นโยบายเศรษฐกิจ

คอลัมน์ บทบรรณาธิการ

 

นโยบายเศรษฐกิจ – ปัจจัยสำคัญหนึ่งที่จะมีผลอย่างยิ่งต่อการเลือกตั้งครั้งนี้คือนโยบายเศรษฐกิจ

หลังจากเหตุการณ์รัฐประหารแสดงผลแล้วว่า ความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองที่ตรึงไว้ด้วยอำนาจรัฐไม่ใช่ปัจจัยสำคัญที่สุดที่ทำให้เศรษฐกิจเติบโตและตอบสนองคนทุกกลุ่ม

การกล่าวอ้างว่านักลงทุนต่างชาติไม่สนใจว่าไทยจะมีรัฐบาลแบบใดขอเพียงให้สถานการณ์เรียบร้อยไร้การชุมนุม และมีนโยบายสานต่อด้วยยุทธศาสตร์ชาติที่กำหนดโดยรัฐที่แข็งแกร่ง พร้อมใช้กลุ่มทุนขนาดใหญ่ช่วยผลักดัน ก็แสดงผลแล้วเช่นกันว่าไม่จริง

ส่วนการพึ่งการส่งออกหรือการ ท่องเที่ยวมากเกินไปมีบทเรียนความเสี่ยงจากปัจจัยภายนอกและเหตุการณ์ที่คาดไม่ถึง

ความเคลื่อนไหวด้านเศรษฐกิจช่วงก่อนการเลือกตั้ง รัฐบาล คสช.ระบุว่าการส่งออกของโลกจะไม่ค่อยดีนัก ตรงกับที่สถาบันเศรษฐกิจหลายแห่งคาดการณ์ไว้

สำหรับการส่งออกของไทยเมื่อปี 2561 มีมูลค่าราว 7.9 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.7% ต่ำกว่าเป้าหมายการที่ตั้งไว้ 8%

ส่วนปี 2562 คาดว่าการขยายตัวจะชะลอตัวลงอีก จากปัจจัยต่างประเทศ รวมถึงสงครามการค้าของชาติมหาอำนาจ และการปรับนโยบายปกป้องตนเองของชาติใหญ่

การรับมือในเบื้องต้นมุ่งไปที่กระทรวงคมนาคม ให้เร่งรัดทุกหน่วยงานในสังกัดเบิกจ่ายงบประมาณลงทุนภาครัฐกว่า 1.2 ล้านล้านบาท ด้วยเห็นว่าจะเป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญ

ระหว่างการเร่งรัดโครงการของรัฐดังกล่าว ช่วงเวลาเดียวกันนี้มีอีกเสียงจากกลุ่มเคลื่อนไหวของประชาชนที่ยื่นคำร้องต่อรัฐบาลใช้มาตรการลดความเหลื่อมล้ำ ในที่นี้รวมถึงการจ่ายค่าชดเชยเยียวยากับผู้ได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำ และโครงการอื่นๆ ของรัฐ

กรณีนี้ตอกย้ำว่าระหว่างการผลักดันเศรษฐกิจของรัฐจะมีประชาชนส่วนหนึ่งที่ได้รับผลกระทบ และประชาชนอีกจำนวนมากที่ไม่ได้รับประโยชน์จากโครงการของรัฐอย่างเท่าเทียม

พรรคการเมืองที่เสนอตัวในการเลือกตั้งนี้น่าจะต้องเสนอทางออกว่าจะทำอย่างไรให้ประชาชนเข้าถึงประโยชน์จากการลงทุนของรัฐมากกว่าที่เป็นอยู่นี้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน