คอลัมน์ รายงานพิเศษ

บรรยากาศปรองดอง ยังสะบัดร้อนสะบัดหนาว

ด้านหนึ่งเหมือนคึกคัก ราบรื่น เป็นไปด้วยดี

ถึงแม้ยังมีเสียงคัดค้านโดยเฉพาะจากกลุ่มญาติผู้สูญเสียจากเหตุการณ์สลายการชุมนุมทางการเมืองปี 2553 ว่าไม่ควรให้ทหารซึ่งถือเป็นหนึ่ง ในคู่ขัดแย้งมาเป็นฝ่ายคุมเกมปรองดอง

ควรปล่อยเป็นหน้าที่ของรัฐบาลจากการเลือกตั้งเข้ามาดำเนินการมากกว่า ก็ตาม

คณะกรรมการเตรียมการเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดองที่มีพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รอง นายกฯ ฝ่ายความมั่นคง และรมว.กลาโหม เป็นเจ้าภาพ ถือฤกษ์ เดือนแห่งความรัก ออกเทียบเชิญพรรคการเมือง จำนวน 70 พรรค

แต่ละพรรคทุกไซซ์ เล็ก กลาง ใหญ่ ต่างให้ความร่วมมือเป็นอย่างดีในการส่งตัวแทนเข้าร่วมเสนอแนวทาง

ในขั้นตอนของอนุกรรมการรับฟังความคิดเห็น มีพล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล ปลัดกระทรวงกลาโหม เป็นประธาน ซึ่งจะทำหน้าที่รวบรวมข้อมูลความ คิดเห็น

ส่งต่อให้คณะอนุกรรมการจัดทำข้อเสนอกระบวนการ ที่มีพล.อ. เฉลิมชัย สิทธิสาท ผบ.ทบ. เป็นประธาน ไปดำเนินการต่ออีกที

ตรงนั้นถึงจะเห็นชัดว่าการสร้างความปรองดองในชาติจะเดินไปในทิศทางใด

สำหรับพรรคใหญ่ๆ ที่เข้าเสนอความเห็นไปแล้ว เช่น พรรคชาติพัฒนา พรรคชาติไทยพัฒนา และเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาเป็นคิวของพรรคประชาธิปัตย์ที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคนำทีมมาเอง

ส่วนพรรคเพื่อไทย เพิ่งได้รับเทียบเชิญสดๆ ร้อนๆ เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา คาดว่า น่าจะได้คิวเข้าเสนอแนวทางความเห็นหลัง วันที่ 21 ก.พ.ไปแล้ว

ถนนทุกสายมุ่งสู่ความปรองดอง แต่หลายคนก็ยังมองว่า การเมืองไทยกำลังมาถึงทางแยกระหว่างเส้นทางความปรองดองที่แท้จริง กับเส้นทางที่จะนำไปสู่ความขัดแย้งรอบใหม่

รัฐบาลคสช.พยายามสร้างบรรยากาศความสมานฉันท์ปรองดอง แต่การกระทำ ในหลายเรื่องก็ดูเหมือนจะสวนทางกัน ไม่ว่ากรณีการยึดอายัดทรัพย์คดีจำนำข้าว “ยิ่งลักษณ์-บุญทรง”

หรือกรณี “พระธัมมชโย” แห่งวัดพระธรรมกาย และกรณีโรงไฟฟ้าถ่านหิน จ.กระบี่ เป็นต้น

ล้วนเป็นชนวนร้อนแรง ทำให้สังคมเกิดความคลางแคลงว่า รัฐบาลคสช.มีความเข้าใจและจริงใจ ในการนำพาประเทศชาติออกจากปลักความขัดแย้งมากน้อยขนาดไหน

น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ ตั้งคำถามแรงๆ ผ่านไปถึงรัฐบาลคสช. กรณี นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ฝ่ายกฎหมาย ออกมาแสดงความเห็น ต่อการยึดหรืออายัดทรัพย์คดีจำนำข้าว

ด้วยการชี้นำว่า กระทรวงการคลังและกรมบังคับคดี กระทรวงยุติธรรม สามารถดำเนินการได้เลย โดยไม่ต้องรอผลการขอทุเลาคำสั่งและการพิจารณาจากทางศาลปกครอง

หรือต่อให้ในภายหลังศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ทรัพย์สินที่ยึดไปแล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องคืน

“นี่หรือนักกฎหมายของรัฐ ที่เพียรพูดว่าจะคำนึงถึงความยุติธรรมและเป็นกลางกับทุกฝ่าย แล้วอย่างนี้จะหวังให้ผู้เป็นรัฐบาลยุติธรรมกับผู้อื่น ในยามบ้านเมืองต้องการเห็นการปรองดองแบบนี้หรือ” อดีตนายกฯระบุ

และที่กำลังเป็นความเคลื่อนไหวน่าสนใจ

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและ หัวหน้าคสช. ใช้อำนาจออกคำสั่งตามมาตรา 44 กำหนดให้พื้นที่โดยรอบและวัดพระธรรมกาย เป็นพื้นที่ควบคุม

ให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ เป็น เจ้าภาพสนธิกำลังตำรวจ-ทหาร และฝ่ายปกครอง จำนวน 4,000 นาย เข้าปิดล้อมและบุกค้นวัด

เป้าหมายจับกุมพระธัมมชโย ผู้ต้องหาตามหมายจับศาลข้อหาร่วมฟอกเงินและรับของโจร มาดำเนินการตามกฎหมายให้ได้ หลังความพยายามล้มเหลวมาแล้ว 2 ครั้งเมื่อปี 2559

ปฏิบัติการเผด็จศึกธัมมชโยยก 3 เกิดขึ้นท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์เดิมๆ ว่าการทุ่มสรรพกำลัง เจ้าหน้าที่จำนวนหลายพันนาย เพื่อจับกุมพระสงฆ์รูปเดียว ถือว่าเข้าข่ายขี่ช้างจับตั๊กแตน

ถึงในที่สุดจะจับกุมพระธัมมชโยมาได้ ก็ไม่แน่ว่าจะคุ้มค่ากับต้นทุนกำลังคนที่เสียไป

ยังไม่รวมต้นทุนด้านภาพลักษณ์ อย่างที่ นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ อดีตนักการเมืองปากกล้า ชี้ว่า นอกจากการใช้กำลังเกินกว่าเหตุ ยัง ง่ายต่อการกระทบกระทั่งกับความรู้สึกของพุทธ ศาสนิกชน

ทั้งที่เพิ่งมีการสถาปนาพระสังฆราชองค์ใหม่ ที่ ทรงให้ปฐมโอวาท ขอให้คนไทยสามัคคี มีศีล สมาธิ ปัญญา

“หลักธรรมเพิ่งได้ยินยังไม่ทันจาง เจ้าหน้าที่รัฐก็นำกำลังล้อมวัดพระธรรมกายเสียแล้ว ระวังสะดุดขาตัวเองล้ม เพราะคนไทยไม่ชอบเห็นคนโดนแกล้งเสียเท่าไหร่”

ขณะเดียวกันยังมีกระแสเบื้องลึก เกี่ยวกับปฏิบัติการปิดล้อมวัดพระธรรมกาย เผด็จศึกธัมมชโย ว่าแอบแฝงปม”งัดข้อกันเอง”ระหว่างมือไม้คนใกล้ชิดระดับแกนนำคสช.

โดยมีข้อน่าสังเกตถึงการที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) จู่ๆ ก็ออกมาเปิดประเด็นไล่เช็กบิลบริษัท คอนเทมโพรารีฯ ของลูกชายพล.อ.ปรีชา จันทร์โอชา อดีตปลัดกลาโหม

ที่เข้าไปรับประมูลงานรับเหมาก่อสร้างในพื้นที่กองทัพภาคที่ 3 หลายโครงการ มูลค่ารวมกว่า 150 ล้านบาท

ขณะที่อีกด้าน มีการไล่ขย่มโครงการ ขุดลอกคูคลองขององค์การทหารผ่านศึก

เป็นจังหวะเดียวกับโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือไอลอว์ ออกมาเปิดเผยข้อมูลสำรวจ

พบ พล.อ.ปรีชา จันทร์โอชา มีชื่อเป็น 1 ใน 7 สนช. ที่เข้าประชุมลงมติจำนวนครั้งต่ำกว่าเกณฑ์ข้อบังคับ ทั้งที่รับเงินเดือนมากกว่า 1.2 แสนบาท จนอาจเป็นเหตุให้ขาดสมาชิกภาพ

นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญ ยื่นหนังสือถึงนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสนช.ให้ตรวจสอบจริยธรรม 7 สมาชิกสนช.เป็นการด่วน

ขณะที่อดีตส.ส.พรรคประชาธิปัตย์แนะนำ ให้พล.อ.ปรีชา รีบลาออกจากสนช. เพื่อเป็นการ”ตัดไฟแต่ต้นลม” ไม่ให้ลุกลามถึงพล.อ.ประยุทธ์ นายกฯ ผู้เป็นพี่ชายแท้ๆ

ปมร้อนที่ก่อขึ้นจาก”หลานชาย”มาถึง”น้องชาย”ที่เหมือนระเบิดวิถีโค้งตกใส่พล.อ.ประยุทธ์ จะส่งผลเสียหายขนาดไหน สังคมยังต้องเฝ้าติดตามกันต่อ

และที่ประมาทไม่ได้ กรณีรัฐบาลคสช.ประกาศเดินหน้าก่อสร้างโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน จ.กระบี่ โดยไม่สนใจพลังม็อบเครือข่ายฝ่ายต่อต้าน ที่มาปักหลักชุมนุมหน้าทำเนียบ จนกระทบกระทั่งกับฝ่ายเจ้าหน้าที่

ส่อเค้าชุลมุนกว่าที่วัดพระธรรมกายเสียด้วยซ้ำ

ไม่ว่ากรณีจำนำข้าว พระธัมมชโยแห่งวัด พระธรรมกาย และโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน จ.กระบี่ ทั้งหมดคือเครื่องส่งสัญญาณเตือน ถึงกระบวนการสร้างความปรองดองในชาติ

ไม่น่าจะราบรื่นลุล่วง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน