หยุดนิติบัญญัติ

คอลัมน์ บทบรรณาธิการ

หยุดนิติบัญญัติ – เครือข่ายประชาชน องค์กรเอกชน นักวิชาการ นักกฎหมาย และทนายความรวม 380 องค์กร ยื่นข้อเรียกร้องให้สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ยุติการทำหน้าที่นิติบัญญัติโดยทันที

โดยให้เหตุผลว่าสภาชุดนี้ได้รับการแต่งตั้งโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ มาจากอาชีพทหารและเหล่าทัพถึง 145 คน ข้าราชการ 66 คน ภาคธุรกิจ 19 คน ตำรวจ 12 คน ที่เหลือเป็นนักวิชาการและภาคประชาสังคม

ที่ผ่านมา มีร่างกฎหมายที่เข้าสู่การพิจารณารวมทั้งสิ้น 509 ฉบับ ผ่านความเห็นชอบ ประกาศเป็นกฎหมายและมีผลบังคับใช้ไปแล้วถึง 412 ฉบับ เฉลี่ยแล้วตกปีละเกือบ 100 ฉบับ

พร้อมกับตั้งข้อสังเกตว่าในช่วงสุดท้าย ระหว่างเดือนธันวาคม 2561-กุมภาพันธ์ 2562 โดยเร่งรัดพิจารณาผ่านแล้วถึง 66 ฉบับ

ก่อนหน้านี้ ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ระบุว่าสภาชุดนี้จะทำหน้าที่พิจารณากฎหมายจนถึงก่อนวันเลือกตั้งทั่วไป 7 วัน นั่นก็คือจะดำเนินการจนถึงวันที่ 17 มีนาคม

หลายครั้งมีความพยายามเร่งรีบและรวดเร็วอย่างผิดปกติ โดยเฉพาะกฎหมายที่กระทบต่อสิทธิและเสรีภาพ เอื้อประโยชน์ให้บางกลุ่ม รวมถึงการให้อำนาจเจ้าหน้าที่ของรัฐอย่างเกินขอบเขต

การลงมติที่ผ่านมา เป็นไปในแนวทางเดียวกัน ตอบสนองความต้องการผู้มีอำนาจเป็นหลัก อีกทั้งเป็นสภาที่ขาดการถ่วงดุล ไม่มีการตรวจสอบและฟังความคิดเห็นอย่างรอบด้าน

ในช่วงที่ประชาชนมุ่งสนใจการ เลือกตั้ง ย่อมไม่เป็นที่น่าไว้วางใจว่าจะทำหน้าที่โดยสุจริตใจหรือไม่

การออกมาเรียกร้องให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติยุติการพิจารณากฎหมายสำคัญต่างๆ ช่วงก่อนจะเลือกตั้ง จึงมีความสำคัญ และเป็นการเคลื่อนไหวที่สมควรสนับสนุน

นอกจากนี้ ยังมีพระราชบัญญัติต่างๆ ที่ออกมา ก็มีหลายฉบับที่อาจจะต้องหยิบยกขึ้นมาทบทวน แก้ไข ปรับปรุง หรือยกเลิกไปโดยสภาที่ผ่านการเลือกตั้งของประชาชน

รวมถึงต้องตรวจสอบอย่างเข้มข้นว่าดำเนินการโดยถูกต้องตามกระบวนการนิติบัญญัติมากน้อยเพียงใด มีความบกพร่องและเร่งรีบ เอื้อต่อบางองค์กร มีเจตนาสมประโยชน์กันหรือไม่

ดังนั้น กฎหมายที่มีความสำคัญและกระทบต่อประชาชนจึงสมควรหยุดไว้ก่อน จนกว่าจะมีสภาผู้แทนราษฎรเข้ามาทำหน้าที่

อ่าน : สนช. ขยัน : บทบรรณาธิการ

อ่าน : นักวิชาการเตือน! หลังเลือกตั้ง อย่าลืมแก้กฎหมาย จากสภาแต่งตั้ง…สนช.

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน