สุจริตและเที่ยงธรรม

คอลัมน์ บทบรรณาธิการ

สุจริตและเที่ยงธรรม – อํานาจหน้าที่ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง ประกอบด้วย ประธานและกรรมการการเลือกตั้งที่สภาให้ความเห็นชอบทั้งหมด 7 คน

มีอำนาจหน้าที่ครอบคลุมทั้งด้านบริหาร คือการควบคุมและดำเนินการจัดให้มีการเลือกตั้ง ทั้งการเลือกตั้งระดับชาติ ระดับท้องถิ่น รวมทั้งการออกเสียงประชามติด้วย

ตุลาการ คือ การสืบสวนสอบสวนและวินิจฉัยชี้ขาด สั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่ นับคะแนนใหม่ รวมทั้งการสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง ผู้สมัครและสมาชิกสภาทุกระดับ ที่ทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง และนิติบัญญัติ คือ การออกกฎ ระเบียบ คำสั่ง ข้อกำหนดที่จำเป็นต่อการปฏิบัติงาน

เพื่อให้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม

การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไปในวันที่ 24 มีนาคมนี้ เป็นภารกิจสำคัญของคณะกรรมการการเลือกตั้ง จะต้องดำเนินการให้สำเร็จโดยยึดหลักกฎหมายอย่างเสมอภาค

นอกจากนี้ ยังจะต้องคำนึงถึงบทบาทในฐานะองค์กรอิสระอย่างแท้จริง ที่จะไม่อยู่ภายในอาณัติสัญญาณใดๆ ถูกแทรกแซง ปราศจากการชี้นำใดๆ จากองค์กรใดองค์กรหนึ่ง

หากไม่อาจอยู่บนพื้นฐานดังที่กล่าวมา การจัดการเลือกตั้งก็อาจจะประสบความล้มเหลว ไม่เป็นที่ยอมรับ ส่งผลเสียหายต่อประเทศชาติ และระบอบประชาธิปไตย

เข้าใจว่าคณะกรรมการการเลือกตั้งมีความตระหนักอยู่แล้ว

ตั้งแต่มีประกาศพระราชกฤษฎีกาการเลือกตั้ง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และประกาศกำหนดวันเลือกตั้ง มีเหตุการณ์ สถานการณ์ ตลอดจนคำร้องต่างๆ ที่คณะกรรมการการเลือกตั้งต้องทำหน้าที่ไต่สวนหรือวินิจฉัยอย่างเป็นธรรม

เนื่องจากมีการยื่นร้องเรียนให้พิจารณาสอบสวน ให้ยุบพรรคการเมือง และวินิจฉัยคุณสมบัติของผู้ได้รับเสนอชื่อของพรรคการเมืองให้เป็นนายกรัฐมนตรีอยู่หลายคำร้อง ต่างกรรมต่างวาระกันเป็นจำนวนไม่น้อย

บางเรื่องบางสำนวนปรากฏว่าสามารถดำเนินการได้อย่างรวดเร็ว จนนำไปสู่ขั้นตอนกระบวนการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญบ้าง เรียกไต่สวนบ้าง แต่บางเรื่องกลับเนิ่นช้าอย่างผิดสังเกต ทั้งๆ ที่องค์ประกอบและประเด็นที่ยื่นร้องไม่ได้มีความแตกต่างกันนัก

มีแต่การดำเนินการอย่างสุจริตเป็นธรรม และไม่เลือกปฏิบัติเท่านั้น จะทำให้ประชาชนมีความเชื่อมั่น

 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน