คอลัมน์ รายงานพิเศษ

นายยงยศ แก้วเขียว นายกสมาคมกำนันผู้ใหญ่บ้านแห่งประเทศไทย คัดค้านข้อเสนอของสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ที่ให้เปลี่ยนแปลงวาระการดำรงตำแหน่ง กำนัน เหลือคราวละ 5 ปี เห็นว่าอาจส่งผลกระทบต่อการเลือกตั้งบ่อย นำไปสู่การแบ่งพรรคแบ่งพวก และเกิดความแตกแยกในระดับหมู่บ้านได้

โดยเสนอแก้ไขให้กำนัน มีวาระคราวละ 5 ปี แต่ไม่จำกัดวาระ ส่วนผู้ใหญ่บ้านอยู่ในตำแหน่งได้จนอายุครบ 60 ปี

โดยทั้งหมดมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน แต่ผู้ใหญ่บ้านต้องผ่านการประเมินผลทุก 4 ปี ตามระเบียบกระทรวงมหาดไทย

ขณะที่ผู้ใหญ่บ้าน มีโอกาสลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นกำนัน และหากได้รับเลือกแล้วไม่ต้องพ้นจากตำแหน่งเดิม หลายฝ่ายมีความเห็น ดังนี้

วิทยา อินาลา

อดีตส.ว.นครพนม

เห็นด้วยที่ให้กำนันมีวาระคราวละ 5 ปี แต่ไม่จำกัดวาระ ประชาชนจะได้รู้ว่าคนไหนดีไม่ดีอย่างไร จึงควรให้มีการแข่งขันกัน เพราะเมื่อเลือกไปแล้ว หากทำไม่ดีครั้งต่อไปประชาชนก็เลือกคนอื่นเข้ามา

ส่วนเรื่องการมีพวกพ้องก็เป็นเรื่องปกติอย่าไปฝืนธรรมชาติ คนเราต้องมีสังคม เมื่อมาจากการเลือกตั้งจะอยู่ฝ่ายไหนก็แล้วแต่ ต้องทำหน้าที่ของคุณ เป็นเรื่องปกติของสังคมไทย

กรณีที่เกรงกันว่าหากไม่จำกัดวาระแล้วจะผูกขาดคะแนนเสียงในพื้นที่หรือโยงกับหัวคะแนนของนักการเมืองนั้น ก็เป็นเรื่องปกติของการเมืองไทย ถ้าเอาชนะก็ต้องเอาชนะด้วยความดี แม้จะผูกขาดอย่างไร ประชานเขาก็เห็น เพราะข้อมูลข่าวสารทุกวันนี้เร็วมาก

ส่วนการเกี่ยวโยงกับนักการเมืองระดับชาติ ก็เป็นเรื่องปกติ อย่าไปปิดกั้น อย่าไปคิดว่าการเมืองไม่ดี

สำหรับข้อเสนอให้ผู้ใหญ่บ้าน ควบตำแหน่งกำนันได้หากได้รับเลือกตั้งในคราวเดียวกันนั้น เห็นว่าควรจะเป็นตำแหน่งเดียว อย่าไปกินหลายตำแหน่ง จะเป็นข้อเสียมากกว่าข้อดี

ในสังคมไทยมีระบบอุปถัมภ์อยู่ เช่น เป็นผู้ใหญ่บ้านหมู่ 1 แล้วเป็นกำนันด้วย ทำอะไรก็อาจเทไปให้หมู่ 1 มากกว่าหมู่อื่น ซึ่งเป็นเรื่องไม่เหมาะสมได้

อย่างไรก็ตาม หากมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น แน่นอนว่าคนที่เสียประโยชน์ไม่พอใจมีอยู่แล้ว คือกำนัน ผู้ใหญ่บ้านทั้งหมด ก็ต้องออกมาเคลื่อนไหวคัดค้าน จึงเห็นว่าคนไทยต้องเสียสละ อย่ามองประโยชน์ของตัวเองเป็นหลัก จะต้องมองประโยชน์ส่วนรวม โดยลงสมัครแข่งขันกัน ถ้าประชาชนเห็นว่าเราดีเขาก็เลือกเรา

เรื่องนี้อาจจะกลายเป็นประเด็นร้อนของรัฐบาลได้ ดังนั้นต้องคุยให้เข้าใจกันว่าเป็นอย่างไร ประเทศ ไทยหากไม่อยู่ในกติกา เอากำลังมาว่ากันนอกกติกาก็จะเป็นปัญหา

ดังนั้นผู้บริหารถ้าเห็นว่าอะไรที่ทำแล้วได้ประโยชน์ต่อส่วนรวม ประเทศชาติ ต้องกล้าทำ ถึงคนจะไม่ชอบก็ต้องทำ ต้องมองระยะยาว อย่ามองระยะสั้น

การแก้ปัญหาประเทศไม่ใช่แก้ได้วันนี้พรุ่งนี้เหมือนแก้ปัญหาบริษัท การแก้ปัญหาประเทศต้อง ใช้เวลา

อรรถสิทธิ์ พานแก้ว

คณะรัฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์

กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ที่มีวาระการดำรงตำแหน่งถึงอายุ 60 ปี มีการถกเถียงกันมากถึงวาระว่า ควรมีการปรับเปลี่ยนให้เหลือ 4-5 ปี หรือไม่

เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่า กำนันผู้ใหญ่บ้าน คือ ฐานเสียง และฐานอำนาจที่สำคัญของพรรคการเมือง มีผลต่อการตัดสินใจเลือกตั้งในการเมืองระดับชาติ ซึ่งบางครั้งการอยู่ในตำแหน่งจนถึงอายุ 60 ปี ทำให้เกิดการผูกขาด และไม่อาจตรวจสอบถ่วงดุลได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ข้อเสนอให้ปรับวาระการดำรงตำแหน่งจากสปท. โดยให้กำนันมีวาระเหลือ 5 ปี ส่วนผู้ใหญ่บ้านให้อยู่ถึงอายุ 60 ปี แต่ต้องผ่านการประเมินผลทุก 4 ปี ตามระเบียบ กระทรวงมหาดไทยว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินผลการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ใหญ่บ้าน พ.ศ.2559 นั้น

ประเมินว่า สปท.ต้องการให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในส่วนของกำนันผู้ใหญ่บ้าน เพื่อให้สนองตอบต่อความต้องการของประชาชนทั้งในระดับหมู่บ้านและตำบล ให้ผู้ที่ดำรงตำแหน่งเหล่านี้ รับผิดชอบต่อประชาชนมากขึ้น โดยมีกระทรวงมหาดไทยเป็นผู้ถ่วงดุลผ่านการประเมินตามหลักเกณฑ์

หากมองในแง่ฐานเสียงหรือในบทบาทของหัวคะแนน พบว่า ในแต่ละพื้นที่มีการขับเคี่ยว สร้างฐานอำนาจ ที่บางครั้งอาจผูกขาดอิทธิพลในพื้นที่กันยาวนาน บางรายดำรงตำแหน่งตั้งแต่อายุ 25 กว่าจะครบวาระตอนอายุ 60 ปี ก็มีอิทธิพลต่อพื้นที่กันอย่างต่อเนื่อง

ข้อเสนอดังกล่าวจึงมุ่งให้มีการปรับฐานเสียง ฐานอำนาจ ทุก 5 ปี ในส่วนของกำนัน

ภาพรวมสปท.คงต้องการให้หลังการปฏิรูปเกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจน ตั้งแต่ในระดับเล็กย่อยสุดคือ การเมืองส่วนท้องที่ หวังให้การเมืองไทยพัฒนามากขึ้น ด้วยการเสนอปรับแก้ไขกติกา ลดการผูกขาดอำนาจ และสลายเครือข่ายอุปถัมภ์ ตั้งแต่ในระดับหมู่บ้านและตำบล

แน่นอนว่า ข้อเสนอดังกล่าวจะกระทบต่อพรรคการเมือง ที่พึ่งพิงเครือข่ายหัวคะแนนในการเลือกตั้ง และกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ก็ย่อมไม่เห็นด้วยต่อแนวทางดังกล่าว แต่เรื่องนี้คง ต้องปล่อยให้สังคมเป็นผู้พิจารณาว่า จะเห็นด้วยหรือไม่อย่างไร

จริงอยู่ที่การเมืองไทย ตั้งแต่ระดับท้องที่ ท้องถิ่น และระดับชาติ มักเต็มไปด้วยการใช้ความรุนแรง ตั้งแต่กรีดป้ายหาเสียงผู้สมัคร ตลอดจนมุ่งเอาชีวิตของคู่แข่งใน สนามเลือกตั้ง แต่ประเด็นดังกล่าวนี้ จะได้รับการแก้ไขและเยียวยาให้ดีขึ้น จะต้องใช้เวลา และประสบการณ์ของประชาชน ในการเรียนรู้ที่จะไม่ยอมรับสิ่งเหล่านี้

ดังนั้น จึงไม่อยากให้มองว่า การเลือกตั้งผู้แทนระดับท้องที่ จะนำไปสู่การขยายปมแห่งความขัดแย้ง

แต่อยากให้มองว่า มันคือแบบฝึกหัดประชาธิปไตย ที่ต้องเริ่มจากการเลือกตั้ง ผู้สมัครผู้ใหญ่บ้านต่างหาเสียง นำเสนอนโยบายต่อผู้คนในหมู่บ้าน ให้ได้คิดตัดสินใจ

ถึงแม้กำนัน ผู้ใหญ่บ้านจะไม่ใช่นักการเมือง เป็นเพียงแขนขาของผู้ว่าราชการจังหวัด ปลัดอำเภอ จากกระทรวงมหาดไทย ไม่ได้มีหน้าที่ให้บริการจากภาครัฐ แต่ก็สามารถใช้อำนาจได้เช่นกัน

ประชาชนในพื้นที่เองจะเห็นได้ชัดเจนว่า ผู้ใหญ่บ้านหรือกำนันที่ได้รับเลือกไปนั้น ทำงานได้ตามที่เสนอไว้หรือไม่ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ประชาชนมีความเข้าใจอยู่แล้ว ทั้งยังสามารถเรียนรู้เพิ่มเติมได้ผ่านการเลือกตั้งส่วนท้องที่

เพื่อเป็นภูมิคุ้มกันและประสบการณ์การเลือกตั้งในการเมืองระดับชาติได้อีกด้วย

วัลลภ พริ้งพงษ์

อดีตอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น

ขณะนี้ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับท้องถิ่น ทางสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) อยู่ระหว่างการพิจารณากฎหมายเพื่อยกระดับองค์การบริหารส่วนตำบลทั่วประเทศเป็นเทศบาลเมือง

ในการพิจารณากฎหมายดังกล่าวแม้จะยกระดับขึ้นเป็นเทศบาลเมืองไปแล้ว แต่จะไม่มีการไปแตะหรือพูดถึงตำแหน่งกำนันและผู้ใหญ่บ้านเลย

ดังนั้น กำนันและผู้ใหญ่บ้านจะยังคงมีอยู่ต่อไปตาม พ.ร.บ.ลักษณะปกครองท้องที่ฯ

ส่วนการได้มาของกำนันและผู้ใหญ่บ้านจะใช้วิธีแบบไหน เช่น เลือกตั้งกันเอง หรือให้ประชาชนเลือก หรือจะมาจากการคัดเลือกโดยหน่วยราชการ เป็นต้น ขอให้เป็นเรื่องกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทยที่จะพิจารณาว่าจะแก้ไขกฎหมายต่อไปในอนาคตหรือไม่

ส่วนตัวเห็นว่ากำนันและผู้ใหญ่บ้านเปรียบเสมือนแขนซ้ายแขนขวาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่จะช่วยดูแลในเรื่องความมั่นคง ความเป็นอยู่ทุกข์สุขของชาวบ้าน จึงควรมีกำนันผู้ใหญ่บ้านทำงานคู่กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่อไป

ในส่วนของข้อเสนอให้กำนันดำรงตำแหน่งได้คราวละ 5 ปีโดยไม่จำกัดวาระการดำรงตำแหน่งนั้น มองว่าวาระการดำรงตำแหน่งจะสั้นหรือยาวไม่สำคัญ หากบุคคลนั้นสามารถทำงานได้เกิดประสิทธิภาพ ชาวบ้านในพื้นที่พึงพอใจ ดังนั้น จะอยู่ในตำแหน่งนานแค่ไหนไม่น่าเป็นปัญหา แต่ต้องผ่านการประเมินผลงานเหมือนกับข้าราชการด้วย

แต่กรณีที่หลายฝ่ายมองว่าหากเป็นกำนันได้ตลอดชีพ อาจจะมีการผูกขาดหรือเชื่อมโยงเรื่องหัวคะแนนในพื้นที่นั้น มองว่ากฎหมายเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยเฉพาะเรื่องการขัดกันแห่งผลประโยชน์ เป็นยาแรงพอสมควร เพราะโทษถึงขั้นตัดสิทธิ์ตลอดชีพ

อีกทั้งในอนาคตผู้บริหารท้องถิ่นจะต้องใช้กฎหมายลักษณะเดียวกัน จึงเชื่อว่าจะทำให้หัวคะแนนลดลง ไม่มีใครกล้าเพราะโทษมีความรุนแรง มีโทษจำคุกอีกด้วย เชื่อว่าจะทำให้การเลือกตั้งบริสุทธิ์ยุติธรรมมากขึ้น

ส่วนข้อเสนอที่ให้ผู้ใหญ่บ้านสามารถดำรงตำแหน่งได้ถึงอายุ 60 ปีนั้น มองว่าคนเราทุกวันนี้ยิ่งอายุมาก ยิ่งทรงความรู้ มีทักษะ ประสบการณ์มาก อีกทั้งการแพทย์ในปัจจุบันก็เจริญก้าวหน้า อายุก็แค่ตัวเลข อย่าไปจำกัดการทำหน้าที่ของบุคลากรด้วยอายุเลย

สำหรับข้อเสนอที่ให้ผู้ใหญ่บ้านสามารถลงสมัครเป็นกำนันได้ และหากได้เป็นกำนันก็สามารถควบตำแหน่งผู้ใหญ่บ้านได้ด้วยนั้น

ประเด็นนี้มองว่าการทำงานจะมีความทับซ้อนกันหรือไม่ อย่างไร

ยุทธพร อิสรชัย

รองศาสตราจารย์ประจำสาขาวิชารัฐศาสตร์ ม.สุโขทัยธรรมาธิราช

การที่กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ออกมาแสดงความเห็นคัดค้านเรื่องการเปลี่ยนแปลงวาระการดำรงตำแหน่ง ก็เป็นสิทธิของเขาที่จะเห็นต่างกับข้อเสนอการปฏิรูป

วาระการดำรงตำแหน่งของกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน แต่ละยุคสมัยเปลี่ยนแปลงไปตามนโยบายของฝ่ายการเมืองยุคนั้นๆ เสมอ

หากเป็นยุคที่รัฐบาลต้องการใช้กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เป็นฐานก็จะเอาอกเอาใจกำนันให้อยู่ในตำแหน่งได้ในระยะยาว หรือต้องการให้ฝ่ายการเมืองเข้าไปแทรกแซงได้ กำนัน ผู้ใหญ่บ้านจึงถูกมองว่าเป็นกลไกของรัฐบาลทุกยุคสมัย

ทำให้สุดท้ายการกำหนดวาระการดำรงตำแหน่งของกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน จึงไม่ได้ยึดถือประโยชน์ของประชาชน และสังคมเป็นตัวตั้ง ไม่ได้กำหนดอะไรที่เป็นเรื่องของการตรวจสอบได้ง่าย

ส่วนตัวเห็นว่า การกำหนดวาระการดำรงตำแหน่งโดยให้มีการเลือกตั้งกำนันทุก 5 ปี น่าจะเป็นแนวทางที่ดีกว่าการกำหนดให้เป็นไปถึงอายุ 60 ปี

เพราะกระบวนการตรวจสอบจะครบถ้วนมากกว่า เนื่องจากกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ไม่ได้มาจากการสอบคัดเลือก แต่มาจากการคัดเลือกอย่างหนึ่ง การดำรงตำแหน่ง 5 ปี แล้วให้มีการเลือกตั้ง จึงน่าจะเป็นแนวทางที่ดีกว่า

หากไม่จำกัดวาระโอกาสที่กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อาจถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง

นอกจากนี้ กฎหมายที่ระบุถึงอำนาจหน้าที่ของกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อย่าง พ.ร.บ.การรักษาปกครองท้องที่ พ.ศ.2457 เป็นกฎหมายที่ใช้มา 100 กว่าปีแล้ว หลายอย่างทำไม่ได้จริงในยุคปัจจุบัน

ดังนั้น เมื่อไม่มีความสอดรับกับโลกยุคปัจจุบัน กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน จึงควรถูกปรับเปลี่ยนให้สอดรับมากขึ้น

วันนี้องค์กรบริหารปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) มีทั้งคน ทั้งงบประมาณ และมีแผนการดำเนินงาน ขณะที่กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ไม่มีสิ่งเหล่านี้ ทำให้โดยหลักการคงทำอะไรได้ลำบาก

แต่ทั้งกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ถือเป็นผู้นำตามธรรมชาติ สามารถรวมจิตใจผู้คนทำให้เกิดการมีส่วนร่วมได้ จึงควรเอามารวมกับอปท. เช่น ให้เป็นสมาชิกสมทบก็ได้

สำหรับข้อเสนอปฏิรูปคงไม่ทำให้เกิดการยุบกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เพราะเป็นเพียงการเสนอเรื่องการดำรงตำแหน่ง ไม่ใช่การเสนอเกี่ยวกับระบบการทำงาน

อย่างไรก็ตาม เรื่องดังกล่าวอาจเกิดแรงกระเพื่อมต่อ รัฐบาลได้ เพราะประเทศไทยมี 70,000 กว่าหมู่บ้าน 6,000 กว่าตำบล

และในแง่ของผู้นำตามธรรมชาติ หากมีการระดมผู้คนก็ไม่ใช่เรื่องยาก

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน