จารึกพระสุพรรณบัฏ แกะพระราชลัญจกร : คอลัมน์รู้ไปโม้ด

จารึกพระสุพรรณบัฏ แกะพระราชลัญจกร – พระราชพิธีบรมราชาภิเษก มีการจารึกพระสุพรรณบัฏและพระราชลัญจกรเป็นอย่างไรคะ

สมกมล

ตอบ สมกมล

คณะกรรมการฝ่ายประชาสัมพันธ์งานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เผยแพร่ความรู้ ดังนี้

การจารึกพระสุพรรณบัฏ ดวงพระบรมราชสมภพ และแกะพระราชลัญจกรประจำรัชกาล ต้องกระทำตามฤกษ์ในตอนเย็นหรือค่ำก่อนถึงวันพระฤกษ์ พระสงฆ์จะเจริญพระพุทธมนต์ และโหรหลวงสวดบูชาเทวดาในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม

รุ่งขึ้นตอนเช้าเมื่อพระสงฆ์รับพระราชทานฉันแล้ว พระราชวงศ์ที่ทรงเป็นประธานทรงจุดเทียนเครื่องนมัสการ ทรงศีล ผู้ที่จะจารึกและแกะพระราชลัญจกรนุ่งขาว สวมเสื้อขาว และมีผ้าขาวเฉวียงบ่า รับศีล เวลาใกล้พระฤกษ์ประธานทรงจุดเทียนเงินเทียนทอง ผู้ที่จะจารึกและช่างนมัสการพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร บ่ายหน้าไปกราบถวายบังคมสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว แล้วคล้องสายสิญจน์หันหน้าสู่มงคลทิศ

จารึกพระสุพรรณบัฏ จารึกพระสุพรรณบัฏ จารึกพระสุพรรณบัฏ

ครั้นได้พระฤกษ์โหรหลวงลั่นฆ้องชัยให้สัญญาณ ลงมือจารึกและแกะพระราชลัญจกร พระสงฆ์สวดชัยมงคลคาถา พราหมณ์เป่าสังข์ เจ้าพนักงานประโคมแตรสังข์และพิณพาทย์ขณะจารึกและแกะพระราชลัญจกร เมื่อเสร็จแล้วพราหมณ์หลั่งน้ำสังข์และเจิมทั้งแผ่นพระสุพรรณบัฏ ดวงพระบรมราชสมภพ และพระราชลัญจกร

พระสุพรรณบัฏจารึกพระปรมาภิไธยเป็นแผ่นทองคำ มีขนาดกว้างยาวพอที่จะจารึกพระปรมาภิไธยได้ เช่น ในสมัยรัชกาลที่ 6 พระสุพรรณบัฏกว้าง 7 นิ้ว ยาว 14 นิ้ว พระสุพรรณบัฏนี้จะต้องทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายพระมหากษัตริย์ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก โหรหลวงจึงต้องกำหนดพระฤกษ์อันเป็นมงคลสำหรับการจารึกก่อนการพระราชพิธี

พิธีจารึกกระทำที่พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม มีการเจริญพระพุทธมนต์และการบูชาเทวดาในตอนเย็นก่อนถึงวันพระฤกษ์ รุ่งขึ้นถวายภัตตาหารแก่พระสงฆ์ อาลักษณ์ผู้ทำหน้าที่จารึกนุ่งขาว สวมเสื้อขาว มีผ้าขาวเฉวียงบ่า รับศีล นมัสการพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรและกราบถวายบังคมไปทางสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก่อนการจารึก ขณะจารึกพระสงฆ์สวดชัยมงคลคาถา พราหมณ์เป่าสังข์ เจ้าพนักงานประโคมแตรสังข์และพิณพาทย์

เมื่อจารึกเสร็จพราหมณ์หลั่งน้ำสังข์และเจิมพระสุพรรณบัฏ ม้วนแล้วพันด้วยไหมเบญจพรรณและพันด้วยแพรแดงอีกชั้นหนึ่ง บรรจุในพระกรัณฑ์ (พระกะรัน) ทองคำลงยาราชาวดี ก่อนจะเวียนเทียนสมโภชต่อไป

พระปรมาภิไธยที่จารึกลงในพระสุพรรณบัฏ แต่เดิมมาเป็นพระปรมาภิไธยที่มีความยาวหลายบรรทัด ใช้คำศัพท์ภาษาบาลีและสันสกฤตที่ผูกขึ้นอย่างประณีตให้ได้เสียงที่ไพเราะ สื่อความถึงพระคุณวิเศษและสายราชสกุลของพระมหากษัตริย์พระองค์นั้น พระปรมาภิไธยในพระสุพรรณบัฏของรัชกาลที่ 1 ถึงรัชกาลที่ 3 เป็นอย่างเดียวกัน

คือ ขึ้นต้นว่าพระบาทสมเด็จพระบรมราชาธิราชรามาธิบดี” (พระบาดสมเด็ดพระบอรมมะราชาทิราดรามาทิบอดี) และลงท้ายด้วยบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัว” (บอรมมะบอพิดพระพุดทะเจ้าหยู่หัว) ต่อมาตั้งแต่รัชกาลที่ 4 เปลี่ยนเป็นขึ้นต้นด้วยพระบาทสมเด็จพระปรมินทร” (พระบาดสมเด็ดพระปอระมิน) หรือพระบาทสมเด็จพระปรเมนทร” (พระบาดสมเด็ดพระปอระเมน)

ในสมัยรัชกาลที่ 9 พระปรมาภิไธยที่จารึกในพระสุพรรณบัฏปรากฏดังนี้พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร” (พระบาดสมเด็ดพระปอระมินทระมะหาพูมิพนอะดุนยะเดด มะหิดตะลาทิเบดรามาทิบอดี จักกรีนะรึบอดิน สะหยามินทราทิราด บอรมมะนาดบอพิด)

พระราชลัญจกรประจำรัชกาล คือดวงตาสำหรับประทับกำกับพระปรมาภิไธยของพระมหากษัตริย์ในเอกสารราชการแผ่นดิน เช่น รัฐธรรมนูญ พระราชบัญญัติ พระราชกำหนด พระราชกฤษฎีกา พระราชลัญจกรทำด้วยงาช้างเป็นรูปวงกลม กลางวงกลมแกะเป็นรูปครุฑ รอบขอบภายในจารึกพระปรมาภิไธย

พระราชลัญจกรเป็นเครื่องมงคลที่แสดงพระบรมราชอิสริยยศและพระบรมเดชานุภาพของพระมหากษัตริย์ ก่อนพระราชพิธีบรมราชาภิเษกจะมีพระราชพิธีจารึกพระสุพรรณบัฏพระปรมาภิไธย ดวงพระบรมราชสมภพ และแกะพระราชลัญจกรประจำรัชกาลตามพระฤกษ์ที่โหรหลวงคำนวณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม

เมื่อจารึกแล้วอัญเชิญประดิษฐานบนธรรมาสน์ศิลา เบื้องหน้าพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร พราหมณ์เบิกแว่นฟ้าเวียนเทียนสมโภช 3 รอบ และพักไว้ในพระอุโบสถ ครั้นถึงวันเริ่มการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกจึงตั้งขบวนแห่เชิญไปตั้ง มณฑลพระราชพิธีในพระที่นั่งไพศาลทักษิณ

[email protected]

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน