ยาแรง‘ยุบพรรค’ เลือกตั้งชักเดือด

ยาแรง‘ยุบพรรค’ เลือกตั้งชักเดือด – ยิ่งใกล้วันเลือกตั้ง 24 มีนาคม อุณหภูมิการเมืองก็ปรับตัวสูงมากขึ้น

คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) สรุปข้อมูลตัวเลขผู้สมัครลงรับเลือกตั้งเป็นส.ส.ครั้งนี้ มีจำนวนกว่า 1 หมื่นคน จาก 76 พรรคการเมือง

ประชาชนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งมากกว่า 51 ล้านคน

มีผู้ลงทะเบียนขอใช้สิทธิ์เลือกตั้งล่วงหน้าวันที่ 17 มีนาคม ทั้งนอกเขตและในเขตจังหวัดเกิน 2.6 ล้านคน ทะลุเป้าที่ตั้งไว้ 2 ล้านคน ในจำนวนนี้มีผู้ลงทะเบียนขอใช้สิทธินอกราชอาณาจักร 119,184 คน ใน 67 ประเทศ

การเลือกตั้ง 24 มีนาคม จึงนับเป็นการเลือกตั้งครั้งประวัติศาสตร์ของไทย มีความสำคัญต่อบ้านเมือง เป็นประตูบานแรกในการนำพาประเทศกลับสู่เส้นทางระบอบประชาธิปไตยอีกครั้ง

เป็นการเลือกตั้งเต็มรูปแบบครั้งแรกในรอบ 8 ปี และครั้งแรกของรัฐธรรมนูญปี 2560 ที่เขียนขึ้นภายใต้การกำกับของรัฐบาลคสช.และแม่น้ำหลายสาย

ขณะที่ภาพรวมจุดยืนพรรคการเมืองที่ลงสนามแข่งขัน แบ่งแยกตามพฤติกรรมได้เป็น 3 สายพันธุ์ ได้แก่ พรรคสนับสนุนการสืบทอดอำนาจ พรรคฝ่ายประชาธิปไตย และพรรคแทงกั๊ก ไม่แสดงจุดยืนชัดเจน

ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาการเมืองเกิดหลายประเด็นร้อนแรง จนหลายคนหวั่นว่าจะกระทบต่อจุดหมายปลายทางวันที่ 24 มีนาคม โดยสืบเนื่องจากการปะทะกันระหว่างพรรค คสช. ที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลและกองทัพ

เริ่มจาก “บิ๊กแดง”พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผบ.ทบ. ไม่พอใจที่ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานยุทธศาสตร์เลือกตั้งพรรคเพื่อไทย ที่หาเสียงชูนโยบายตัดงบประมาณกระทรวงกลาโหมลง 10 เปอร์เซ็นต์ หรือ 2 หมื่นล้านบาท จากทั้งหมดกว่า 2 แสนล้านบาท และเลิกการเกณฑ์ทหาร

โดยไล่ให้ไปฟังเพลง “หนักแผ่นดิน” ที่เคยโด่งดังยุคเหตุการณ์เดือนตุลาฯ 2519 จนเกิดกระแสดีดกลับ กลายเป็นการกวักมือ“เรียกแขก”ออกมารุมถล่ม

แม้รัฐบาลจะพยายามบรรเทาผลกระทบที่ตามมา ด้วยการส่งทีมโฆษกทหารออกมาแถลงชี้แจง ยืนยันถึงความจำเป็นและความโปร่งใสในการจัดทำงบกลาโหม

แต่ก็ไม่สามารถกลบเสียงวิจารณ์ที่ลุกลามเหมือนไฟลามทุ่งได้

กระทั่งมามีเหตุ “บังเอิญ” เมื่อเครื่องบินทหาร ซี-130 เกิดเหตุใบพัดขัดข้อง ระหว่างนำคณะพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา บินลงตรวจราชการ จ.สุราษฎร์ธานี และ จ.กระบี่

ผู้นำรัฐบาลจึงสบจังหวะพลิกวิกฤตเป็นโอกาส ชี้ให้เห็นถึงความจำเป็นของกองทัพ ในการจัดซื้อยุทโธปกรณ์ใหม่ทดแทนของเก่าที่หมดสภาพการใช้งาน

เรื่องงบกลาโหมที่ทำให้คสช.และกองทัพถึงกับปลุกเอาเพลงหนักแผ่นดินขึ้นมาสู้ สรุปแล้วไม่ได้ช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้น

ส่วนจะมีผลต่อคะแนนเสียงในการเลือกตั้งหรือไม่ อาจไม่ใช่ทั้งหมด แต่ก็เป็นปัจจัยหนึ่ง

ในสถานการณ์การเลือกตั้งที่ต่างฝ่ายต่างแพ้ไม่ได้

การ“ยุบพรรค”ได้กลายมาเป็นประเด็นใหญ่ก่อนวันเลือกตั้งจะมาถึง

เหตุการณ์วันที่ 8 กุมภาพันธ์ ในการเสนอชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ทำให้พรรคไทยรักษาชาติ หรือทษช. เป็นพรรคการเมืองแรกที่ กกต.ส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยสั่ง “ยุบพรรค”

กล่าวกันว่าหากมีการยุบพรรคทษช. คงมีบางพรรคแอบหวังจะให้มีผลในการ“ตัดกำลัง”พรรคฝ่ายประชาธิปไตยโดยเฉพาะพรรคเพื่อไทย คู่ปรับอันดับ 1 ของพรรค คสช. ในสมรภูมิเลือกตั้ง

เอาเข้าจริงก็ยังไม่แน่ว่าจะเป็นเช่นนั้น

ภายใต้ความเชื่อที่ว่า ต่อให้พรรคไทยรักษาชาติถูกตัดสินยุบพรรคจริง คะแนนเสียงคนที่เคยตั้งใจจะไปเลือกพรรคไทยรักษาชาติก็จะไม่ตกน้ำหายไปไหน หรือเปลี่ยนใจไปเลือกพรรคสืบทอดอำนาจ

แต่คะแนนจะย้ายฐานกระจายไปอยู่กับพรรคฝ่ายประชาธิปไตยด้วยกัน ซึ่งอาจจะเป็นผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทย พรรคอนาคตใหม่ มีความเป็นไปได้ทั้งสิ้น

ภายใต้การเดินหน้า “ยุบพรรค” กกต.ในฐานะผู้คุมกฎการเลือกตั้ง กำลังถูกจับตาจากสังคมมากที่สุด

โดยเฉพาะหลังจากมีผู้เข้ายื่นคำร้องอย่างน้อย 3 ราย ให้ยุบพรรคพลังประชารัฐ ด้วยเหตุผลเดียวกับที่ กกต.เสนอให้ยุบพรรคไทยรักษาชาติ นั่นก็คือ

กระทำการเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตย

จากการที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นหัวหน้า คสช. ซึ่งถือว่าได้อำนาจการปกครองมาโดยมิชอบ ไม่เป็นไปตามครรลองระบอบประชาธิปไตย แต่กลับยินยอมให้ พปชร.เสนอชื่อเป็นแคนดิเดตนายกฯ ในบัญชีของพรรค ขัดต่อเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ

รวมทั้งประเด็นมีกลุ่มบุคคลเข้าครอบงำการจัดตั้งพรรค ครอบงำพรรค เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐและใช้ตำแหน่งหน้าที่โดยมิชอบ นำเอานโยบายของรัฐบาลนำเสนอเป็นนโยบายพรรค เข้าข่ายความผิดตามพ.ร.ป.พรรค การเมือง

นอกจากนี้ยังมีกรณี“โต๊ะจีน”ระดมทุน 650 ล้าน ที่ยังคาราคาซังอยู่อีกด้วย

“ประเด็นที่มีการร้องขอให้ยุบพรรค พปชร.นั้น กกต.ก็ทราบดีว่าผู้ร้องทั้ง 3 รายต่างอ้างเหตุว่าเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตย เพราะมีการเสนอชื่อผู้นำคณะรัฐประหารมาเป็นแคนดิเดตนายกฯ เรื่องนี้มีข้อเท็จจริงรู้กันทั่วไป กกต.ย่อมต้องทราบดี หากอ้างว่าไม่รู้เรื่องนี้ แสดงว่ามาจากดาวอังคารแล้วหรือไม่ หรืออีกอย่างคือ กกต.อาจยอมรับว่าผู้ทำรัฐประหารไม่ใช่ปฏิปักษ์ต่อการปกครองต่อระบอบประชาธิปไตย ใช่หรือไม่”

นายวิญญัติ ชาติมนตรี 1 ใน 3 ผู้ร้องกล่าวตอบโต้ หลัง พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาฯกกต.ในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมือง อ้างว่าการยื่นคำร้องยุบพรรค พปชร. แตกต่างจากกรณีการเสนอยุบพรรค ทษช.

เนื่องจากมีแต่คำร้อง ไม่มีหลักฐาน จึงขอเวลารวบรวมหลักฐานข้อเท็จจริงอีกราว 1-2 สัปดาห์ ก่อนจะเสนอที่ประชุม กกต.พิจารณาต่อไป

และแล้วเกมทำลายล้างพรรคฝ่ายประชาธิปไตย ก็ลุกลามมาถึงพรรคอนาคตใหม่ของ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ จนได้

ไม่ว่ากรณีตำรวจ ปอท. เตรียมเสนอต่ออัยการสั่งฟ้องนายธนาธร ลุ้นฝากขังวันที่ 27 ก.พ.นี้ คดีไลฟ์สด
เฟซบุ๊กวิจารณ์การดูดส.ส. หรือกรณีความผิดพลาดในการระบุประวัติลงในเว็บไซต์ของพรรค ที่นักวิชาการอดีตที่ปรึกษา กรธ. ระบุว่ามีความเสี่ยงถึงขั้นถูกลงโทษ “ยุบพรรค”

สิ่งที่เห็นได้อย่างหนึ่งภายหลังเหตุการณ์วันที่ 8 ก.พ. กระแสคนรุ่นใหม่ นิสิต นักศึกษา ต่างก็เทกลับมาทางฝั่งพรรคอนาคตใหม่และนายธนาธร เห็นได้จากกระแส #ฟ้ารักพ่อ และ #Savethanathon

สร้างความหวั่นไหวอย่างมากให้กับพรรคผู้มีอำนาจ

เพราะกลายเป็นว่า ถึงพรรค ทษช. อาจจะต้องออกจากสนามเลือกตั้งไป แต่กลับมีพรรค อนค. เข้ามาแทน

ขณะที่พรรคเพื่อไทยซึ่งประกาศชู คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ เป็นว่าที่นายกฯหญิง เสริมแกร่งด้วย นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ กระแสก็ยังแรงต่อเนื่องโดยเฉพาะในภาคอีสานพื้นที่ชี้ขาด

การเมืองว่าด้วยการเลือกตั้งเข้าสู่โหมดตะลุมบอนเต็มรูปแบบ ดุเดือดเลือดพล่าน

สมกับเป็นการเลือกตั้งครั้งประวัติศาสตร์อย่างแท้จริง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน