คอลัมน์ รายงานพิเศษ

หลังกลุ่มต่อต้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน จ.กระบี่ บุกประท้วงหน้าทำเนียบรัฐบาล และทำท่าจะบานปลาย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จึงสั่งชะลอโครงการไว้ก่อน

พร้อมให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เริ่มต้นกระบวนการศึกษารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) และผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (อีเอชไอเอ) ใหม่ เน้นให้ประชาชนมีส่วนร่วมด้วย

ศศิน เฉลิมลาภ

ประธานมูลนิธิสืบ นาคะเสถียร

การที่รัฐบาลดำเนินการดังกล่าวเป็นการหาทางออกอย่างสันติวิธีและเพื่อป้องกันไม่ให้มีความขัดแย้งที่อาจนำไปสู่การเผชิญหน้ารุนแรงระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐและประชาชน

ขณะนี้รายงานทั้ง 2 ฉบับยังไม่ผ่าน เมื่อไม่ผ่านรัฐก็ควรกลับไปทบทวนหรือหาพลังงานทดแทนอย่างอื่นที่ประชาชนยอมรับได้

ไม่อยากให้คำตอบว่าควรยุติหรือควรชะลอโครงการดังกล่าวไว้ เพราะเข้าใจในเหตุผลของทั้ง 2 ฝ่าย แต่สุดท้ายอยากให้หาข้อยุติที่เหมาะสม ในเมื่อรัฐต้องการไฟเพิ่มก็ควรศึกษาพลังงานทดแทนอย่างอื่นที่ไม่กระทบสิ่งแวดล้อมและชุมชนโดยรอบ

อีกทั้งที่ตั้งโรงไฟฟ้าเทพา จ.สงขลาก็ไม่มีความเหมาะสม เพราะตั้งอยู่ใจกลางชุมชน ชุมชนต้องย้ายออกจำนวนมาก ขณะที่กระบี่ถือเป็นแหล่งท่องเที่ยว ไม่ควรให้กระทบในพื้นที่

สิ่งที่รัฐควรทำคือ ศึกษาหาค่าน้ำหนักทางวิชาการ ทั้งระบบนิเวศ ผลกระทบด้านสุขภาพ ความคุ้มค่า เป็นต้น

หากมีการจัดเวทีสาธารณะที่เป็นกลาง ควรเป็นสถาบันการศึกษา มหาวิทยาลัยที่มีความเชี่ยวชาญในด้านนี้โดยตรง เพื่อให้ประชาชนทั่วไปซึ่งเป็นผู้ใช้พลังงานไฟฟ้าได้ทราบข้อมูลอย่างรอบด้าน

อย่างน้อยให้ครอบคลุมใน 4 เรื่อง คือ 1.การพิจารณาถึงความสอดคล้อง กับเป้าหมาย เป้า ประสงค์ และตัวชี้วัดเรื่องเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนที่ประเทศไทยมีข้อผูกพันทางการเมืองในการมุ่งมั่นดำเนินการให้บรรลุผลตั้งแต่ปี 2558

2.การพิจารณาถึงความสอดคล้องกับพันธสัญญาภายใต้ความตกลงปารีส ที่ประเทศไทยได้ตั้งเป้าหมายการลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก ร้อยละ 20-25 จากอัตราการปล่อยปกติให้ได้ภายในปี 2573 และต้องมีการทบทวนเป้าหมายดังกล่าวให้มีระดับก้าวหน้าขึ้นทุกๆ 5 ปีนับตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นไป

3.การพิจารณาถึงเป้าหมายความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศทั้งในระยะสั้น และระยะยาว

และ 4.การพิจารณาถึงทางเลือกของการจัดหาพลังงานอย่างรอบด้าน ทั้งที่เป็นพลังงานฟอสซิล พลังงานหมุนเวียน โดยมีการศึกษาวิเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับต้นทุนโดยรวมของแต่ละทางเลือก ทั้งที่เป็นต้นทุนด้านเศรษฐกิจ ด้านสิ่งแวดล้อม ด้านสังคม และด้านสุขภาพ

พร้อมจัดทำรายงานสรุปผลการจัดเวทีสาธารณะเสนอต่อรัฐบาลและเผยแพร่ต่อสาธารณชน ให้เป็นตัวอย่างของการจัดการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งร่วมกันอย่างสร้างสรรค์ หาทางออกโดยสันติวิธี

การที่รัฐและประชาชนขัดแย้งในกรณีทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมาโดยตลอดนั้น เป็นเรื่องที่ปกติมากและเป็นเรื่องที่ดี เพราะทั้ง 2 ฝ่ายต่างหวังดีกับประเทศ ฝ่ายรัฐต้องการพัฒนาประเทศ ขณะที่ประชาชนก็เป็นห่วงสิ่งแวดล้อม ทุกโครงการของรัฐย่อมมีผลกระทบที่ดีและไม่ดีต่อภาคประชาชน และทุกภาคส่วน

แต่หากไม่ดีก็ควรหาทางออกที่ดีและเหมาะสมกว่านี้ ถือเป็นการศึกษาทบทวนที่รอบคอบและรอบด้านกว่าที่ผ่านๆ มา

เดชรัตน์ สุขกำเนิด

คณะเศรษฐศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์

สถานการณ์ ผู้ชุมนุมต่อต้าน การสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน จ.กระบี่ ขณะนี้คลี่คลาย ไประดับหนึ่ง เจ้าหน้าที่รัฐกับ ผู้ชุมนุมสามารถหาข้อตกลงเบื้องต้นร่วมกันได้ แต่ยังไม่แน่ใจเรื่องความหมายของข้อตกลงที่ว่า จะไปดำเนินการศึกษาอีไอเอและอีเอชไอเอใหม่ จากทางฝั่งรัฐบาลคืออย่างไร

ฝ่ายผู้ชุมนุมเข้าใจเนื้อหาดังกล่าวว่า กระบวนการศึกษาผลกระทบในด้านต่างๆ จะต้องกลับไปเริ่มกันใหม่ตั้งแต่ต้น แต่มีบางฝ่ายตีความว่า รัฐบาลหมายถึงว่า จะทบทวนรายงานผลการศึกษาทั้งสอง ด้านอีกครั้ง หรืออาจจะทำการศึกษา เพิ่มเติม

ซึ่งไม่ได้หมายถึงการเริ่มกระบวนการใหม่ทั้งหมด ตามที่ฝ่ายต่อต้านเข้าใจ

หากผลออกมาเป็นไปตามที่เข้าใจกัน คือ กระบวนการทุกอย่างจะต้องกลับไปเริ่มนับหนึ่งอีกครั้ง ก็จะพัฒนาไปสู่กลไกต่อไป ที่ฝ่ายคัดค้านและรัฐบาลจะมีการทำงานร่วมกัน

แต่หากผลออกมาว่า เป็นเพียงการปรับปรุงหรือทบทวน ผลการศึกษาอีไอเอและอีเอชไอเอไม่ตรงกับความเข้าใจของผู้ชุมนุม เชื่อว่าจะกลายเป็นเรื่องยาวที่ต้องติดตามกัน ต่อไป เพราะไม่เป็นไปตามข้อเรียกร้อง

สำหรับมาตรการที่ภาครัฐนำมาใช้กับการชุมนุมนั้น ทำให้บรรยากาศที่ออกมาเกินกว่าความเป็นจริงของสภาพการชุมนุมที่เกิดขึ้น มีการใช้ทั้ง เจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจ สร้างเงื่อนไขที่ไม่จำเป็นอย่างเรื่องห้องน้ำ ที่ส่งผลให้ผู้ชุมนุมต้องมาสร้างใช้กันเอง

ทั้งที่สถานการณ์การชุมนุม ไม่มีจุดไหนที่เข้าข่ายการละเมิด หรือก่อความรุนแรง จนเจ้าหน้าที่ต้องเข้าจับกุมแกนนำที่แสดงออกคัดค้านเลย

ดังนั้น สิ่งที่รัฐบาลควรดำเนินการคือ กลับไปเริ่มกระบวนการใหม่ทั้งหมด ไม่ใช่การปรับปรุง และ ควรกลับไปปัดฝุ่นคณะกรรมการไตรภาคี ของเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา

ซึ่งประกอบไปด้วยผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกภาคส่วน รวมถึงชาวบ้านในพื้นที่ที่จะได้รับผลกระทบจากโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน แต่ต้องถูกยกเลิกไปทั้งที่ยังไม่ได้ บทสรุป เพราะโครงการดังกล่าวมุ่งหาทางออก ด้วยการพูดคุยกันในสองประเด็นที่สำคัญคือ

1.ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากโรงฟ้าฟ้าถ่านหิน และ 2.การใช้พลังงานหมุนเวียน เพื่อมาทดแทนโรงไฟฟ้าถ่านหิน

หากศึกษาเรื่องพลังงานหมุนเวียน ที่สามารถทดแทนพลังงานไฟฟ้าจากถ่านหินได้ จะทำให้ได้ทางออกจากพลังงานอื่นมาทดแทน โดยไม่ต้องสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินที่จะมีผลกระทบอื่นๆ ตามมา

จินตนา แก้วขาว

ประธานกลุ่มอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมบ้านกรูด จ.ประจวบคีรีขันธ์

การที่พล.อ.ประยุทธ์ สั่งการให้กระทรวงพลังงาน แจ้งกฟผ.ให้ปรับปรุงอีไอเอและอีเอชไอเอ การก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ให้มีความชัดเจนในทุกประเด็นนั้น ไม่ได้เป็นการถอยของรัฐบาล

แต่เป็นเพราะสถานการณ์ทางการเมืองที่กดดันรัฐบาลรอบด้านทำให้ต้องเลือกที่จะหยุดเรื่องโรงไฟฟ้ากระบี่เอาไว้ก่อน

จากประสบการณ์การต่อสู้เรื่องโรงไฟฟ้าถ่านหินที่บ้านกรูด พบว่าการถอยเรื่องอีไอเอ กับอีเอชไอเอ นั้น เป็นเพียงการชะลอกระแส เพราะท้ายที่สุดธงในการก่อสร้างโรงไฟฟ้ายังคงเดิม ลักษณะเช่นนี้เป็นเพียงการสงบศึกชั่วคราว ไม่ได้ยกเลิก

ทั้งนี้การที่พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ให้สัมภาษณ์ยืนยันว่าไม่ได้เป็นการถอย แสดงให้เห็นได้ว่ารัฐบาลมีธงในการสร้างที่ชัดเจน

สิ่งที่รัฐบาลต้องระบุให้ชาวบ้านรู้ก่อนเลย คือ จะสร้างหรือไม่สร้างโรงไฟฟ้า ถ้าสร้างชาวบ้านไม่เห็นด้วยตรงไหน ก็ต้องหารือแลกเปลี่ยนกันให้จบก่อน

เพราะหากให้มีการสำรวจความคิดเห็นตามกรอบกฎหมาย สุดท้ายแล้วการทำรายงานอีไอเอ และอีเอชไอเอ จะเป็นไปตามธงที่ทางรัฐบาลตั้งไว้ และจะทำรายงานที่มาสนับสนุนให้เหตุผลในการสร้างมีความชอบธรรม

ในทุกๆ โครงการพัฒนาทุกพื้นที่ของประเทศไทย รายงานสำรวจความคิดเห็นของคนในพื้นที่มักเป็น เช่นนี้ ทำให้ไม่ได้รับการยอมรับจากกลุ่มที่คัดค้านโครงการพัฒนา

ช่วงนี้ถือเป็นช่วงรอยต่อระหว่างรอการศึกษา แต่เชื่อว่ารัฐยังเดินเกมที่จะเดินหน้าสร้างต่อไป ในช่วงเวลาเช่นนี้ถือเป็นช่วงที่แกนนำ และชาวบ้านต้องระวังเนื่องจากอาจมีการใช้อำนาจมืดทำให้สูญเสียกำลังใจในการเคลื่อนไหว

และในช่วงที่กำลังรอการศึกษาใหม่นี้ กลุ่มที่มาศึกษาก็มาจากการคัดเลือกของรัฐบาล ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องและเชื่อมโยงกับชาวบ้านที่คัดค้านเลย คำถามจึงเกิดขึ้นว่าจะมีความเป็นไปได้ไหมที่จะให้นักวิชาการที่ชาวบ้านยอมรับมาทำการศึกษา

ส่วนเรื่องตั้งเวทีกลางพูดคุยระหว่างกลุ่มเห็นด้วย กับกลุ่มคัดค้านนั้น มองว่าไม่เกิดประโยชน์ เพราะเวทีในลักษณะเช่นนี้ ชาวบ้านกลุ่มคัดค้านมักเข้าไม่ถึง และไม่ได้แสดงออกอย่างทั่วถึง

เรื่องนี้จะมีส่วนกระทบกับการปรองดองที่รัฐบาลกำลังดำเนินการอยู่แน่นอน และการที่จะปรองดองนั้นรัฐบาลต้องถอดทุกเรื่องที่จะนำไปสู่ความขัดแย้ง

โดยเฉพาะโรงไฟฟ้าไม่ต้องเร่งดำเนินการ เพราะเรื่องพลังงานมีทางเลือกตั้งเยอะที่ให้รัฐบาลเลือก

นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ

อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.)

รัฐบาลต้องเข้าใจคำว่าสิทธิการมีส่วนร่วมของประชาชน

สิ่งที่ผู้ชุมนุมคัดค้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้า มาปักหลักชุมนุมทั้งที่บริเวณทำเนียบรัฐบาลหรือในพื้นที่ รวมทั้งข้อเสนอจากกลุ่มนักวิชาการต่างๆ นั้น เพราะเขาแสดงถึงการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจเชิงนโยบาย ทั้งเรื่องการพัฒนาพลังงานที่จ.กระบี่ และที่เทพา จ.สงขลา

ถ้ารัฐบาลเข้าใจจุดนี้ก็จะไม่พูดถึงพ.ร.บ.การชุมนุมหรือไม่พูดว่าประชาชนเหล่านี้มาชุมนุมกระทบต่อความมั่นคง หรือไม่พูดว่าคนเหล่านี้คัดค้านการทำงานของรัฐบาล เพราะทั้งหมดคือความเห็นที่แตกต่างของประชาชน

ส่วนสาเหตุที่ประชาชนออกมาเรียกร้องเพราะเขารู้ดี เขาอยู่ในพื้นที่ จ.กระบี่ หรือ 14 จังหวัดภาคใต้สามารถพัฒนาพลังงานทางเลือกหรือทดแทนได้อย่างพอใช้ โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งพลังงานไฟฟ้าจากถ่านหิน ซึ่งทั่วโลกก็มีประกาศเลิกใช้พลังงานจากถ่านหินและมาใช้พลังงานทดแทน

ความพยายามที่จะบอกว่าการลงทุนด้วยพลังงานทดแทนต้องใช้งบประมาณสูงนั้นก็ใช้ไม่ได้อีก เพราะในจ.กระบี่ มีการทำพลังงานไฟฟ้าชีวมวล แต่ปัญหาคือกฟผ.ไม่รับซื้อ หรือรัฐไม่เข้าไปสนับสนุนในเรื่องการผลิตพลังงานทดแทน

ข้อมูลต่างๆ รัฐบาลต้องฟังเสียงจากนักวิชาการ ภาคประชาชนในพื้นที่ เพราะสิ่งที่เขากังวลคือการพัฒนาพลังงานที่ใช้ถ่านหินหรือฟอสซิล จะทำลายอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว เศรษฐกิจ พอเพียง ภาคการเกษตร และความเป็นอยู่ของคนในพื้นที่ ที่ต้องเผชิญกับมลภาวะต่างๆ

รัฐบาลต้องคิดด้วยความรอบคอบอย่าไปคิดว่าถ่านหินถูกกว่าอย่างอื่น

มองว่าเป็นเรื่องดีที่รัฐบาลกลับมาทบทวนเรื่องการทำอีไอเอและอีเอชไอเอ เพราะเป็นกระบวนการงานวิจัยองค์ความรู้ แต่ที่สำคัญคือว่ากระบวนการทำต้องเน้นการมีส่วนร่วมของประชาชน

ส่วนที่มีข้อเสนอให้ตั้งเวทีสาธารณะที่เป็นกลางเพื่อให้ทั้งฝ่ายหนุนและต้านถกแถลงเหตุผลนั้น มองว่าเป็นข้อเสนอที่ดีเพียง แต่ต้องทำให้เป็น ถ้าทำไม่เป็นจะกลายเป็นเวทีที่เผชิญหน้ากันระหว่างคนที่เห็นด้วยและคนไม่เห็นด้วย

การทำให้เป็นหมายความว่าต้องเลือกหัวข้อที่จะพูดคุยกัน ให้ดี หากเลือกหัวข้อว่าตกลงจะเอาหรือไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหิน รับรองว่าตีกันแน่นอน จะทะเลาะกันตั้งแต่เวทีแรกเลย ต้องเลือกหัวข้อแบบอื่น เป็นหัวข้อที่นำไปสู่การตอบโจทย์ใน ภายหลังได้

ส่วนการพูดคุยกันต้องเป็นแบบถกแถลงมีเหตุผล ไม่ใช่การ ถกเถียง และต้องเลือกคนที่มีส่วนได้ส่วนเสีย เน้นคนที่จะมาคุยในข้อมูลและเนื้อหา ไม่ใช่คนที่มาตั้งเป้าว่าจะเอาหรือไม่เอา โรงไฟฟ้าถ่านหิน

ถ้าทำตามกระบวนการคือเลือกหัวข้อ เลือกกลุ่มเป้าหมายที่มาคุยอย่างชัดเจน จะเป็นการสลายขั้วของความขัดแย้งและทำให้เกิดความเข้าใจกันได้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน