สูตรคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อที่นำเอาพรรคที่มีคะแนน 30,000 ก็จะได้ ส.ส. 1 คน กำลังกลายเป็นปัญหาและอาจจะกลายเป็นอีก ประเด็น 1 ที่ร้อนแรงในทางการเมือง

ยิ่งเมื่อได้รับการอธิบายจาก นายวิษณุ เครืองาม

“ถามว่าแค่ 30,000 ทำไมจึงได้ 1 ส.ส. เพราะการนับคะแนนมีการเฉลี่ยหลายรอบ 1, 2, 3 นั้นพรรคอื่นได้ไปหมดแล้ว แต่เหลือเศษจึงเฉลี่ยให้พรรคเล็กๆ”

โดยเฉพาะประโยคที่ว่า “เป็นไปตามกฎกติกาที่มีมาตั้งแต่ต้น ไม่มีใครไปกลั่นแกล้ง”

คำถามที่ตามมาไม่ว่าจะมาจาก นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะหรือ นายโภคิน พลกุล และ นายปิยบุตร แสงกนกกุล ก็คือ

เป็นไปตามรัฐธรรมนูญหรือไม่

บรรทัดฐานการคำนวณจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อนั้นเป็นบรรทัดฐานจาก 1 รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 และ 1 พรป.ว่าด้วยการเลือก ตั้ง ส.ส.พ.ศ.2561

ไม่ว่า นายโภคิน พลกุล ไม่ว่า นายปิยบุตร แสงกนกกุล เห็น ตรงกันว่า

ต้องยึดตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 91(4)

ต้องยึดตามพรป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.มาตรา 128(5)

โดยถือเกณฑ์คะแนนเสียง ส.ส.พึงมีอยู่ที่ 70,000 คะแนนเป็นบรรทัดฐาน

คิดแล้วมีเพียง 16 พรรคการเมืองเท่านั้น

“แม้จะซับซ้อนแต่นี่คือการคำนวณตามกฎหมาย ยืนยันไม่มี การคำนวณแบบอื่น วิธีนี้ไม่ใช่ความเห็นแต่เป็นคณิตศาสตร์ซึ่งมีสูตรเดียวเท่านั้นตามมาตรา 128”

เป็นคำยืนยันจาก นายปิยบุตร แสงกนกกุล

ขณะที่ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ห่วงว่า “เรื่องนี้สำคัญมีผลต่อการจัดตั้งรัฐบาลของทั้ง 2 ข้างที่ชิงกันอยู่”

สูตร 30,000 ได้ ส.ส.พึงมีจึงมากด้วยความแหลมคม

ความแหลมคมมิได้อยู่ที่ว่าสูตรนี้จะเป็นการดำเนินการตามหลักรัฐธรรมนูญ ตามบทบัญญัติของพรป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.หรือไม่ ประการเดียว หากแต่อยู่ที่ว่าเหตุใด”สูตร” นี้จึงงอกขึ้นมา

งอกขึ้นมาเหมือนกับจะแสดงน้ำใจไมตรีให้กับทุกพรรคการเมืองโดยเฉพาะพรรคเล็กที่หล่นจากอันดับที่ 16

เป้าหมายของ”กกต.”คืออะไร

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน