มีความพยายามจะแยก “เศรษฐกิจ” ออกจาก “การเมือง” มีความพยายามจะชี้ว่า มีแต่การนำเสนอในเรื่องการแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจเท่านั้นที่ถือว่าเป็น “นโยบาย”

เห็นได้จากการโต้แย้งระหว่างพรรคการเมืองในการดีเบตประชันวิสัยทัศน์

ตำหนิว่า อีกฝ่ายไม่เสนอ”นโยบาย” มีแต่ “โจมตี”

ตัวอย่างที่ตำหนิว่าไม่เสนอ”นโยบาย”เพราะมองว่าไม่นำเอา โครงการมาพูด หากมีแต่โจมตีการเมือง เน้นแต่เรื่องเผด็จการ เน้นแต่เรื่องประชาธิปไตย

กลายเป็นว่าหากพูดเรื่อง”การเมือง” มิใช่การนำเสนอ”นโยบาย”

ทั้งๆที่ การเมืองและเศรษฐกิจเป็นเรื่องเดียวกัน

ความเป็นจริงที่เห็นและเป็นอยู่พลันที่มีการเสนอปรับอัตราค่าแรง ขั้นต่ำซึ่งแม้จะถือว่าเป็นเรื่องในทางเศรษฐกิจ แต่ในที่สุดเรื่องนี้ก็ถูกนำไปเป็นประเด็นทางการเมือง

ไม่ว่าจะเป็นการเสนอให้ปรับเป็น 300 บาทในการเลือกตั้งเมื่อเดือนกรกฎาคม 2554

ไม่ว่าจะเป็นการเสนอให้ปรับเป็น 400 หรือ 425 บาท

การช่วงชิงข่มกันด้วย “ตัวเลข” ระหว่างแต่ละพรรคการเมืองนั่นแหละทำให้ข้อเสนอในทางเศรษฐกิจ ชีวิตความเป็นอยู่ได้แปร เป็นประเด็นทางการเมืองโดยพลัน

เพราะว่าในความเป็นจริงที่มิอาจปฏิเสธได้ก็คือ เศรษฐกิจเป็นพื้นฐานของการเมือง

การดำรงอยู่ของการเมือง เศรษฐกิจจึงเหมือนเหรียญเดียวกัน หากเศรษฐกิจชีวิตความเป็นอยู่ไม่ดีก็ย่อมจะก่อให้เกิด ความหงุดหงิดไม่พอใจ

เมื่อหงุดหงิดไม่พอใจก็จะนำไปสู่การวิพากษ์ตำหนิ นำไปสู่การเรียกร้องในที่สุดก็กลายเป็นปัญหาในทางการเมือง

ความพยายามในการแยกเศรษฐกิจออกจากการเมือง ความพยายามในการเสนอบทนิยามให้เศรษฐกิจเป็นนโยบาย แต่การเมืองมิใช่นโยบาย

เหล่านี้สะท้อนถึงมุมมองและบทสรุปอันต่างกัน

นั่นก็คือ การพิจารณาปัญหาอย่างแยกส่วน ตัดตอนและมอง ไม่เห็นความสัมพันธ์

ทั้งที่เป็นเหรียญเดียวกัน เพียงแต่อยู่คนละด้านเท่านั้น

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน