หลังยุบพรรค

คอลัมน์ บทบรรณาธิการ

หลังยุบพรรค – ศาลรัฐธรรมนูญอ่านคำวินิจฉัยตามคำร้องของคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ให้ยุบ พรรคไทยรักษาชาติ ในข้อว่า “อาจ” มีการกระทำอันเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

รายละเอียดของคำวินิจฉัยคงจะมีผู้รู้ผู้เชี่ยวชาญทางด้านกฎหมายมาวิเคราะห์ต่อไป เพราะคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญครั้งนี้มีผลกระทบกว้างขวาง และจะต้องเป็นบรรทัดฐานในการพิจารณาคดีหรือคำร้องที่คล้ายคลึงกันต่อไปในอนาคต

แต่ประเด็นที่น่าสนใจก็คือ การวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญครั้งนี้

เป็นอีกครั้งหนึ่งที่ขยายบทบาทของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญออกไปอย่างกว้างขวาง

ในตอนหนึ่งของคำวินิจฉัย ระบุว่า แม้จะไม่มีข้อกฎหมายชี้ชัดเอาไว้ แต่ก็สามารถประมวลเอาจากพฤติกรรมของผู้ถูกกล่าวหา มาเทียบเคียงกับประเพณีการเมืองการปกครองมาพิจารณาได้

เป็นไปในทำนองเดียวกันกับการพิจารณาถอดถอนอดีตนายกรัฐมนตรีคนหนึ่งออกจากตำแหน่งโดยอ้างอิงจาก “พจนานุกรม” แทนการตีความตามข้อบัญญัติของรัฐธรรมนูญ

การขยายขอบเขตของอำนาจการวินิจฉัยออกไปอย่างกว้างขวางกว่ารัฐธรรมนูญ จะส่งผลให้สถานะของศาลรัฐธรรมนูญเป็นอย่างไรในอนาคตเป็นเรื่องที่จะต้องติดตามตรวจสอบกันต่อไป

เพราะไม่ว่าองค์กรใด ก็จะต้องผ่านประเมินคุณค่าและบทบาทจากสังคม

ประการต่อมา การขยายบทบาทจากองค์กรที่มีหน้าที่ตีความข้อขัดแย้งอันเกิดขึ้นจากรัฐธรรมนูญ มาเป็น “ผู้พิทักษ์” การปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

ย่อมทำให้เกิดคำถามตามมาด้วยว่า หากการปฏิบัติที่ “อาจ” เป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองเช่นนี้ยังมีความผิด

การกระทำที่ส่งผลรุนแรงยิ่งกว่า อาทิ การฉีกรัฐธรรมนูญด้วยการรัฐประหารโดยอำนาจนอกระบบจะมีความผิดสถานใด และองค์กรที่จะเป็นผู้พิทักษ์การปกครองในระบอบประชาธิปไตย ควรจะมีบทบาทหรือวางตัวในเรื่องนี้อย่างไร

เพราะกฎหมายจะศักดิ์สิทธิ์ได้ ก็ต่อเมื่อการใช้กฎหมายมีมาตรฐานเดียว

  • อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

ด่วน! ศาลรัฐธรรมนูญ มีมติ ‘ยุบพรรคไทยรักษาชาติ’ ตัดสิทธิกรรมการบริหาร 10 ปี!

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน