FootNote : บทเรียน ของ การเมืองใหม่ กับ รวมพลังประชาชาติไทย

การออกมายอมรับความเป็นจริงของ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ว่า “ตั้งแต่ทำงานการเมืองมา คราวนี้เรียกว่าแพ้ยับเยินมาก”

เหมือนกับจะเป็นบทสรุปเฉพาะตัว

ทั้งๆที่ในความเป็นจริง ความพ่ายแพ้ของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ คือความพ่ายแพ้ของพรรครวมพลังประชาชาติไทย

เพราะได้ ส.ส.มาทั้ง 2 ระบบเพียง 5

เพราะว่าสังคมรับรู้กันตั้งแต่แรกมีการจัดตั้งแล้วว่า พรรครวมพลังประชาชาติไทย คือพรรคของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ มิใช่ของ ม.ร.ว.จตุมงคล โสณกุล

ชัยชนะหรือพ่ายแพ้ของพรรครวมพลังประชาชาติไทย คือชัยชนะหรือพ่ายแพ้ของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ

นี่คือบทเรียนอันมีค่ายิ่งในทางการเมือง

บทเรียนนี้มิได้เป็นขอ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เท่านั้น

หากแต่ยังเป็นบทเรียนของนักการเมือง เป็นบทเรียนของนักเคลื่อนไหวทางการเมืองที่คิดจะต่อยอดผลสำเร็จทางการเมือง

เหมือนกับที่พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยต่อยอดจากการเคลื่อนไหวก่อนรัฐประหารเดือนกันยายน 2549

มาเป็น”พรรคการเมืองใหม่”

ขณะที่ กปปส.ต่อยอด “มวลมหาประชาชน”ที่สร้างปรากฏการณ์ใหญ่หลวงก่อนรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557

มาเป็น”พรรครวมพลังประชาชาติไทย”

เท่ากับสะท้อนให้เห็นว่ามวลชนของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย มิได้เป็นพื้นฐานให้กับพรรคการเมืองใหม่

เท่ากับสะท้อนให้เห็นว่ามวลชนของ กปปส.หรือที่เรียกว่ามวลมหาประชาชน มิได้เป็นเอกภาพให้กับพรรครวมพลังประชาชาติไทย

ชะตากรรมของพรรคการเมืองใหม่เป็นอย่างไร ชะตากรรมของพรรครวมพลังประชาชาติไทยก็เป็นอย่างนั้น

จะทำความเข้าใจต่อลักษณะไหลเลื่อนแปรเปลี่ยนของมวลชน ต้องศึกษาจากกรณีของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยและกรณีของ กปปส.

นั่นก็คือ ความสัมพันธ์ระหว่างมวลชนกับพรรค

การเข้าร่วมการชุมนุมเป็นเงื่อนไขหนึ่ง สภาพการณ์หนึ่ง มิได้หมายความว่าจะลงคะแนนเสียงให้ในการเลือกตั้ง

บทเรียนนี้สำคัญต่อ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ

เกาะติดข่าวการเมืองข่าวเลือกตั้ง แค่กดเป็นเพื่อนกับไลน์@ข่าวสด ที่นี่
เพิ่มเพื่อน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน