อนาคตประเทศไทยหลังเลือกตั้ง

อนาคตประเทศไทยหลังเลือกตั้ง – เมื่อวันที่ 29 มี.. ที่คณะศิลปศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ โครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา ร่วมกับโครงการตำรา สังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ จัดงานเสวนาอนาคตประเทศไทยหลังเลือกตั้ง 24 มีนาโดยมีนักวิชาการร่วมวิเคราะห์สถานการณ์ ดังนี้

ดุลยภาค ปรีชารัชช

คณะศิลปศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์

มุมมองของผมคือ 1.หากดูสนามของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ การเลือกตั้งครั้งนี้ทำให้ประชาธิปไตยไทยไต่ระดับขึ้นมาเหมือนกัน แม้จะมีการถกเถียงกันเรื่องความโปร่งใสอยู่ก็ตาม ซึ่งเป็นการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยภายใต้ชนชั้นนำทหาร แต่ผมเชื่อว่าเป็นความก้าวหน้าที่ทำให้รัฐไทยก้าวสู้ความเป็นรัฐกึ่งประชาธิปไตย เผด็จการปรับตัวใช้การเลือกตั้งต่ออายุพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) คะแนนไม่ได้ขี้เหร่ แม้รัฐบาลจะไม่มีเสถียรภาพมากเหมือนรัฐบาลคสช.ก็ตาม

2.รูปแบบรัฐไทย จะมีการกระจายอำนาจหรือไม่ เพราะปัจจุบันเราเป็นรัฐเดี่ยวรวมศูนย์อยู่

3.ทั้งที่เป็นการเปลี่ยนผ่านประชาธิปไตย แต่กลับมีแนวโน้มหลายอย่างที่ทำให้เห็นรัฐบาลผสมแต่ละข้างไม่มี พลังอำนาจมากกว่ากันเลย ยันอำนาจกันอยู่ การเมืองไทยหลังจากนี้คงต้องดูว่ารัฐบาลผสมมีข้อดีข้อเสียอย่างไร รูปร่างหน้าตาจะเป็นอย่างไรภายใต้ระบอบรัฐสภา อำนาจของนายกฯ ในรัฐบาลผสมที่มีการต่อรองเก้าอี้รัฐมนตรีอำนาจอาจจะไม่มาก

นอกจากนี้ ยังมีเรื่องความปรองดองเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย เช่น พปชร. มีบทบาทมาก แต่อีกข้างไม่ยอม แรงๆทั้งคู่มาเจอกันในการ ดีเบตในสภาการปะทะกันแรงๆก็เกิดขึ้น แต่หากมีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งแรง ขณะที่อีกฝ่ายประนีประนอม ฝ่ายประนีประนอมจะแพ้ทันที

4.การมีอำนาจของทหารในการเมืองไทย เมื่อมีการเลือกตั้ง คสช.ต้องสลายตัวไปไม่มากก็น้อย จะทำให้บทบาทของทหารเปลี่ยนไป การคานอำนาจคสช.ไปสู่รัฐมนตรีที่มาจากการต่อรองอำนาจจะสมูทพอสมควรเพราะมียุทธศาสตร์ชาติกำกับอยู่

5.ก่อนการเเลือกตั้งทหารค่อนข้างมีบทบาท แล้วหลังการเลือกตั้งดีกรีของพลเรือนกับกองทัพจะเป็นอย่างไร ซึ่งผมคิดว่าเปลี่ยน เพราะสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) จะถูกแทนด้วยส.. และรัฐมนตรีต่างๆจะถูกแทนด้วยรัฐมนตรีที่มาจากการต่อรองอำนาจ

เราอยู่บนทางสองแพร่งจากปมปัญหาเรื่องเอกภาพชาติ คือ ประชาธิปไตยที่ปราศจากกฎระเบียบคือ อนาธิปไตย กับกฎระเบียบ ที่ไม่มีประชาธิปไตยคือเผด็จการ โจทย์คือจะทำอย่างไรให้สองสมการนี้มีความสมดุลกัน ถ้าจะมองหารัฐพึงปรารถนาเป็นโมเดลสำหรับรัฐไทยคือ เดนมาร์ก ที่มี 3 เสาหลักค้ำยันระเบียบการเมืองคือ 1.การสร้างรัฐ สร้างสถาบันทางการเมืองต้องแข็งแกร่ง 2.นิติรัฐนิติธรรม กฎต้องมีความชอบธรรมทุกฝ่ายมีส่วนร่วม และ 3. ความโปร่งใส ซึ่งจะก่อให้เกิดความชอบธรรม เพราะตรวจสอบได้

เดนมาร์กทำแบบนี้ แม้จะต่างเวลาและพื้นที่กับรัฐไทย แต่น่าจะเป็นประโยชน์ เมื่ออยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ก็ต้องดูบริบท บทเรียน และความล้มเหลวที่ผ่านมาประกอบกันไปด้วย

ชาญวิทย์ เกษตรศิริ

อดีตอธิการบดี ม.ธรรมศาสตร์

ปกติทหารเมื่อยึดอำนาจ จะเสพติดอำนาจ แล้วใช้กระบวนการเลือกตั้ง ใช้ประชาธิปไตยเป็นเสื้อคลุมเพื่ออยู่ต่อไป

อย่างจอมพลป. เมื่อยึดอำนาจปี 2490 ทำรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2495 มีการเลือกตั้งปี 2500 ปรากฏว่า พรรคเสรีมนังคศิลา ของจอมพลป.ชนะขาดลอย อยู่ได้ 7 เดือน ถูกจอมพล.สฤษดิ์ ยึดอำนาจ

ต่อมาจอมพล.สฤษดิ์ถึงแก่อสัญกรรมปี 2506 จอมพลถนอมก็ขึ้นมาแทนถึงปี 2511 มีรัฐธรรมนูญ มีการเลือกตั้งปี 2512 จอมพลถนอมเหมือนจอมพลป. ตั้งพรรคสหประชาไท ชนะเลือกตั้งตามคาด อยู่ต่อ 2 ปี ถึงปี 2514 แต่ก็คุมสภาไม่ได้ จึงรัฐประหารยึดอำนาจตนเอง นำมาซึ่งเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516

ต่อมายึดอำนาจ 2534 ปี 2535 มีเลือกตั้ง พล..สุจินดา คราประยูร ได้เป็นนายกฯ 47 วัน แล้วเกิดเหตุการณ์พฤษภา 2535

เมื่อมองตามประวัติศาสตร์ก็เป็นเช่นนี้ ประวัติศาสตร์มักซ้ำรอย เพราะเราไม่เคยเรียนรู้ประวัติศาสตร์ แต่ไม่อยากให้อยู่ในทุ่งลาเวนเดอร์

ตอนนี้นักวิชาการหลายคนกำลังกลัวปีศาจของอำนาจนิยมเผด็จการที่กำลังหลอกหลอนมนุษย์โลกนี้อยู่ จะทำให้สังคมเดินหน้าไปสู่สิ่งที่เป็นประชาธิปไตย หรือยุคสมัยของเสรีภาพที่ดีกว่านี้ได้ยากมาก

เมื่อปี 2500 ที่เรียกกันว่าเลือกตั้งสกปรก เลือกตั้งครั้งนี้ก็อาจเป็นแบบนั้น เป็นการเลือกตั้งไม่สะอาด โอกาสไม่ชอบมาพากลมีสูง

ก่อนเลือกตั้งผมไม่คิดว่า พรรคทหารจะได้เยอะ แต่เมื่อดูประวัติศาสตร์จะเห็นว่าเป็นแบบนี้ เพราะทหารคุมกลไกรัฐทั้งหมด จึงเห็นจอมพลป. จอมพลถนอม พล..สุจินดา ชนะการเลือกตั้ง

แต่คำถามคือ จะอยู่ต่อได้หรือไม่

เวียงรัฐ เนติโพธิ์

คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เชื่อว่ากลไกการเซ็ตซีโร่ ของฝ่ายอนุรักษนิยมไทยสำเร็จแล้ว ถ้าไม่ย้อนสังคมไทยไปไกลก่อนยุคจอมพลสฤษดิ์ ก็จะอยู่ในช่วงพ..2531 หรือถอยหลังอย่างน้อย 30 ปี ไปก่อนพฤษภาทมิฬ ที่มีการวิ่งเต้นการจัดตั้งรัฐบาล จะมีงูเห่า ซึ่งเป็นเรื่องที่คนรุ่นใหม่ไม่เคยได้เห็น แต่สังคมไทยตอนนี้เปลี่ยนไปจาก 30 ปีที่ผ่านมามากแล้ว

มองว่าการเลือกตั้งครั้งนี้ทำให้สังคมไทยเกิด 3 หายนะขึ้นคือ 1.สถาบันทางการเมือง จากกรณีบัตรเขย่ง ภาพที่เห็นผบ.เหล่าทัพเรียงแถวยืน บอกให้เชื่อมั่นกกต. สะท้อนแล้วว่า กกต.สถาบันที่เป็นกลางไม่น่าเชื่อถือแล้ว ทั้งไม่มีเครื่องคิดเลข ทำตัวเลขหาย ทำตัวเลขเพิ่ม จะส่งผลให้จำนวนส..ในรัฐสภาจะถูกสลายความเป็นสถาบันทางการเมืองที่เข้มแข็งไป

2.การเคลื่อนไหวทางสังคม การเมืองว่าด้วยวาทกรรม เมื่อการเมืองในเชิงสถาบันอ่อนแอ การเคลื่อนไหวทางสังคมจะเข้มแข็ง การเมืองที่ผ่านมากลายเป็นละครหลังข่าว กลายเป็นเรื่องตบตีกัน จนถูกโยกออกมาจากเสียงข้างมากในรัฐสภา เป็นการเมืองบนถนนใช้วาทกรรมโจมตีกัน คำว่าเผาบ้านเผาเมือง ล้มเจ้า ยังมีผล

การเมืองก่อนปี 2557 ไม่ได้ใช้สถาบันทางการเมืองเลย ครั้งนี้โซเชี่ยลมีเดียมีผลมาก คลื่นลูกที่หนึ่งของคนใช้ โซเชี่ยลที่เชื่อถืออีเมล์และไลน์กลุ่มจะเลือกพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.)

คลื่นลูกที่สอง คือผู้ใช้ทวิตเตอร์ อันพ้นจากฟรีทีวี หนังสือพิมพ์ที่กำลังตาย จะใช้การสื่อสารช่องทางนี้มาเคลื่อน ไหวมาโต้กลับ ซึ่งต้องดูว่าพลังฝ่ายไหนจะมากกว่ากัน แต่การใช้วาทกรรมในโซเชี่ยลมีเดียเป็นเรื่องอ่อนไหว อาจกลายเป็นเครื่องมือได้ง่าย ต้องระวัง

3.การเมืองระดับชนบทนอกกรุงเทพฯ พบว่า พื้นที่ชนบทในภาคอีสาน เกิดการแจกเงินกันอย่างโจ๋งครึ่ม ใช้ความสัมพันธ์แบบอุปถัมภ์ก่อนปี 2540 ทำอย่างไม่สนใบเหลือง ใบแดง ไม่กลัวคู่แข่งฟ้องกกต. ทำได้เพราะกลไกข้าราชการไม่อาจใช้ประโยชน์ได้ พลังดูดยุคนี้ ไม่ใช่ซื้อกันด้วย เก้าอี้รัฐมนตรี ถ้าใครถูกดูดแล้วไม่มา คดีความของคุณจะถูกดำเนินการอย่างรวดเร็ว พ่วงไปกับบัตรคนจน เบี้ยคนชรา ก็พาคนเข้ามาสู่ระบบอุปถัมภ์อีก

หายนะเหล่านี้ ความหวังที่มีคือพรรคการเมือง แม้พรรค เพื่อไทยวันนี้พ่ายแพ้ สื่อสารการเมืองผิดพลาด แต่พรรคเพื่อไทยก็พยายามเป็นสถาบันทางการเมืองมากที่สุด เช่นเดียวกับ พรรคประชาธิปัตย์ พวกเราจึงควรสนับสนุนพรรคการเมืองใน การต่อสู้

ส่วนพรรคอนาคตใหม่ ที่ใช้เงื่อนไขโซเชี่ยลมีเดีย ในการสร้างวาทกรรม และการเคลื่อนไหวทางสังคมนั้น ต้องสร้างพรรคให้เป็นสถาบันพร้อมกันไปด้วย ซึ่งตรงนี้เรายังไม่ได้เห็นการระดมมวลชนจากอนาคตใหม่ ซึ่งหากว่าที่ส..ถูกซื้อไปสักคนหนึ่ง อาจทำให้เกิดความผิดหวังจนเสียระบบได้ ดังนั้นต้องสร้างพรรคการเมืองให้เป็นสถาบัน เข้าถึงคนชนบทให้ได้ เพื่อให้ใกล้เคียงกับบริบทตอนปี 2540 ให้ได้ โดยมีปัจจัยสำคัญคือการ กระจายอำนาจ

สถานการณ์ตอนนี้มองว่า มีความพยามสร้างบรรยากาศให้เกิดเดดล็อกหลายส่วน ไม่ว่าจะเป็นการนับคะแนน สูตรการนับคะแนน เพื่อหาจำนวนส..บัญชีรายชื่อ จนอาจส่งผลทำให้มีการล้มการเลือกตั้ง ซึ่งการเมืองบนถนนอาจถึงเวลาแล้ว แต่จะออกมาจริงคงยาก โจทย์คือจะทำอย่างไรให้แปรเสียงคนรุ่นใหม่เป็นเสียงต้านรัฐบาล ซึ่งคงต้องใช้โซเชี่ยลมีเดียทำให้สุกงอม แล้วออกมาแสดงพลังครั้งเดียวจบ ถึงจะจบเกมได้ ที่สำคัญคือห้ามทิ้งสถาบันทางการเมือง ที่เหลือเพียงอย่างเดียวคือ พรรคการเมือง ต้องสร้างเครือข่ายให้ได้จริง ไม่ใช่เครือข่ายออนไลน์

นันทนา นันทวโรภาส

คณบดีวิทยาลัยสื่อสารการเมือง ม.เกริก

พรรคเพื่อไทยแม้จะได้ส..อันดับหนึ่ง แต่พ่ายแพ้ตัวเอง จากที่เคยได้คะแนน 15 ล้านเสียง ครั้งนี้เหลือ 7 ล้านกว่าเสียง ยุทธการแตกแบงก์พันเป็นแบงก์ร้อยไม่เวิร์ก เพราะถูกสกัดไปก่อนเมื่อ วันที่ 8 .. ส่งผลให้กลุ่มอนุรักษนิยมกลุ่มหนึ่งเปลี่ยนใจ

พรรคตระกูลเพื่อก็วางแคมเปญผิดพลาด ไม่ชัดเจนหลังจากพรรคไทยรักษาชาติ(ทษช.)ถูกยุบไป จึงได้คะแนนน้อยกว่าที่ควรจะเป็น

การเลือกตั้งมีผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งน้อยกว่าที่คาด ไม่ทำลายสถิติในประวัติศาสตร์ แต่เจนวายออกมาเยอะ ดูจากคะแนนพรรคอนาคตใหม่

ส่วนเจนเบบี้บูมเมอร์ออกมาน้อย ดูจากคะแนนพรรคเพื่อไทย ซึ่งพลาดที่นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ควรอยู่ตลอดแคมเปญ กลับมาแค่ช่วงแรกกับช่วงหลัง ช่วงกลางหายไปนาน ทำให้คนกลางๆที่กลัวนายทักษิณ ชินวัตร ซึ่งเห็นนายชัชชาติแล้วจะไม่เป็น แต่เห็นคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ แล้วจะเป็นอีกแบบ จึงทำให้การตัดสินใจของคนแบบกลางๆไม่เลือกเพื่อไทย

แคมเปญพรรคเพื่อไทยกร่อยที่สุดตั้งแต่ปี 2544 เป็นต้นมา ไม่มีนโยบายที่ชัดเจน ส..เพื่อไทยที่ชนะแบบแบ่งเขตถือว่า มีฝีมือจริง กระแสของพรรคเพื่อไทยช่วยได้น้อยมาก

ชัยชนะของพรรคอนาคตใหม่ ต้องบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์การเมืองไทย ชั่วชีวิตของตนไม่เคยเห็นพรรคการเมืองที่เพิ่งตั้งทำทุกอย่างใหม่หมด แล้วได้ส..เกือบ 100 คน จริงอยู่ส่วนหนึ่งได้รับ ส้มหล่นจากทษช.ที่ถูกยุบด้วย แต่ตามทฤษฎีตลาดทางการเมืองแล้ว อนาคตใหม่มีความชัดเจนตั้งแต่ต้น ผู้สมัครส..เขตใหม่หมด แต่คนกาให้ เพราะนโยบายใหม่มาก จะรื้อถอนผลพวงของการรัฐประหาร ถือว่ามีความ กล้ามาก นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่จริงๆแล้วไม่ได้หล่อ คำว่า ฟ้ารักพ่อ หมายถึงวัยรุ่นมองนายธนาธรเป็นไอดอล เป็นคนที่เข้าใจเจนวายจริงๆ จะเข้ามาสร้างความเปลี่ยนแปลง

นี่คือสิ่งที่คนรุ่นเก่าพลาด สบประมาทและดูถูกคนรุ่นใหม่ว่า พวกนี้คือนักเลงคีย์บอร์ด ทำตามกระแส ไม่ออกไปเลือกตั้ง สุดท้าย ได้ 80 กว่าที่นั่ง ซึ่งโชเชี่ยลทำให้เห็นแล้ว่ามีผลต่อการเลือกตั้ง และจะทำให้การเมืองไทยเปลี่ยนแปลงไปตลอดกาล

แม้ในอนาคตคงจะเป็นรัฐบาลลุงตู่ต่อไป แต่จะเกิดการเปลี่ยนแปลง จากการทำหน้าที่ฝ่ายค้านของพรรคคนรุ่นใหม่แจ้งเกิดทางการเมืองแล้ว ซึ่งพวกเขาจะสร้างพื้นที่ทางการเมืองนี้ต่อไป

ส่วนชัยชนะของพรรคพลังประชารัฐ(พปชร.)นั้น เกิดจาก วันที่ 8 .. ที่ทำให้ทษช.ถูกยุบ ในภาคอีสานถูกทำให้แตกจากบัตรคนจนที่แจกกันถ้วนทั่ว และปรากฏการณ์คืนวันที่ 23 มี.. นั้นช่วยส่งพปชร. และแคมเปญโค้งสุดท้ายที่ระบุว่า เลือกความสงบจบที่ลงตู่ ถือว่าโดน และดีที่สุดของพปชร.

หลังเลือกตั้งจะเกิดการสกัดนายธนาธร และอนาคตใหม่ ที่มีทั้งคดีอาญา และนักร้องที่คอยร้องยุบพรรค ก็ทำให้มีโอกาสถูกยุบ ซึ่งจะมีผลกับคนรุ่นใหม่มาก หากนิ่งเฉยก็หมดกัน

จากนี้จนถึงวันที่ 9 .. จะมีส..ถูกสอยไปเรื่อยๆ เพื่อ ให้เท่ากันหรือสูงกว่า ส่งผลให้มีการเปลี่ยนแปลง จะเกิด ปรากฏการณ์งูเขียวมากมาย รัฐบาลจะมีเสียงปริ่มน้ำ ทำให้การ ลงมติกฎหมายแต่ละครั้ง ห้องน้ำในสภาจะคราคร่ำไปด้วยส.. จะเกิดการต่อรองกันมากมาย ประเทศไทยจะมีอนาคตอย่างไรหลังการเลือกตั้ง

ส่วนข้อสังเกตจากการเลือกตั้งมีหลายด้าน โดยเฉพาะอย่างบัตรเกินจำนวนมากนั้น ก็ต้องดูว่าจะตอบนานาชาติอย่างไร ต้องใช้การนำโลกล้อมไทยมาช่วย เพราะต่างชาติไม่เชื่อมั่นการเลือกตั้งมาตั้งแต่ต้น เห็นจากการออกมาทวงถามทันที เมื่อกกต.ชะงักการรวมคะแนน ส่วนบัตรเสียจำนวนมาก เกิน 2 ล้านใบนั้น ไม่ได้ทำให้เรามั่นใจผลการเลือกตั้งได้เลย

ทางรอดของไทยคือ ต้องให้ต่างชาติเข้ามาตรวจสอบการเลือกตั้ง ซึ่งสิ่งที่ควรทำแต่เป็นไปไม่ได้เลย คือนับคะแนนใหม่ทั้งประเทศ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน