นายกฯ คนนอก : บทบรรณาธิการ

นายกฯ คนนอก – รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 กำหนดว่าคนที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีได้ ต้องอยู่ใน “บัญชีว่าที่นายกรัฐมนตรี” ที่เสนอโดยพรรคการเมืองที่ส่งผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

จะต้องเสนอรายชื่อบุคคลที่จะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของพรรค และยื่นต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ไม่เกินพรรคละสามรายชื่อก่อนวันปิดรับสมัครเลือกตั้ง

ขณะเดียวกันก็ไม่ได้บังคับว่าบุคคลที่อยู่ใน “บัญชีนายกรัฐมนตรี” ของแต่ละพรรคการเมือง จะต้องลงสมัครรับเลือกตั้งเพื่อเป็นส.ส. หรือจะต้องเป็นสมาชิกของพรรคการเมืองที่เสนอชื่อตัวเองเข้าไปด้วย

ดังกรณีบัญชีรายชื่อนายกรัฐมนตรีของพรรคพลังประชารัฐ

แต่รัฐธรรมนูญฉบับนี้ เปิดช่องทางให้มี “นายกรัฐมนตรีคนนอก” ได้ด้วย โดยที่ไม่ต้องมา จากบัญชีรายชื่อนายกรัฐมนตรีที่เสนอโดยพรรค การเมืองเช่นกัน

ในบทเฉพาะกาลมาตรา 272 กำหนดไว้ว่าหากหลังการเลือกตั้งรัฐสภาไม่สามารถเลือกนายกรัฐมนตรีจากบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองเสนอไว้ก่อนการเลือกตั้งได้เลย

ก็ให้สมาชิกรัฐสภาไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 หรือ 500 คนจากจำนวนเต็ม 750 คน ลงมติเพื่อเปิดทางให้เสนอชื่อบุคคลอื่นที่ไม่ได้อยู่ในบัญชีว่าที่นายกฯ ของพรรคการเมืองให้มาเป็นนายกรัฐมนตรีได้

เป็นอีกช่องที่เปิดทางให้นายกรัฐมนตรีคนนอกเข้ามา

อย่างไรก็ตาม หลังการเลือกตั้งเสร็จสิ้นลง พรรคการเมืองที่ได้จำนวนเสียงสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมากเป็นอันดับที่ 1 ย่อมมีความชอบธรรมที่จะรวบรวมเสียงจัดตั้งรัฐบาล

บุคคลที่จะมาเป็นนายกรัฐมนตรีก็ต้องมาจากคนใดคนหนึ่งใน 3 รายชื่อที่เสนอต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง และใช้รณรงค์หาเสียงไว้กับประชาชนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งที่ผ่านมา

เหตุผลเนื่องจากการเลือกตั้งเป็นช่องทางเดียวที่จะทำให้นักการเมืองจะมีจุดเชื่อมโยงกับประชาชน และต้องมีความรับผิดชอบต่อประชาชนตามพันธสัญญาที่ออกมาระหว่างหาเสียง

ยกเว้นมีความจำเป็นจริงๆ ถ้าไม่เช่นนั้นแล้วหากไม่มีเหตุผลเหมาะสมเพียงพอที่จะต้องใช้ช่องทางบทเฉพาะกาล เพื่อให้นายกรัฐมนตรีคนนอก จะไม่มีความสง่างามและยึดโยงกับประชาชน แม้ว่าจะได้รับเลือกจากรัฐสภาก็ตาม

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน