คอลัมน์ บทบรรณาธิการ

การพิจารณาถึงความคืบหน้าในการปฏิรูปตลอดช่วงเวลานับจากปี 2557 เป็นประเด็นที่พูดถึงกันบ่อยในช่วงนี้ หลังจากมีนักวิชาการเปิดเผยผลการวิเคราะห์วิจารณ์

ปฏิกิริยาจากคนในแม่น้ำ 5 สาย มีทั้งรับฟังและตอบโต้ด้วยความไม่เห็นด้วย เพราะมาจากมุมมองของแต่ละกลุ่มแต่ละคน

แต่สาระของการถกเถียงทั้งหมดนี้ยังไม่อาจประเมินได้ว่า จริงๆ แล้วประชาชนคนส่วนใหญ่ของประเทศคิดอย่างไร

แม้ว่าปัจจัยสำคัญของการปฏิรูปต้องมาจากแรงกระตุ้นของประชาชนจำนวนมากที่ต้องการเห็นการปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น

มีความเห็นหนึ่งของนักวิชาการว่า เมืองไทยไม่มีวัฒนธรรมที่จะร่วมมือกันแก้ปัญหาใหญ่ด้วยตัวเอง จึงอาจทำให้ประเทศต้องเดินไปตามบุญตามกรรมโดยไม่มีการปฏิรูป

ส่วนสมาชิกในสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปฯเสนอมุมมองว่า สปท.ได้ทำข้อเสนอไปมากมายแล้ว แต่งานปฏิรูปมีเป็นร้อยเรื่อง และไม่สามารถแก้ได้แบบพลิกฝ่ามือ โดยเฉพาะการแก้ปัญหาด้านการเมือง

พร้อมระบุว่าการทำงานต้องเริ่มจากปัญหาที่ติดลบ หยั่งรากลึก เป็นรากเหง้าของปัญหาที่เกิดขึ้นมายาวนาน เช่น ปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่น แสวงประโยชน์ แก่งแย่งชิงอำนาจ

ความเข้าใจดังกล่าวนี้ไม่อาจตัดสินได้ว่าถูกหรือผิด แต่สิ่งที่ยังคงชัดเจนตั้งแต่ต้นจนถึงปัจจุบันก็คือการปฏิรูปไม่อาจสัมฤทธิผลได้ หากไร้การผลักดันและเห็นชอบร่วมกันของคนหมู่มากในสังคม

การตั้งประเด็นว่าการปฏิรูปจนถึงขณะนี้มีความคืบหน้ามากน้อยเพียงใด จึงทำได้เพียงการคิดอยู่ในกรอบแคบๆ

รวมถึงการสร้างความสบายใจด้วยการเปรียบเทียบสถานการณ์ปัจจุบันกับสถานการณ์ก่อนการรัฐประหาร ว่ามีความสงบเรียบร้อยตามกรอบการใช้กฎหมายเพื่อควบคุมความเคลื่อนไหวและการแสดงความเห็นทางการเมือง

แต่การสร้างโครงข่ายขนาดใหญ่สำหรับการปฏิรูปที่ครอบคลุมคนทั้งประเทศเพื่อร่วมกันผลักดันให้เป็นรูปธรรมนั้นยังคงไม่แน่ชัด แม้จะมีการริเริ่มวางแบบแผนไว้ แต่ก็ไม่แน่ชัดว่าจะสานต่อการปฏิรูปที่จะใช้เวลายาวนานอย่างไร

การประเมินผลงานการปฏิรูปจึงยัง ทำไม่ได้จนกว่าจะมีการปฏิรูปโดยประชาชนอย่างแท้จริง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน