คอลัมน์ รายงานพิเศษ

การยึดทรัพย์คดีจำนำข้าวระหว่างที่มีการยื่นคำขอทุเลาต่อศาลปกครอง โดยที่ศาลยังไม่มีคำสั่งนั้นกระทำได้หรือไม่

เป็นข้อถกเถียงระหว่างฝ่ายรัฐบาลกับฝ่ายของอดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่อยู่ในฐานะจำเลย

รัฐบาลโดย นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ มองว่าการยึดทรัพย์เดินหน้าได้ทันทีโดยไม่ต้องรอศาล แต่ฝ่ายจำเลยมองต่างว่าขัดกฎหมาย ไม่ยุติธรรม

อดีตผู้พิพากษาและนักกฎหมายมีมุมมองต่อเรื่องดังกล่าวอย่างไร

1. ยุทธพร อิสรชัย

รองอธิการบดี ม.สุโขทัยธรรมาธิราช

การยึดทรัพย์โดยใช้พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติทางปกครองและพ.ร.บ.รับผิดทางละเมิด มีเกิดขึ้นอยู่บ่อยครั้งและถือเป็นเรื่องปกติทั่วๆ ไป ซึ่งมักจะเกิดกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ

เช่น เจ้าหน้าที่รัฐขับรถไปชนบุคคลทั่วไป หน่วยงานรัฐต้นสังกัดก็ต้องชดใช้ค่าเสียหายให้กับบุคคลนั้นไปก่อน จากนั้นหน่วยงานต้นสังกัดก็จะเกิดสิทธิในการเอาผิดเจ้าหน้าที่และ ยึดทรัพย์คืน เป็นต้น

ซึ่งเป็นคดีเล็กๆ สังคมไม่ได้ให้ความสนใจและมักจะเกิดขึ้นกับข้าราชการมากกว่านักการเมือง แต่กรณีของอดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์ มีมูลคดีค่อนข้างสูง และถูกทำให้เป็นการเมือง มีผลกระทบเกิดขึ้นเยอะกว่าสังคมจึงให้ความสนใจมากเป็นพิเศษ

ที่นายวิษณุให้สัมภาษณ์ โดยคำอธิบายว่าสามารถดำเนินการยึดทรัพย์อดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ได้ทันทีตาม พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติทางปกครองและพ.ร.บ.รับผิดทางละเมิดนั้น

หากจะมองตามตัวบทกฎหมายที่นายวิษณุยกมาอ้างก็สามารถทำได้แต่ก็จะทำให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์สามารถใช้สิทธิโต้แย้งได้เช่นกัน โดยสามารถใช้สิทธิอุทธรณ์ต่อศาลปกครองเพื่อขอให้ศาลคุ้มครองชั่วคราวได้

ถ้าหากศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในส่วนของกระทรวงพาณิชย์และกรมบังคับคดี ก็ไม่สามารถดำเนินการยึดทรัพย์ น.ส.ยิ่งลักษณ์ได้ แต่หาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ไม่ใช้สิทธิโต้แย้งก็ไม่ต้องรอคำสั่งศาล หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถยึดทรัพย์ได้ทันที มองว่าหน่วยงานรัฐจะต้องรอคำสั่งศาลให้ถึงที่สุดเสียก่อน

แต่เมื่อมีการยื่นคำขอทุเลาแล้วนายวิษณุระบุว่าไม่จำเป็นต้องรอคำวินิจฉัยของศาลปกครอง เป็นการใช้อำนาจที่ขัดหลักนิติธรรมอย่างชัดเจน เพราะกระบวนการยึดทรัพย์ของบุคคลนั้นจำเป็นจะต้องมีการถ่วงดุลกับศาลด้วย

แต่จะบอกให้รอคดีอาญาในการพิจารณาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองสิ้นสุดก่อนก็มองว่าไม่มีความสัมพันธ์กัน เพราะรับผิดทางละเมิดเป็นคดีปกครอง เป็นการทำละเมิดเจ้าหน้าที่รัฐ

ดังนั้น น.ส.ยิ่งลักษณ์ อาจไม่โดนโทษทางอาญาแต่อาจจะโดนโทษชดใช้ค่าเสียหายก็เป็นได้ ซึ่งก็ขึ้นกับพยานและหลักฐาน

อย่างไรก็ตาม เมื่อคดีนี้ถูกทำให้เป็นการเมืองในท้ายที่สุดแล้วจึงมีเรื่องของอารมณ์ความรู้สึก ความชอบ ไม่ชอบและความมีอคติเข้ามาเกี่ยวข้อง

ฝั่งหนึ่งอาจมองว่าการดำเนินการเหมาะสมแล้ว แต่อีกฝั่งอาจ มองว่าไม่เหมาะสม เพราะถือเป็นการดำเนินการจากรัฐบาลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ไม่เป็นประชาธิปไตย มาตรฐาน ซึ่งประเด็นเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องในแง่กฎหมายแล้วแต่เป็นเรื่องการเมืองมากกว่า

แต่ไม่ว่าคำตัดสินจะออกมาเป็นอย่างไรหากอยู่บนพยานหลักฐาน บนหลักนิติธรรมและตัวบทกฎหมายแล้วเชื่อว่าสังคมพร้อมที่จะเข้าใจ

2. สมลักษณ์ จัดกระบวนพล

อดีตผู้พิพากษาศาลฎีกา

นายกฯจะใช้กฎหมายความรับผิดทางละเมิดมาดำเนินคดีกับอดีตนายกฯยิ่งลักษณ์ ในกรณีการตรวจสอบความเสียหายจากโครงการรับจำนำข้าวไม่ได้เพราะไม่มีอำนาจ

เช่นเดียวกับไม่สามารถใช้กฎหมายคำสั่งทางการปกครองเพื่อมายึดทรัพย์อดีตนายกฯและฝ่ายการเมืองที่เกี่ยวข้องได้ เพราะมาตรา 4 ระบุชัดว่าห้ามบังคับใช้กับคณะรัฐมนตรี

การจะยึดทรัพย์อดีตนายกฯและรมต.ของรัฐบาลที่ผ่านมาเพื่อจะชดใช้กรณีจำนำข้าวทันที สามารถทำได้ทางเดียวคือ ใช้มาตรา 44 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ละเมิดกฎหมายได้ทุกฉบับเท่านั้น

ข้อโต้แย้งกันไปมาระหว่างรัฐบาลที่ผ่านมากับรัฐบาลปัจจุบันต่อกรณียึดทรัพย์นั้น มีกระบวนการทางกฎหมายตามปกติสามารถดำเนินการได้ดังนี้ คือ

รัฐบาลไปฟ้องจำเลย เรียกค่าเสียหายต่อโครงการรับจำนำข้าวที่ศาลแพ่งควบคู่ไปกับการฟ้องคดีที่ศาลอาญา จากนั้นเมื่อศาลแพ่งได้รับคำร้องก็จะจำหน่ายคดีนี้เป็นการชั่วคราว เพื่อรอคำพิพากษาจากศาลอาญาว่าจำเลยมีความผิดหรือไม่ จึงจะหยิบคำร้องเรียกค่าเสียหายมาพิจารณา

หากจำเลยมีความผิดทางอาญา ศาลแพ่งก็จะฟ้องเรียกค่าเสียหายควบคู่ไปกับกฎหมายความรับผิดทางละเมิด แต่หากจำเลยไม่ผิดทางอาญาคดีที่แพ่งก็จะสิ้นสุดไป

ในรายละเอียดที่เป็นข้ออ้างว่าไม่สามารถฟ้องตามกระบวนการปกติได้ เนื่องจากติดขัดเรื่องอายุความนั้นไม่จริง เมื่อศาลแพ่งจำหน่ายคดีชั่วคราวอายุความเพียงแค่สะดุดลง แล้วจะนับต่ออีกครั้งเมื่อศาลอาญาชี้ว่าจำเลยผิดจริง ศาลแพ่งก็จะสามารถพิพากษาในส่วนนี้ต่อไปได้

ส่วนเรื่องค่าธรรมเนียม ที่ระบุว่า รัฐบาลต้องสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายจำนวนมากนั้นก็ไม่น่าจะเป็นสาระสำคัญ เพราะหากที่สุดแล้วศาลพิพากษาให้จำเลยมีความผิดต้องรับผิดชอบค่าเสียหาย จำเลยก็ต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าธรรมเนียมศาลด้วย

แต่หากศาลชี้ว่าจำเลยไม่ผิด โจทก์ก็ต้องขอถอนฟ้อง ศาลก็จะคืนค่าธรรมเนียมบางส่วนให้ ซึ่งจากประสบการณ์การเป็นผู้พิพากษาก็จะพบว่าศาลจะคืนค่าธรรมเนียมให้ โจทก์ไม่ได้เสียค่าใช้จ่ายสูงอะไรมาก

จึงอยากแนะนำให้รัฐบาลเลือกใช้กระบวนการยุติธรรมตามกฎหมายปกติที่เรามี เพราะไม่ซับซ้อน ยุ่งยาก ทั้งยังสามารถให้ความเป็นธรรมให้แก่ทั้ง 2 ฝ่ายได้ดีกว่าดำเนินการแบบที่เป็นอยู่

แล้วต้องโต้แย้งกันไปมาทำให้ประชาชนเกิดความระแวงสงสัยในกระบวนการยุติธรรมว่าสุดท้ายมันจะกลายเป็นการกลั่นแกล้งกันหรือไม่ หากจะดำเนินการยึดทรัพย์ก่อนที่ศาลจะพิพากษาให้จำเลยมีความผิด

อีกทั้งในระยะยาวหากปล่อยให้เกิดการดำเนินการลักษณะนี้ได้จะกลายเป็นบรรทัดฐานต่อการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาลในอนาคต ที่จะไม่กล้าดำเนินนโยบายหรือโครงการอะไรเพราะกลัวต้องเจอการยึดทรัพย์แบบนี้

ซึ่งสุดท้ายแล้วคนที่เสียประโยชน์ก็คือประชาชนไทยเองที่เลือกพรรคการเมืองจากนโยบายที่หาเสียงไว้ ก็จะไม่ได้อะไรเลย

3. พัฒนะ เรือนใจดี

นิติศาสตร์ ม.รามคำแหง

กรณียึดทรัพย์จำนำข้าวที่รัฐบาลมองว่ายึดได้ทันทีโดยไม่ต้องรอศาลปกครองวินิจฉัยคำขอทุเลาคำสั่งทางปกครองนั้น ทางปกครองถือว่าเป็นอำนาจของฝ่ายบริหารที่จะดำเนินการได้

แต่เวลาที่ฝ่ายบริหารดำเนินการหากผู้ได้รับผลกระทบเห็นว่าเป็นการดำเนินการที่ไม่ถูกต้องก็สามารถร้องขอคุ้มครองได้ เหมือนคำสั่งปลดออกหรือไล่ออก เราจะมาขอความคุ้มครองไม่ให้เขาไม่ปลดออก ไม่ให้ไล่ออกไม่ได้ ก็ให้เขามีคำสั่งออกมาเลย จากนั้นก็เอาคำสั่งนั้นมายื่นคำขอ

เช่น กรณีการสั่งยึดทรัพย์ไปขอให้ศาลคุ้มครองว่ากรณีที่เกิดขึ้นมีความจำเป็น เพราะว่าคดีอาญาของนักการเมืองที่ศาลยังไม่ยุติ คือฝ่ายบริหารสามารถเดินหน้าได้ตามพ.ร.บ.รับผิดทางละเมิด

ส่วนที่อดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์มองว่าไม่เป็นธรรมก็เป็นเรื่องของฝ่ายผู้ร้องที่จะอ้างแบบนั้น แต่ทั้งหมดอยู่ที่ศาลเราก็ชี้แจงไปยังศาล 2 ประการ คือ 1.คดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองยังไม่ได้ชี้ขาด

และ 2.ความเดือดร้อนจากการยึดทรัพย์จะส่งผลให้ฝ่ายผู้ถูกอายัดทรัพย์ได้รับความเดือดร้อนในการดำรงชีพอย่างไร แล้วทรัพย์ที่มีอยู่จะเพียงพอหรือไม่ จะมีความเสียหายอะไรบ้าง

เป็นเรื่องที่จะแสดงให้ศาลเห็นได้ว่ามีความเดือดร้อนอยู่ แต่ทางฝ่ายปกครองหรือฝ่ายบริหารเขาก็เดินหน้าของเขา

ส่วนตามข้อกฎหมายศาลต้องมีคำสั่งออกมาก่อนหรือไม่นั้นคงไม่จำเป็น เพราะ น.ส.ยิ่งลักษณ์ และ นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีตรมว.พาณิชย์ สามารถขอให้คุ้มครองได้ หากศาลปกครองชั้นต้นไม่เห็นด้วยก็ยังอุทธรณ์ต่อศาลสูงได้อีก

ส่วนกรณีนายวิษณุระบุว่าหากศาลสั่งยึดทรัพย์แล้วภายหลังศาลสั่งคุ้มครองก็ไม่จำเป็นต้องคืนทรัพย์สินที่ยึดไปก่อนหน้านั้น เป็นเรื่องที่พูดยาก แต่ส่วนตัวคิดว่าส่วนนี้จะอยู่ที่ศาล คืนหรือไม่คืนอยู่ที่ฝ่ายผู้ร้องได้ชี้แจงไปยังศาล ต้องดูคำวินิจฉัยของศาลว่าคุ้มครองกี่ประเภท

ในกรณีของ นายวิษณุอาจถูกเพียงแค่ครึ่งเดียว คือศาลไม่ได้ระบุว่ามีรายการไหนบ้างที่จะให้คืน และอะไรบ้างที่ไม่ให้คืน ซึ่งตรงนี้ทำให้ฝ่ายปกครองจะยึดไว้ แต่ถ้าเขาขอไปทั้งหมดแล้วศาลคุ้มครองทั้งหมด ในกรณีนี้ต้องคืน

จึงขึ้นอยู่กับเนื้อหาในคำขอของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ และนายบุญทรง ว่าขออะไรไปบ้าง หากขอไปทั้งหมดแล้วศาลคุ้มครองทั้งหมดแบบนี้ต้องคืน เป็นเรื่องของรายละเอียดในการขอ

ชำนาญ จันทร์เรือง

นักกฎหมายมหาชน

กระบวนการดำเนินมาตรการยึดทรัพย์สินในกรณีของโครงการรับจำนำข้าว เริ่มต้นจากคณะกรรมการตรวจสอบชี้ว่า โครงการนี้ก่อให้เกิดความเสียหายตามตัวเลขที่ระบุ ต้องใช้มาตรการทางการปกครอง

จึงนำไปสู่การลงนามโดยบุคคลของรัฐบาลเพื่อสั่งให้มีการยึดทรัพย์บุคคลที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินนโยบายจำนำข้าว เพื่อนำไปขายทอดตลาดให้ได้มูลค่าตามที่เรียกร้องค่าเสียหายไป

ขณะเดียวกัน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ที่ตกเป็นจำเลยก็ยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง พร้อมทั้งขอคุ้มครองชั่วคราวไม่ให้มีการยึดทรัพย์ ขณะที่นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ ที่ถูกคดียึดทรัพย์เช่นกัน ศาลไม่ได้มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวเนื่องจากยังไม่เกิดการยึด หรืออายัดทรัพย์เกิดขึ้น

ปัญหาคือกรณีการยึดทรัพย์จำนวนมากขนาดระดับพันล้านหมื่นล้านนี้ไม่เคยเกิดขึ้น เจ้าหน้าที่จึงไม่มีประสบการณ์ในการปฏิบัติ ซึ่งผู้รับผิดชอบคือเจ้าหน้าที่ของกระทรวงพาณิชย์และกระทรวงการคลัง เพราะอยู่ในฐานะของผู้เสียหายโดยตรง แต่รัฐบาลก็เลือกใช้มาตรา 44 ให้กรมบังคับคดีดำเนินการ จึงทำให้ปัญหามีความซับซ้อนมากขึ้นไปอีก

เนื่องจากกรมบังคับคดีจะดำเนินการยึดทรัพย์หรืออายัดทรัพย์ก็ต่อเมื่อศาลยุติธรรมมีคำพิพากษาถึงที่สุด แต่กรณีนี้ยังไม่มี แล้วก็มีคำร้องไปอยู่ที่ศาลปกครองอีกช่องทางหนึ่ง

โดยที่สำนักงานศาลปกครองเองก็มีหน่วยงานบังคับคดีเฉพาะของตัวเอง หากศาลปกครองมีคำสั่งออกมาทางใดทางหนึ่งก็อาจจะเกิดปัญหาว่า ใครต้องดำเนินการ

กรณีดังกล่าวคือหนังเรื่องยาวที่ต้องรอดูคำพิพากษาศาลเป็นสำคัญ ส่วนตัวเชื่อว่าคำร้องให้ยึดทรัพย์จะยกฟ้องในที่สุด ส่วนคดีอาญาก็ไม่น่าโดน เพราะโครงการจำนำข้าวคือการดำเนินนโยบายบริหารราชการแผ่นดินตามที่พรรคการเมืองหาเสียงไว้

โครงการดังกล่าวคือมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร ไม่ได้มุ่งหวังเรื่องกำไรขาดทุน เหมือนการดำเนินการโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ

การดำเนินการยึดทรัพย์มองเป็นอย่างอื่นไม่ได้ คือการเมืองร้อยเปอร์เซ็นต์ มาตรา 44 ที่นำมาใช้ก็เน้นไปที่การคุ้มครองเจ้าหน้าที่ที่ต้องมาดำเนินการ ซึ่งมีความเสี่ยงถูกฟ้องร้องหลายด้านมากภายหลังมาตรา 44 หมดลง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน