง เพื่อยึดและอายัดทรัพย์ในคดีชดใช้ค่าเสียหายจากการทุจริตโครงการรับจำนำข้าวและการระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ(จีทูจี)

เมื่อวันที่ 14 ก.พ. กระทรวงพาณิชย์ได้ตั้งเรื่องส่งกรมบังคับคดี เดินหน้ายึดและอายัดทรัพย์รวม 2 หมื่นล้านบาทต่อไป ซึ่งในจำนวนนี้เป็นการเรียกค่าเสียหายจากนาย บุญทรง 1,770 ล้านบาท นายภูมิ สาระผล อดีต รมช.พาณิชย์ 2,300 ล้านบาท

ส่วน พ.ต.นพ.วีระวุฒิ วัจนะพุกกะ อดีตเลขานุการ รมว.พาณิชย์ นายมนัส สร้อยพลอย อดีตอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ นายทิฆัมพร นาทวรทัต อดีตรองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ นายอัครพงศ์ ทีปวัชระ อดีตผู้อำนวยการสำนักการค้าข้าวต่างประเทศคนละ 4,000 ล้านบาท

ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ยืนยันว่าเรื่องนี้ดำเนินการอย่างเป็นธรรม-โปร่งใส

ส่วนนักวิชาการมีมุมมอง ดังนี้

พัฒนะ เรือนใจดี

คณะนิติศาสตร์ ม.รามคำแหง

แม้ว่าศาลปกครองจะมีคำสั่งไม่คุ้มครองนายบุญทรง กับพวกรวม 6 คนในคดีชดใช้ค่าเสียหายจากการทุจริตโครงการรับจำนำข้าวและการระบายข้าวแบบจีทูจีนั้น เข้าใจว่าเหตุแห่งการบังคับคดียังไม่เกิดขึ้น

และมองว่านาย บุญทรงกับพวกน่าจะสามารถใช้สิทธิอุทธรณ์ต่อได้อีก โดยต้องแสดงเหตุผลกับศาลอีกครั้ง สามารถใช้สิทธิอุทธรณ์ได้ตามความจำเป็น ส่วนศาลจะคุ้มครองหรือไม่ขึ้นกับดุลพินิจของศาลซึ่งคงมีหลักเกณฑ์อยู่

สำคัญสุดคือศาลจะชั่งน้ำหนักระหว่างความจำเป็นกับความเสียหายที่เกิดขึ้น

อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวมองว่าที่กระทรวงพาณิชย์ดำเนินการตั้งเรื่องส่งกรมบังคับคดีเพื่อดำเนินการต่อนั้น มองไม่ว่าช้าเกินไป เผลอๆ ต้องเรียกว่าดำเนินการเร็วผิดปกติไปเสียด้วยซ้ำ

เข้าใจว่าทั้งทางกระทรวงพาณิชย์และกรมบังคับคดีต้องการความมั่นใจว่าหากชนะในคดีดังกล่าวแล้ว ทั้งอดีตรัฐมนตรีและพวกจะต้องมีทรัพย์สินมากเพียงพอที่จะมาชดใช้ค่าเสียหาย เพราะโครงการดังกล่าวถือเป็นความเสียหายต่อรัฐ เลยต้องเร่งดำเนินการเพื่อขออายัดทรัพย์เอาไว้ก่อน

แต่คาดว่าทรัพย์ที่มีไม่น่าจะเพียงพอกับความเสียหายที่มีมูลค่ากว่า 2 หมื่นล้านบาท

คดีนี้มีความเกี่ยวโยงไปถึงคดีอาญาที่อยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองด้วย ซึ่งไม่แน่ใจว่าศาลปกครองอาจจะพิจารณาโดยรอดูผลการตัดสินของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในคดีนี้เป็นที่สิ้นสุดก่อนหรือไม่อย่างไร ซึ่งก็อาจจะเป็นไปได้

การตัดสินของศาลปกครองในคดีนี้ จะเป็นการสร้างบรรทัดฐานเรื่องการดำเนินนโยบายที่ได้หาเสียงไว้กับประชาชน ซึ่งในอนาคตจะทำให้นักการเมืองต้องระมัดระวังเป็นอย่างยิ่ง เพราะอาจจะทำให้เกิดความกังวลในการดำเนินนโยบายที่ได้หาเสียงเอาไว้กับประชาชน

หากนักการเมืองไม่กล้าทำตามนโยบายที่ได้หาเสียงเอาไว้ คำถามที่ตามมาคือแล้วประชาชนจะได้อะไร

ยุทธพร อิสรชัย

รองอธิการบดี ม.สุโขทัยธรรมาธิราช

หลังจากศาลปกครองมีคำสั่งไม่คุ้มครองนาย บุญทรง กับพวกรวม 6 คนในคดีทุจริตโครงการรับจำนำข้าวและการระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐหรือจีทูจี เชื่อว่าเป็นคำสั่งศาลปกครองชั้นต้น หลังจากนี้ ผู้ฟ้องคดีสามารถดำเนินการใช้สิทธิในการอุทธรณ์คดีดังกล่าวได้ตามเงื่อนเวลาที่กฎหมายกำหนด เพราะหากผู้ฟ้องคดีไม่ดำเนินการยื่นเรื่องเพื่ออุทธรณ์ กระบวนการต่อไปก็ต้องเข้าสู่การบังคับคดีซึ่งก็จะถูกยึดทรัพย์ต่อไป

มองว่ากระทรวงพาณิชย์ไม่ได้ดำเนินการเรื่องดังกล่าวช้าไป เชื่อว่าเป็นการดำเนินการตามขั้นตอน อีกทั้งตาม พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 จะมีเงื่อนเวลาตามกฎหมายบังคับอยู่ หากไม่ดำเนินการตามเวลาที่กำหนด คดีจะเป็นโมฆะไป

ส่วนที่ทางฝั่งนายบุญทรง ผู้ร้องมองว่าควรรอให้คดีดังกล่าวเป็นที่สิ้นสุดก่อนนั้น มองว่าในส่วนที่เกี่ยวข้องกับคดีอาญาซึ่งขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งเป็นคนละส่วนกับคดีทางปกครองที่ให้ชดใช้ค่าเสียหาย ซึ่งจะสัมพันธ์กับคดีแพ่ง

ดังนั้น หากจะมองหรือถามหาเรื่องความเป็นธรรมกับทางฝั่งผู้ร้องก็จะเปรียบเหมือนอยู่กันคนละลู่วิ่ง

ส่วนตัวมองว่ากระบวนการพิจารณาของแต่ละศาล ทั้งศาลปกครอง ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หรือศาลอื่นๆ นั้นขึ้นกับดุลพินิจ

ส่วนของคดีนี้ถือว่ายังไม่เป็นที่สิ้นสุด ยังไม่จบกระบวนการ เมื่อศาลปกครองชั้นต้นมีคำตัดสินออกมาแบบนี้ การใช้สิทธิตามกฎหมายที่มีอยู่โดยเฉพาะการอุทธรณ์ต่อเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องดำเนินการ

การจะพูดถึงความยุติธรรมในขณะนี้ยังเร็วไปเพราะคดียังไม่ถึงที่สุด ยังมีขั้นตอนต่างๆ ให้ดำเนินการต่อไป

อย่างไรก็ตาม คดีนี้มีความเกี่ยวข้องกับนโยบายของรัฐ เป็นนโยบายสาธารณะ การดำเนินการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งกระทรวงพาณิชย์ กรมบังคับคดีหรือแม้แต่รัฐบาลเองก็ต้องดำเนินการด้วยความโปร่งใส เพราะเป็นเรื่องที่มีผล กระทบกับคนจำนวนมาก

ขณะที่การพิจารณาคดีต้องเป็นสาธารณะด้วย ต้องเปิดเผย เพราะเป็นสิ่งที่มีผลต่อความเชื่อมั่นในการพิจารณาคดีของศาลด้วย

อัษฎางค์ ปาณิกบุตร

นักวิชาการอิสระด้านรัฐศาสตร์

ที่มีการวิจารณ์ว่ากระทรวงพาณิชย์ดำเนินการตั้งเรื่องส่งกรมบังคับคดีเพื่อใช้มาตรการทางปกครองยึดและอายัดทรัพย์นายบุญทรงและพวกล่าช้านั้น

จากที่ได้ฟังการชี้แจงของอธิบดีกรมบังคับคดีแล้วดูเหมือนว่าจะต้องทำอะไรอีกมาก ซึ่งตามขั้นตอนจะต้องสืบว่าทรัพย์มีเท่าไหร่และปัจจัยอื่นอีกมาก

ขั้นตอนตามกฎหมายนั้นมีการบัญญัติไว้อย่างละเอียด แต่ติดใจอยู่อย่างเดียวว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นให้ความยุติธรรมกับผู้ที่ถูกร้องหรือไม่ นี่คือประเด็นหลักว่าการที่ใช้กฎหมายกับจำเลยนั้นยุติธรรมพอหรือยัง

ส่วนตัวอาจจะมองไม่เหมือนคนอื่น ถามว่าถ้าผู้บริหารประเทศทำเรื่องให้เกิดความเสียหายสมควรต้องชดใช้คืนหรือไม่

ถ้าต้องชดใช้ก็ต้องปฏิบัติเหมือนกับที่ผ่านๆ มา คือคนที่เคยทำให้ประเทศเสียหายก็ต้องชดใช้ด้วยใช่หรือไม่ ถ้าใช่ก็ต้องไปไล่กันมาเพราะมีเรื่องเยอะแยะไปหมด ทุกคนจะได้มีความรอบคอบ ก็ต้องว่าให้ยุติธรรมเท่ากัน

เห็นด้วยอย่างยิ่งถ้าอยู่ดีๆ แล้วมาซี้ซั้วทำให้ประเทศเสียหายก็ต้องรับผิด แต่ถามว่าในกระบวนการต้องยุติธรรมต้องเท่ากัน ไม่ใช่เจาะจงหรือเลือกเฉพาะคน หรือตั้งธงว่าต้องเป็นแบบนี้ กระบวนการยุติธรรมต้องเท่ากัน

ตอนที่ฟังการแถลงคนจะมองว่าทางกระทรวงพาณิชย์ดำเนินการล่าช้า

คำถามคือเขาก็กลัวเป็นแพะเหมือนกัน ไปทำอะไรซี้ซั้วเขาก็โดนฟ้องได้เมื่อสถานการณ์กลับสู่ภาวะปกติ

ขอให้ดูไว้โดยเฉพาะมาตรา 44 ซึ่งพูดตามหลักวิชาการ เพราะมีหลายคนที่ถูกแขวนโดยไม่ได้รับความยุติธรรม

ผู้นำประเทศ ผู้มีอำนาจ ถ้าใช้กฎหมายอย่างยุติธรรมไม่มีใครว่าเลย จะไม่มีทางตกอับ จะมีแต่คนสรรเสริญ

แต่ในทางกลับกันต้องคิดดูเอาเอง ลักษณะของผู้นำประเทศมีตำราทางรัฐศาสตร์ที่เรียนมาไม่รู้ว่าได้อ่านกันหรือเปล่า โพลิสติคอล คาริสม่า หรือลักษณะผู้นำทางการเมือง และผู้นำทางการบริหารนั้นเป็นอย่างไร

เรื่องนี้อย่าไปมองหรือวิจารณ์ว่าลัดขั้นตอนหรืออะไรเลย มันเป็นธง คดีของอดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เขาก็มีหนทางการต่อสู้ แต่คดีนี้ต้องดูว่ามีการสอบสวนชัดเจนหรือยัง ซึ่งไม่อยากไปก้าวล่วง

วันนี้สังคมคงเห็นอะไรหลายอย่าง ในฐานะนักรัฐศาสตร์ต้องมองในเรื่องของกระบวนการ ซึ่งนักกฎหมายและนักรัฐศาสตร์มีการสอนที่เหมือนกันอย่างหนึ่งคือกฎหมายต้องใช้อย่างยุติธรรม

สำหรับตนไม่กล้าให้คำแนะนำรัฐบาลในเรื่องนี้ ถ้าเขารับฟังประเทศลื่นไหลไปมากกว่านี้เยอะ ไม่ติดขัดแน่

การที่ไปหยุดและใช้อำนาจมาลงโทษคนวิจารณ์ก็ไม่มีใครกล้าที่จะวิจารณ์ ทั้งๆที่เขาเป็นประชาชนที่มีความหวังดี

ถ้าคุณฟังแล้วคิดว่าไม่ถูกต้องก็ควรออกมาพูดว่าผิดเพราะอะไร ตรงไหน ไม่ใช่พูดว่าไม่มีเหตุผล ออกมาพูดเพราะต้องการเลื่อยขา แล้วฟังแต่คนเดิมๆ พวกเดิมๆ

โดยเฉพาะเรื่องการปรองดองที่กำลังทำในขณะนี้มันเกาไม่ถูกจุดเลย

เพราะความจริงแล้วปัญหาทั้งหมดคือความไม่ยุติธรรม

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน