คอลัมน์ บทบรรณาธิการ

แนวคิดการจัดตั้งกรรมการตรวจโครงการใหญ่ของรัฐ ทั้งกระทรวง ทบวง กรม และรัฐวิสาหกิจให้เป็นเหมือนซูเปอร์บอร์ดนั้น เป็นความต้องการของรัฐบาลที่จะให้มีคณะดูแลเรื่องการจัดซื้อจัดจ้างโดยเฉพาะ เพื่อไม่ให้เกิดการทุจริต

ด้วยเหตุผลว่าโครงการลงทุนขนาดใหญ่ หรือเกิน 5,000 ล้านบาทขึ้นไป หากใส่ข้อมูลในข้อตกลงทีโออาร์ภายหลัง อาจเป็นช่องทางสำหรับการหาผลประโยชน์อันมิชอบ

สำหรับบุคคลที่จะเข้าร่วมคณะกรรมการชุดนี้ รัฐบาลระบุว่าจะมีผู้ที่มีความรู้เชี่ยวชาญจากภายนอกเข้ามาด้วย ระหว่างที่รอพ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้าง และการบริหารพัสดุภาครัฐมาบังคับใช้

คณะทำงานดังกล่าวจึงเป็นความหวังของรัฐบาลที่จะนำมาใช้เป็นกลไกป้องกันการคอร์รัปชั่น

จากข้อมูลของบุคคลในรัฐบาล คณะกรรมการชุดนี้นอกจากจะตรวจสอบโครงการแล้ว ยังกำกับควบคุมการกำหนดราคากลางอย่างเข้มงวด ด้วยหวังว่าจะช่วยประหยัดงบประมาณ หลังจากพบว่าในระบบราชการนั้นยังมีช่องว่างในเรื่องนี้อยู่มาก

ขณะเดียวกันยังทำหน้าที่รับเรื่องร้องเรียนที่เกี่ยวข้อง หากตรวจพบว่ามีการกระทำผิด มีอำนาจตามกฎหมายสั่งยับยั้งหรือยกเลิกการประมูลหรือการจัดซื้อจัดจ้างนั้นๆ ได้ทันทีแล้วให้กลับไปแก้ไขหรือเริ่มต้นใหม่ แทนการไปฟ้องร้องต่อศาลปกครองที่ต้องใช้เวลานานหลายปี

เมื่อพิจารณาอำนาจหน้าที่ของซูเปอร์บอร์ดชุดนี้แล้วจึงนับว่ามีอยู่มาก ในการกำหนดชะตาของโครงการต่างๆ

อย่างไรก็ตาม มีข้อสังเกตที่น่าสนใจในเรื่องการใช้กลไกของรัฐจากคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ว่าการออกกฎหมายที่ให้อำนาจ เจ้าหน้าที่รัฐมากเท่าไร ยิ่งต้องระมัดระวังมากที่สุดเท่าที่จะมากได้ เพราะยิ่งกำกับ-ลงโทษ ได้มากเท่าใด จะยิ่งมีการเก็บส่วยกับประชาชนมากขึ้นเท่านั้น

หากนำข้อสังเกตนี้มาพิจารณาถึงมาตรการป้องกันการคอร์รัปชั่นอย่างทั่วถึงแล้ว กลไกของประชาธิปไตยจึงสำคัญมากที่ประชาชนจะมี สิทธิและเสรีภาพในการตรวจสอบอำนาจของ เจ้าหน้าที่รัฐ

เป็นกลไกที่สำคัญไม่น้อยไปกว่าซูเปอร์บอร์ด

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน