แก้ความรุนแรง

คอลัมน์ บทบรรณาธิการ

บทบรรณาธิการ – ช่วงเวลาฉลองปีใหม่ไทยและวันครอบครัว เกิดคดีอาชญากรรมสะเทือนขวัญ พ่อเลี้ยงสังหารลูกเลี้ยงที่ตั้งครรภ์เสียชีวิต ตอกย้ำถึงภัยความรุนแรงในครอบครัวที่มีคดีบ่อยครั้ง

ส่วนอีกหลายๆ คดี ระบุได้ว่าเกิดจากสาเหตุ หึงโหด และแค้นที่อีกฝ่ายไม่คืนดี รวมถึงที่เหยื่อเป็นผู้ใกล้ชิดและรับเคราะห์แทนเป้าหมาย

ข้อมูลจากศูนย์พึ่งได้ กระทรวงสาธารณสุข บันทึกสถิติเด็กและสตรีที่ถูกกระทำรุนแรง ระหว่างปี 2547-2561 มีจำนวน 247,480 ราย ส่วนใหญ่ยังเป็นการถูกกระทำจากคนใกล้ชิด อีกทั้งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี

ความพยายามแก้ปัญหาทางสังคมที่ซับซ้อนนี้ยังไม่มีมาตรการที่ชัดเจน อาจเพราะเป็นเรื่องที่ต้องอาศัยการเรียนรู้และปลูกฝังความคิดด้านสิทธิมนุษยชน และความเท่าเทียมของมนุษย์

ในระดับรัฐบาล กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นหน่วยงานที่ต้องรับมือปัญหานี้มากที่สุด

ทางกระทรวงเองระบุว่า พยายามรณรงค์ให้สังคมตระหนักถึงปัญหานี้ เช่น จัดงานวันแห่งครอบครัว ประจำปี 2562 ด้วยแนวคิด “รวมพลังครอบครัวไทย ไร้ความรุนแรง”

ทั้งสร้างเครือข่ายการทำงานด้านครอบครัวระดับตำบล ในรูปแบบศูนย์พัฒนาครอบครัวในชุมชน (ศพค.) เป็นศูนย์กลางสำหรับการแนะนำปรึกษา เฝ้าระวัง สำรวจข้อมูล ป้องกัน แก้ไขปัญหาของครอบครัวในชุมชน และประสานงานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

มุ่งป้องกันความรุนแรง และสร้างเจตคติไม่ยอมรับ ไม่นิ่งเฉย ไม่กระทำรุนแรง

“ปัจจุบัน ศพค. มีจำนวน 7,133 ศูนย์ และอยู่ระหว่างการยกระดับเป็นศูนย์ปฏิบัติการเพื่อป้องกันการกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัวระดับตำบล (ศปก.ต.) จำนวน 536 ศูนย์ ใน 76 จังหวัด

รวมทั้งการจัดตั้งโรงเรียนครอบครัวเพื่อส่งเสริมความเข้มแข็งของสมาชิกครอบครัว และปรับปรุงพ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ.2550 ให้ครอบคลุมทุกมิติ

อย่างไรก็ตาม การแก้ปัญหานี้จะปล่อยให้พม.เดินหน้าไปลำพังไม่ได้ เพราะความรุนแรงในครอบครัวนั้นมีปัจจัยมาจากด้านเศรษฐกิจและการเมืองด้วย

หากพฤติกรรมอำนาจนิยมในระดับรัฐยังกดขี่ผู้คนอยู่ จะเป็นเรื่องยากที่จะแก้ไขปัญหาการใช้ความรุนแรงที่ไม่เคารพผู้อื่นไปทั่ว ทุกระดับ

 

อ่านข่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน