สูตรเสียงส่วนน้อย : บทบรรณาธิการ

สูตรคำนวณสมาชิกสภาผู้แทนฯ แบบปาร์ตี้ลิสต์ ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง ย่อมเป็นเรื่องที่ผู้คนวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวางอีกครั้ง

แม้ว่าจะไม่ใช่เรื่องน่าประหลาดใจกับผลการตัดสินใจครั้งนี้ หลังจาก กกต.ทำงานจนเป็นที่กังขามาหลายเรื่องและหลายระลอก

เป็นที่วิจารณ์ทั้งในโลกโซเชี่ยล ไปจนถึงข่าวและรายงานของสื่อมวลชนไทยและต่างประเทศ

ปมปัญหาการขาดความเชื่อมโยงระหว่าง กกต. กับประชาชน ตั้งแต่จุดเริ่มต้น ยังคงมีผลให้กกต.ดำเนินการและตัดสินใจเรื่องต่างๆ ที่อยู่ห่างจากประชาชน

แม้แต่การเลือกตั้ง ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าจะเชื่อมโยงถึงกันได้มากที่สุด ก็กลับถูกละเลย และไม่มีแนวโน้มจะมาบรรจบกัน

กกต. ระบุถึงวิธีการคำนวณ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ ว่าทำตามวิธีที่บัญญัติในรัฐธรรมนูญ ประกอบกับเจตนารมณ์ของระบบการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญที่ให้ความสำคัญกับคะแนนเสียงของผู้มีสิทธิเลือกตั้งทุกคนมาเป็นแนวทางในการคำนวณจำนวน ส.ส.

การกล่าวอ้างตัวบทกฎหมายที่เกิดขึ้นในยุคสมัยที่ประชาธิปไตยบกพร่อง อาจเป็นข้ออ้างเพื่อตอบโต้แย้งเสียงวิจารณ์ได้

แต่ไม่อาจตอบคำถามได้ว่า เหตุใดการสรรหาผู้แทนประชาชนในระบอบประชาธิปไตย จึงไม่เคารพเสียงส่วนใหญ่ของประชาชน

เหตุใดพรรคที่ได้เสียงตามเกณฑ์ 71,000 เสียงจึงถูกลดจำนวนส.ส. แต่พรรคที่สอบตกได้เพียง 39,000 เสียงจึงเข้าสภาได้

สิ่งที่สะท้อนจากสูตรการคำนวณพรรคการเมืองที่ได้รับการจัดสรรจำนวน ส.ส. ปาร์ตี้ลิสต์ในครั้งนี้จะมีไม่น้อยกว่า 25 พรรคการเมือง ไม่เพียงสะท้อนถึงการล้อมกรอบจนพรรคการเมืองอ่อนแอ

ยังตอกย้ำการให้ความสำคัญกับเสียงส่วนน้อย อย่างไม่เป็นเหตุเป็นผลมาตลอดช่วงเกินสิบปี ที่สังคมถูกทำให้แตกแยก และไม่เคารพกติกาทางประชาธิปไตย

การสนับสนุนให้เสียงส่วนน้อยที่มีสถานะทางเศรษฐกิจและสังคม ขยายตัวเข้ามาควบคุมการเมือง มีแต่จะสร้างอภิสิทธิ์ชนให้มากขึ้น และซ้ำเติมให้เกิดความเหลื่อมล้ำและไม่เท่าเทียม

สูตรและการตัดสินใจในขณะนี้ เดินไปบนวิถีเดียวกับการประท้วงชัตดาวน์ และรัฐประหาร

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน