ร้อยเมตรสุดท้าย : บทบรรณาธิการ

บทบรรณาธิการ – เข้าสู่ช่วงสัปดาห์สุดท้ายของการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง หรือที่ผู้คนนิยมเรียกว่า ร้อยเมตรสุดท้าย เป็นช่วงที่มีทั้งความคึกคักและความวิตกกังวลต่อการดึงคะแนนหรือการเอาชนะใจประชาชนได้มากที่สุด

ข้อกังวลหนึ่งคือเรื่องการซื้อเสียงที่เชื่อกันว่าจะทุ่มในช่วงร้อยเมตรสุดท้าย ซึ่งจะกัดกร่อนและทำลายความน่าเชื่อถือของการเลือกตั้งอย่างร้ายแรง อีกทั้งจะเป็นปมปัญหาฟ้องร้องอันยุ่งเหยิงภายหลัง

การแก้ไขปัญหานี้ต้องอาศัยประชาชนเป็นหลักใหญ่ที่สุด เพราะประชาชนคือเป้าหมายของการซื้อ และการซื้อจะบรรลุเป้าหมายหรือไม่ ขึ้นอยู่ว่าประชาชนจะใช้สิทธิในการเลือกตั้งอย่างไร

จะคำนึงถึงผลในระยะสั้น หรือระยะยาว เมื่อการเลือกตั้งครั้งนี้คือเลือกสำคัญในการฟื้นฟูประชาธิปไตย

จํานวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งในครั้งนี้มีประมาณ 50 ล้านคน ในจำนวนนี้ 2.6 ล้านคนลงคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้าไปแล้ว เมื่อวันที่ 17 มีนาคม

เมื่อแบ่งกลุ่มตามอายุ ผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่เป็นคนรุ่นใหม่ หรืออายุ 18-26 ปี มีจำนวน 7.3 ล้านคน

คนกลุ่มนี้เป็นที่สนใจเป็นพิเศษในการเลือกตั้งครั้งนี้ ตามกระแสโลกที่คนรุ่นใหม่เข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตยมากขึ้น และมีผลต่อการเลือกตั้งมากขึ้นด้วย

ประเทศไทยมีตัวอย่างการเลือกตั้งจากประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งแบบที่ถูกกำหนดควบคุมอย่างชนิดไม่เปิดโอกาสให้มีคู่แข่ง และแบบที่คนรุ่นใหม่ก่อคลื่นความเปลี่ยนแปลงในระดับสึนามิ

ช่วงร้อยเมตรสุดท้ายนี้ ยังไม่แน่ชัดว่าการเลือกตั้งจะเดินไปบนเส้นทางใด

นอกจากนี้ ช่วงร้อยเมตรสุดท้ายนี้ คณะกรรมการการเลือกตั้งคือคณะทำงานยังถูกคาดหวังว่าจะปรับปรุงการทำงานและเตรียมพร้อมสำหรับการเลือกตั้ง วันที่ 24 มีนาคม ให้มากที่สุด

ข้อมูลผู้สมัครส.ส. ที่คลาดเคลื่อนในเอกสารประชาสัมพันธ์ และในแอพสมาร์ตโหวต การเลือกตั้งของกกต. แก้ไขเรียบร้อยแล้วใช่หรือไม่

การกระจายสื่อเผยแพร่ความรู้การเลือกตั้ง ครอบคลุมแล้วหรือไม่

ในเมื่อกกต.ชุดนี้มาจากการแต่งตั้งโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ คงไม่อยากถูกครหาว่าทำงานไม่ดีตั้งแต่ร้อยเมตรแรกจนถึงร้อยเมตรสุดท้าย

อ่านข่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน