คอลัมน์ รายงานพิเศษ

ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพสำรวจความคิดเห็นประชาชน หัวข้อการ ประเมินผลงาน 2 ปี 6 เดือนของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

พบคะแนนลดลงทุกด้าน ทั้งคะแนนความพึงพอใจที่มีต่อการบริหารประเทศในด้านความมั่นคง ด้านการบริหารจัดการและการบังคับใช้กฎหมาย ด้านสังคมและคุณภาพชีวิต ด้านเศรษฐกิจ

หรือความพึงพอใจต่อการปฏิบัติหน้าที่นายกฯ ของ พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ว่าจะเป็นด้านความเด็ดขาด กล้าตัดสินใจ ความซื่อสัตย์สุจริต การรักษาผลประโยชน์ของชาติ การสร้างสรรค์ผลงานหรือโครงการใหม่ๆ

เป็นคะแนนที่ดิ่งลงทุกด้านผิดไปจากก่อนหน้านี้ สาเหตุเป็นเพราะอะไร

สุริชัย หวันแก้ว

ผอ.สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ที่รัฐบาลเคยได้รับความนิยมมาก่อนหน้านี้ อาจมาจากช่วงเวลานั้นคนยังเอือมสถานการณ์ที่เสี่ยงความรุนแรงและต้องการความสงบ พอทหารเข้ามาแล้วสถานการณ์ที่กำลังขัดแย้งก็คลี่คลายลง

ช่วงแรกอาจเรียกว่าเป็นสถานการณ์พิเศษ แต่หลังจากนั้นรัฐบาลมีเวลามากขึ้น ผ่านมา 2 ปีกว่าจะยังเรียกสถานการณ์พิเศษอยู่อีกหรือไม่ เพราะปัญหาที่แท้จริงที่สังคมไทยเผชิญมาตลอดทั้งเรื่องทรัพยากร ปากท้องชาวบ้าน หรือความเหลื่อมล้ำก็งอกออกมา

รวมทั้งปัญหาเศรษฐกิจโลก ปัญหาจึงมากขึ้นทวีคูณจนคนที่เคยนิยมรัฐบาลก็ประสบปัญหาพร้อมกันและพวกเขามองว่ารัฐบาลแก้ปัญหาไม่ตก

คำถามคืออะไรเป็นสาเหตุ หากมองไปที่หลายๆ นโยบายของรัฐบาลจะเห็นว่าผล กระทบที่ตกถึงชาวบ้านท้องถิ่นค่อนข้างเป็นไปในเชิงลบ ทั้งเรื่องโรงไฟฟ้าถ่านหิน การทำเหมือง การทวงคืนผืนป่า หรือแม้แต่การโยกย้ายราชการซึ่งมีการใช้กฎหมายเป็นหลัก โดยเฉพาะมาตรา 44 ซึ่งนับเป็นการรวมศูนย์อำนาจ ไม่ใช่การกระจายอำนาจ

ไม่แปลกใจที่ปฏิกิริยาของคนที่เคยนิยมรัฐบาลออกมาในลักษณะที่ลดความนิยมลง เพราะการแก้ปัญหาความขัดแย้งในระยะยาวไม่ใช่เรื่องความขัดแย้งทางการเมืองของขั้วต่างๆ เป็นหลัก แต่เป็นเรื่องการเข้าถึงทรัพยากรอย่างเท่าเทียม

ถามว่าที่ผ่านมารัฐบาลแก้ปัญหามาถูกทางหรือไม่ คงมองเฉพาะการยึดอำนาจไม่ได้เพราะเกิดขึ้นแล้ว แต่ควรมองไปข้างหน้าว่าการพัฒนาจะยั่งยืนและพอเพียงหรือไม่ การแก้ปัญหาของรัฐบาลถ้าจะนับว่าถูกทางก็ต้องฟังเสียงประชาชน แต่ข้อเท็จจริงไม่เป็นอย่างนั้น

การใช้มาตรา 44 ต้องพิจารณาใหม่ เพราะการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำใช้อำนาจเป็นหลักไม่ได้ การ ปฏิรูปจริงๆ ไม่อาจเกิดขึ้น ถ้ารัฐบาลไม่สร้างบรรยากาศให้เกิดกระบวนเรียนรู้ของชาวบ้าน

ประเด็นคือตอนนี้ไม่ใช่ความขัดแย้งของคู่การเมืองอย่างเดียวแล้ว ถ้าหากรัฐบาลไม่ฟังเสียงประชาชน นอกจากจะไม่เห็นอนาคตร่วมกันก็จะไม่มีทางเห็นภาพความสำเร็จของประเทศ เพราะสังคมไม่มีความหวังที่จะทำงานร่วมกัน แต่ถ้าเปิดพื้นที่ให้ทุกฝ่ายได้แสดงความเห็นจะเอื้อให้ทุกฝ่ายร่วมกันมองไปข้างหน้าได้

ที่สำคัญคนจำนวนมากยังมองความขัดแย้งการเมืองเป็นคนละเรื่องกับความขัดแย้งเรื่องทรัพยากร อันที่จริงเป็นเรื่องเดียวกัน

ความขัดแย้งระดับท้องถิ่นมีมานาน โดยเฉพาะชาวบ้าน ที่ถูกนายทุนขูดรีด สิ่งเหล่านี้ไม่ถูกหยิบขึ้นมาบนโต๊ะการเมืองระดับบน ต้องยอมรับว่า 12 ปีที่ผ่านมายังวนกันอยู่ในอ่าง ยังคุยกันเรื่องเดิมๆ

หากรัฐบาลเสนอยุทธศาสตร์ประเทศ 4.0 คำถามคือจะเชื่อมโยงกับเรื่องปากท้องชาวบ้านอย่างไร ที่สำคัญต้องคุยกันเรื่องกติกาการอยู่ร่วมกันให้ชัด

โจทย์สำคัญตอนนี้ สังคมกำลังเสี่ยงที่จะเผชิญอนาคตโดยไม่มีแนวทางการรับมือเพราะการเปลี่ยนแปลงของโลกมันแรง ถ้าสังคมไทยไม่มีประสิทธิภาพก็ค่อนข้างน่ากังวล

พลเมืองต้องเข้มแข็งมีฐานจิตสำนึกในประชาธิปไตย และช่วยกันสร้างความเป็นธรรมด้วย

วัลลภ วิตนากร

รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)

คะแนนนิยมของรัฐบาลลดลงเพราะอะไรไม่ขอประเมิน แต่ภาคเอกชน ติด ตามการทำงานของรัฐบาลมาตลอดเห็นว่าขณะนี้รัฐบาลพยายามผลักดันให้เกิดการลงทุนในประเทศต่อเนื่องเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ทั้งการพัฒนาด้านเทคโนโลยีนวัตกรรม การส่งเสริมอุตสาหกรรมเป้าหมาย

และยังออกกฎหมายอำนวยความสะดวกและรองรับการลงทุน ไม่ว่าจะเป็น พ.ร.บ.ส่งเสริมการลงทุน พ.ร.บ.พื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก พ.ร.บ.การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

เป้าหมายเพื่อพัฒนาประเทศไทยสู่ 4.0 ดึงดูดการลงทุน โดยเฉพาะการลงทุนที่ไม่เคยเกิดขึ้นในประเทศไทย เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า อากาศยานและหุ่นยนต์ เป็นต้น

ภาพรวมเศรษฐกิจอยู่ในช่วงเริ่มฟื้นตัว สิ่งที่รัฐบาลพยายามค่อนข้างมากคือการขับเคลื่อนนโยบายต่างๆ ให้เกิดผลต่อเศรษฐกิจอย่างเป็นรูปธรรม

โดยเฉพาะสิทธิประโยชน์ด้านการลงทุนเป็นการให้มากสุดเป็นประวัติ การณ์อย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เรียกได้ว่ารัฐบาลเทหมดหน้าตักแล้ว

แต่จะมีประเด็นที่ยังไม่เห็นผลเป็นรูปธรรมบ้าง เช่น การลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานที่พูดกันกว่า 2 ปีแล้ว แต่เข้าใจว่ารัฐบาลกำลังทำอย่างเต็มที่ เพราะกว่าจะผ่านขั้นตอนต่างๆ และเริ่มเห็นเม็ดเงินลงทุนจริงก็น่าจะเกิดขึ้นได้ภายในปีนี้ ทั้งโครงสร้างพื้นฐานที่อำนวยความสะดวกให้ประชาชน และรองรับการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ภาคเอกชนจึงมั่นใจว่าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยปีนี้จะเติบโตได้ 3.5-4%

ขณะที่ด้านการเมืองนั้น รัฐบาลพยายามสร้างความปรองดอง โดยวางรากฐานประเทศเพื่อไม่ให้เกิดการขัดแย้ง แม้ขณะนี้จะยังไม่สามารถทำให้เกิดการปรองดองได้สมบูรณ์แต่ถือเป็นรากฐานที่ดีสำหรับประเทศไทยในอนาคต

ถ้าให้คะแนนรัฐบาลชุดนี้ก็ให้ 8 คะแนนจากคะแนนเต็ม 10

วชิร คูณทวีเทพ

ผช.ผอ.ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ ม.หอการค้าไทย

ประชาชนจะพอใจหรือไม่พอใจการบริหารงานขึ้นอยู่กับประชาชน ได้รับความเดือดร้อนมากน้อยแค่ไหนอย่างไร เมื่อไรที่ประชาชนเดือดร้อนไม่ว่าจากสาเหตุอะไร สิ่งที่จะนึกถึงเสมอคือรัฐบาลหรือคนที่จะมาช่วย หากไม่เป็นอย่างที่คาดหวังไว้ความพอใจจะลดลงเป็นเรื่องปกติ

ความพอใจหรือไม่พอใจจึงเป็นเรื่องของทัศนะของแต่ละบุคคลว่าพอใจและชื่นชมในเรื่องใดมากกว่า และรัฐบาลสามารถตอบสนองได้ทันทีหรือไม่ทันที

คะแนนนิยมที่ลดลงนั้นอาจเกิดได้จากหลายเหตุและต้องดูว่าที่ลดลง เกี่ยวกับเรื่องอะไร ส่วนสาเหตุที่ทำให้คะแนนนิยมรัฐบาลลดลงในเกือบ ทุกด้านคงพูดลำบาก ถ้าวิเคราะห์แล้วก็เห็นว่ารัฐบาลทำตามขั้นตอนเป็น กระบวนการดี มีนโยบายออกมาผลักดันและขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ซึ่งช่วงหลังนี้ภาวะเศรษฐกิจของเราเริ่มมีสัญญาณที่ดีขึ้น

จึงไม่แน่ใจว่าสิ่งที่เป็นสาเหตุหลักอาจมาจากเรื่องการเมืองหรือไม่ การบริหารงานรัฐบาลคงมองอย่างครอบคลุม โดยเฉพาะเรื่องของกฎระเบียบ ที่จะไม่ทำให้เกิดผลเสียต่อประเทศ หรือแม้จะมีผลเสียบ้างแต่ในภาพรวมต้องให้เกิดประโยชน์กับประเทศและคนส่วนใหญ่มากกว่า

รัฐบาลชุดปัจจุบันระมัดระวังมากเรื่องขั้นตอนและกระบวนการต่างๆ เนื่องจากมีเรื่องกฎหมายกำหนดไว้ เพราะอดีตมีตัวอย่างเกิดขึ้นคือมีความรวดเร็วจนลืมมองข้ามกฎหมายและกฎระเบียบ ทำให้การบริหารจัดการเกิดความผิดพลาดได้

สิ่งที่รัฐบาลชุดนี้ให้ความสำคัญมากที่สุดตอนนี้เชื่อว่าเป็นเศรษฐกิจ เรื่องปากท้องของชาวบ้าน เห็นได้จากการพยายามผลักดันเรื่องการกระตุ้นเศรษฐกิจให้เกิดการขยายตัวให้ดีกว่าปีที่ผ่าน เพราะรัฐบาลรู้ดีว่าเมื่อไรเศรษฐกิจดีประชาชนจะใช้ชีวิตปกติ จึงกำลังปรับเรื่องนี้เร่งด่วน ทำเรื่องปราบคอร์รัปชั่นควบคู่กันไปด้วย

เป้าหมายการทำงานของแต่ละรัฐบาลแตกต่างกัน รัฐบาลชุดนี้ มีเป้าหมายบริหารงานที่มองในระยะยาว พยายามทำการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในการพัฒนาประเทศเพื่อจะเห็นผลระยะยาว ระยะสั้นอาจมองไม่เห็นผลเพราะจะเกิดผลในช่วงเวลา 5-7 ปี

หากเป็นรัฐบาลจากประชาชนคือทำให้ประชาชนพอใจมากที่สุด โดยผลักดันผลงานระยะสั้นออกมาก่อน ส่วนรัฐบาลเฉพาะกิจอาจ มองเป้าหมายในระยะยาวให้เกิดผลยั่งยืนมากที่สุด

ภาพรวมการบริหารงานของรัฐบาลนี้ส่วนตัวให้ผ่าน ถ้าได้คะแนน เต็มรัฐบาลคงไม่ต้องทำอะไรแล้ว และยังมีหลายอย่างที่รัฐบาลนี้ต้องทำ

ที่ให้ผ่านเพราะเห็นถึงการเปลี่ยนแปลงเรื่องการวางโครงสร้างในอนาคต ซึ่งเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ รวมทั้งการกระตุ้นเศรษฐกิจที่เห็นอยู่ว่าทำอะไรบ้าง

ส่วนแง่มุมของการบังคับใช้กฎหมายและการทุจริตนั้น คิดว่าด้วยความตั้งใจของรัฐบาลน่าจะผ่านเพราะรัฐบาลทำให้เห็นอยู่ว่าบังคับใช้กฎหมายหลายเรื่องและเริ่มเข้มงวดขึ้น ขณะที่บางเรื่องมีการผ่อนปรนบ้างตามสถานการณ์

สิ่งที่รัฐบาลจะต้องทำในอนาคตคือการบริหารความเสี่ยงจาก ปัจจัยอย่างใกล้ชิดที่เข้ามากระทบแล้วทำให้เศรษฐกิจของไทยดร็อปลงเพราะอาจไปส่งผลกระทบต่อปากท้องและวิถีชีวิตของคนมากขึ้น และเชื่อว่ารัฐบาลกำลังทำอยู่ในตอนนี้

สิงห์ชัย ทุ่งทอง

อดีตสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) อุทัยธานี

รัฐบาลชุดนี้ไม่ว่าผลงานที่ทำจะออกมาดีหรือไม่ดี โดยเฉพาะถ้าออกมาดีความน่าเชื่อถือแทบไม่มี เพราะความรู้สึกของประชาชนส่วนใหญ่มองว่าองคาพยพต่างๆ ในประเทศขณะนี้ถูกควบคุมโดยคสช.

ถือเป็นข้อเสีย เพราะที่ผ่านมาไม่ว่าจะเป็นโฆษกรัฐบาลหรือแม้แต่ผู้นำจะออกมาตอบโต้ต่อว่ากลุ่มที่เห็นตรงข้าม คนเลยมองว่าทุกอย่างที่เกิดขึ้นโดนควบคุมและมีการจัดการ

ต่อมาพอพูดถึงความจริงไม่ว่าจะเป็นเรื่องเศรษฐกิจ สังคม ต่างๆ ก็มีคนออกความคิดเห็นในทางที่ไม่มีบวก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องของธุรกิจ เราทำการค้ากับโลกเสรีมานาน รัฐบาลยิ่งอยู่ในอำนาจนานสิ่งที่ไม่ได้รับการยอมรับทำให้ทุกอย่างถูกตัดทอนไปเรื่อยๆ

อีกทั้งข่าวคราวที่ออก มาในช่วงนี้ ทั้งเรื่องของวัดพระธรรมกาย เรื่องคดีความต่างๆ ถือเป็นปัญหาทั้งสิ้น ยิ่งเป็นการกระตุ้นความรู้สึกในเรื่องของผลโพลที่ออกมาว่าไม่พอใจรัฐบาลมากขึ้น ซึ่งเป็นธรรมชาติที่ระบอบการปกครองของเราในขณะนี้เป็นแบบนี้ ผลย่อมออกมาแบบนี้เช่นกัน

ผู้ที่มาจากการปฏิวัติรัฐประหารต้องไม่อยู่ยาวเพราะจะเกิดปัญหา โดยเฉพาะเรื่องเศรษฐกิจสำคัญที่สุด ไม่ได้หมายความว่ารัฐบาลไม่มีความสามารถ แต่การที่เราไม่เป็นประชาธิปไตยยิ่งอยู่นานก็ยิ่งลดทอนความน่าเชื่อถือ ลดทอนประโยชน์ด้านต่างๆ ที่ประเทศควรจะได้รับ

อยากให้ผู้บริหารระดับแกนนำรัฐบาล ลดความแข็งกร้าว ลงเพราะไม่เกิดประโยชน์ และอะไรที่เป็นประเด็นที่ทำให้ประชาชนเกิดความวิตกกังวลก็พยายามอย่าให้เกิดประเด็น สิ่งเหล่านี้จะช่วยให้ทัศนคติของประชาชนที่มีต่อรัฐบาลดีขึ้นได้ ที่สำคัญคสช.ต้องลงจากอำนาจให้เร็วที่สุด

ถ้าต้องให้คะแนนรัฐบาลขอให้ 5 คะแนน ในเรื่องของความเชื่อมั่น เพราะอย่างน้อยก็เห็นถึงความตั้งใจ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน