คอลัมน์ รายงานพิเศษ

จากกรณีศาลฎีกาได้ส่งร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ให้กรธ.ประกอบการพิจารณาจัดทำกฎหมายลูก ซึ่งมี 71 มาตรา 7 หมวด และบทเฉพาะกาล มีเนื้อหาสำคัญนอกจากให้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองตัดสินแล้ว ยังบัญญัติให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองยุติการปฏิบัติหน้าที่ทันที หากศาลรับฟ้อง, เมื่อศาลรับฟ้องแล้วห้ามไม่ให้ศาลอนุญาตให้ถอนฟ้อง, การไม่นับอายุความหากจำเลยหรือผู้ถูกกล่าวหาหลบหนีคดี รวมทั้งหมวด 6 เป็นเรื่องใหม่คือการอุทธรณ์คำพิพากษา ให้ดำเนินการได้ภายใน 30 วันนับแต่มีคำพิพากษา แต่จะอุทธรณ์ได้ต่อเมื่อจำเลยมาแสดงตนต่อเจ้าพนักงานของศาลเท่านั้น มิเช่นนั้นศาลจะไม่รับอุทธรณ์

พรรคการเมืองต่างๆ และอดีตส.ว.ได้สะท้อนมุมมองดังนี้

วิรัตน์ กัลยาศิริ

หัวหน้าทีมกฎหมายพรรคประชาธิปัตย์

การออกแบบกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาต้องคำนึงถึงทุกฝ่าย ไม่ว่าศาล โจทก์หรือจำเลย และตามหลักสากลทั่วโลกต้องถือว่าจำเลยเป็นผู้บริสุทธิ์ จนกว่าศาลพิจารณาถึงที่สุดจนมีคำวินิจฉัย

ดังนั้น ต้องชั่งน้ำหนักให้มีความพอดี อย่าตึงหรือหย่อนเกินไป และต้องคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดคือความเป็นธรรมกับผู้ที่ถูกกล่าวหา เพราะเราออกแบบให้ศาลคดีนี้ เป็นศาลที่มีอำนาจหน้าที่พิจารณาคดีทุจริต ซึ่งต้องมีความรอบคอบ รัดกุมและเป็นธรรม

เมื่อป.ป.ช.ส่งฟ้องจำเลยคนใด แค่จำเลยคนนั้นพักงานไม่ปฏิบัติหน้าที่ก็น่าจะ เพียงพอแล้ว เพราะเราจะมั่นใจได้อย่างไรว่าสำนวนของ ป.ป.ช. ไม่มีข้อบกพร่อง ไม่มีอคติ ไม่เอนเอียงเพราะ ป.ป.ช. ก็คือคน

นอกจากนี้ควรให้อำนาจศาลนี้พิจารณาพิพากษาข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ซึ่งเป็นตัวการสำคัญในการร่วมกันหรือแบ่งหน้าที่กับนักการเมืองที่ทุจริต จึงเห็นว่าการดำเนินการควรรวมถึงการจัดการกับข้าราชการชั้นผู้ใหญ่และข้าราชการอื่นที่ร่วมกันสมทบกันด้วย

ส่วนการอุทธรณ์โดยให้จำเลยต้องมาแสดงตนต่อเจ้าพนักงานศาลเท่านั้น ถือว่าเหมาะสมกับสถานการณ์ในปัจจุบัน เพราะการที่บุคคลใดจะมาศาลต้องมาด้วย มือสะอาด ไม่ใช้ศาลเป็นเครื่องมือทางการเมืองหรือในทางใดๆ ดังนั้น เมื่อประสงค์จะใช้สิทธิอุทธรณ์ จำเลยก็ควรมาแสดงตนต่อเจ้าหน้าที่ศาล ซึ่งถือว่ามีเหตุมีผลเหมาะสมทุกประการ จึงเห็นด้วยว่าการอุทธรณ์จำเลยจะต้องมาแสดงตนต่อศาล รวมถึงการไม่นับอายุความในระหว่างที่จำเลยหลบหนีก็ถือว่าเหมาะสม จะช่วยแก้ปัญหาการทุจริตได้

อย่างไรก็ตาม ไม่เห็นด้วยกับการใช้ศาลเดียวตัดสิน ควรใช้ 2 ศาลตามหลักสากล ซึ่งจะทำให้นานาประเทศยอมรับกระบวนการยุติธรรมไทยมากยิ่งขึ้น และไม่ถูกครหาว่าตัดสินลำเอียง เล่นพรรคเล่นพวก

ขณะที่การบัญญัติห้ามถอนฟ้องคดีการเมืองนั้นถือเป็นการละเมิดสิทธิจำเลย เพราะถ้าเกิดข้อผิดพลาดไม่ว่ากระบวนการใด จะต้องแก้โดยการถอนฟ้อง ก็ควรให้มีสิทธิถอนฟ้องได้ และในการถอนฟ้องหากไม่มีเหตุผล เดี๋ยวนี้สื่อออนไลน์เร็วมาก ใครก็ตามที่กระทำผิดก็จะถูกถล่ม

ดังนั้น การเปิดช่องไว้ให้ถอนฟ้อง ไม่ใช่ว่าพันคดีหมื่นคดีจะถอนฟ้องได้ แต่ควรเขียนกันไว้เพื่อเหตุจำเป็นในอนาคต ที่สำคัญ ต้องไม่ปิดกั้นจำเลยที่จะนำพยานเข้าสืบเพื่อหักล้างข้อกล่าวหาอย่างเต็มที่ เพื่อให้จำเลยสบายใจได้ว่าศาลพิจารณาพยานหลักฐานทุกฝ่ายอย่างครบถ้วน

สมศักดิ์ ปริศนานันทกุล

ที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา

การกำหนดให้ใช้ศาลเดียวตัดสินคดีของนักการเมืองนั้น ผมคิดว่าไม่เหมาะ อย่างน้อยจะต้องมีศาลหนึ่งที่สามารถอุทธรณ์ได้ เพราะการตัดสินในกระบวน การยุติธรรมยังต้องมี 3 ศาลเลย กระบวนการอย่างนี้น่าจะมี 2 ศาล เพื่อให้มีโอกาสหาเอกสารเพิ่มเติมมาสู้ เป็นการเปิดโอกาส

ส่วนการบัญญัติว่าศาลห้ามถอนฟ้องนั้น ถือเป็นเรื่องที่ดี ในเมื่อผู้ถูกฟ้องเป็นบุคคลสาธารณะ เป็นคนของสังคม ย่อมถูกประโคมข่าวไปอยู่แล้ว หากถอนฟ้องเขาไม่มีโอกาสได้พิสูจน์ตัวเอง ดังนั้นเมื่อดำเนินการแล้วก็ต้องให้ถึงที่สุด ให้เขาได้สู้ตามกระบวนการให้เสร็จสิ้นจะดีกว่า เพื่อให้เขาได้เรียกเกียรติภูมิของเขากลับคืนมาได้ หากจู่ๆ ถอนฟ้องอาจเกิดคาใจผู้คนอีกว่าทำไมถอนฟ้อง มีเหตุอันใด ทำไมไม่ปล่อยให้เป็นไปตามกระบวนการ ซึ่งจะดีต่อทุกฝ่าย

การกำหนดไม่นับอายุความหากผู้ถูกกล่าวหาหรือจำเลยหลบหนี จะช่วยแก้ปัญหาการทุจริตหรือการทำผิดในหน้าที่ของนักการเมืองได้หรือไม่นั้น เห็นว่าเป็น ปลายเหตุ แต่การกำหนดตั้งแต่หนีไปนั้นก็ดีอย่างหนึ่งเพราะไม่สามารถกลับมาได้

แต่การกำหนดไม่มีอายุความ จะทำให้คนที่จะหลบหนีนั้นเกรงกลัวและไม่กล้าทำอย่างนั้น ก็ต้องมาสู้กันตามกระบวนการ ถูกก็ถูก ผิดก็ผิด แต่ไม่ได้หมายความว่าถ้าอายุความไม่หมดแล้วจะไม่เกิดการทุจริต มันอยู่ที่สันดานคน ถ้าคนมีสันดานโกงยังไงก็โกง ดังนั้น ต้องดูที่ต้นเหตุมากกว่าว่าจะทำอย่างไรไม่ให้เกิดการโกง ถ้าหลบหนี ไม่มาต่อสู้คดี ก็ดูว่าทรัพย์สินที่เหลืออยู่ยึดทรัพย์ได้หรือไม่

นอกเหนือจากข้าราชการการเมืองแล้วควรรวมถึงข้าราชการประจำด้วย เพราะเรื่องทุจริตต้องแก้ทั้งระบบฝ่ายการเมือง ฝ่ายข้าราชการประจำ ฝ่ายองค์กรอิสระ ต้องทำให้เหมือนกัน

ส่วนการอุทธรณ์คำพิพากษาที่ให้ดำเนินการภายใน 30 วันนับแต่มี คำพิพากษาของศาลนั้น ถือว่าเหมาะสม 30 วันน่าจะเพียงพอ แต่ปัญหาคือ เมื่ออุทธรณ์แล้วกระบวนการคือต้องพิจารณาโดยเร็ว อย่าไปดึงเรื่องหรือทำให้เนิ่นนานไป เพราะปล่อยเรื่องไว้นานคงไม่เกิดผลดีต่อทั้งสองฝ่าย จึงต้องกำหนดระยะเวลาให้ชัดเจน

ชูศักดิ์ ศิรินิล

ประธานคณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย

ผมไม่เห็นด้วยกับกรณีที่บัญญัติว่าหากศาลประทับรับฟ้องแล้ว ห้ามไม่ให้ศาลอนุญาตให้ถอนฟ้อง เพราะหากพิจารณาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 35 บัญญัติว่าให้เป็นดุลพินิจของศาลว่าจะอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้ถอนฟ้องได้อยู่แล้ว และไม่มีเหตุผลใดกำหนดบทบังคับห้ามมิให้ศาลใช้ดุลพินิจดังกล่าว

ดังนั้น ควรถือหลักการเดียวกัน เพราะคดีที่ฟ้องร้องกันนั้น อาจมีเหตุผลบางประการที่มีเหตุให้มีการถอนฟ้องคดีได้

ส่วนข้อสังเกตว่าการห้ามถอนฟ้องถือเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลหรือไม่นั้น คงไปพิจารณาถึงขั้นนั้นไม่ได้ เพราะการฟ้องคดีต่อศาลฎีกาฯ ถือเป็นความผิดอาญาแผ่นดิน ซึ่งตามปกติไม่ใช่จะถอนฟ้องได้ง่ายๆ ดังนั้น ตามความเหมาะสมแล้วควรให้เป็นดุลพินิจของศาลเช่นเดิม จึงเป็นเรื่องที่ถูกต้องแล้ว

ข้อเสนอที่จะไม่นับอายุความผู้ถูกกล่าวหาหรือจำเลยที่หลบหนีคดีที่ขึ้นศาลฎีกาฯ เห็นว่าควรพิจารณาถึงหลักการพื้นฐานของการกำหนดอายุความฟ้องคดีและคดีที่อยู่ในอำนาจของศาลฎีกาฯ ประกอบกัน เพราะประเทศต่างๆ โดยเฉพาะประเทศที่ใช้ประมวลกฎหมาย จะกำหนดเรื่องอายุความฟ้องคดีจะใช้หลักการเดียวกันตามแนวคิด “กฎแห่งการลืม” คือเมื่อเกิดคดีขึ้น การนำหลักฐานต่างๆ ในที่เกิดเหตุมาพิสูจน์ความผิดโดยเร็วจะได้ผลดีที่สุด เมื่อเวลาผ่านไปพยานหลักฐานและความทรงจำในเหตุการณ์ก็อาจมีความผิดพลาดขึ้นได้ และนักกฎหมายส่วนใหญ่เห็นว่าการไม่สามารถนำตัวผู้กระทำความผิดมาฟ้องคดีจนพ้นอายุความ ย่อมเป็นการทรมานแก่ผู้กระทำความผิด ถือเป็นการลงโทษอย่างหนึ่ง จึงไม่ควรลงโทษซ้ำอีก

เมื่อพิจารณาคดีที่อยู่ในอำนาจศาลฎีกาฯ มีทั้งคดีที่ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ โดยไม่มีเรื่องการทุจริต และกรณีมีการทุจริต เมื่อคำนึงถึงความร้ายแรงของการกระทำเทียบกับความผิดฐาน ฆ่าคนตายหรือความผิดอื่นๆ ที่ร้ายแรง แต่มีการกำหนดอายุความไว้ ก็จะเกิดความลักลั่นในกระบวนการยุติธรรมที่ปฏิบัติต่อจำเลยได้

อีกทั้งเรื่องการทุจริต ยังมีวิธีดำเนินการทางแพ่งเพื่อนำทรัพย์สินมาเป็นของรัฐ ไม่ว่าเรื่องการร่ำรวยผิดปกติหรือการฟอกเงินได้อยู่แล้ว จึงไม่จำเป็นถึงขั้นต้องกำหนดให้ไม่มีอายุความในการฟ้องคดี

ส่วนที่จำเลยต้องมายื่นอุทธรณ์ภายใน 30 วันนั้น มองว่าเมื่อศาลมีคำพิพากษาแล้วแต่คดียังไม่ถึงที่สุด ยังถือว่าจำเลยเป็นผู้กระทำความผิดมิได้ ดังนั้น จำเลยควรมีสิทธิเช่นเดียวกับบุคคลทั่วไปที่จะตั้งตัวแทนหรือทนายความเพื่อมายื่นอุทธรณ์แทนได้ และการอุทธรณ์ก็เป็นเรื่องของการคัดค้าน โต้แย้งดุลพินิจของศาลชั้นต้น โดยไม่มีกฎหมายกำหนดว่าต้องพิจารณาต่อหน้าจำเลย

การจำกัดสิทธิการอุทธรณ์โดยให้จำเลยมาปรากฏตัวต่อศาล อาจขัดต่อ สิทธิในกระบวนการยุติธรรมของจำเลยที่ไม่เปิดโอกาสให้จำเลยได้ต่อสู้คดี อย่างเพียงพอได้

ขณะที่การใช้ศาลเดียวในการพิจารณาคดี เท่าที่ศึกษายังไม่เคยเห็นประเทศเสรีประชาธิปไตยประเทศใดใช้ศาลเดียวพิจารณาและพิพากษาคดี เพราะหลักการสากล จำเลยควรได้รับสิทธิต่อสู้คดีได้อย่างเต็มที่และมีสิทธิที่จะอุทธรณ์คำพิพากษาต่อศาลที่สูงกว่า

การใช้ศาลเดียวพิจารณาคดีจึงเป็นดาบสองคม เป็นทั้งคุณและโทษ เพราะการพิจารณาคดีโดยใช้ระบบไต่สวน โดยศาลเป็นผู้พิจารณากำหนดการไต่สวนพยานหลักฐาน ระยะเวลา และการซักถามพยาน โดยยึดสำนวนของ ป.ป.ช.เป็นหลัก ทำให้จำเลยสูญเสียสิทธิและโอกาสต่อสู้คดี ถ้าไม่เปิดโอกาสให้อุทธรณ์คดีได้ จึงเป็นการละเมิดต่อสิทธิของจำเลยในคดีอาญาอย่างชัดเจน

การเริ่มต้นคดีในศาลฎีกาฯ ควรเริ่มต้นฟ้องที่ศาลอุทธรณ์ เมื่อศาลมีคำพิพากษาแล้วจึงให้ฎีกาไปที่ศาลฎีกาได้ โดยไม่มีข้อจำกัดในการฎีกา และกรณีที่อัยการสูงสุดมีความเห็นสั่งไม่ฟ้องแล้วก็ไม่ควรให้ ป.ป.ช. มีอำนาจฟ้องคดีได้เองอีกเพราะจะทำให้กระบวนการยุติธรรมไม่เป็นไปในระบบเดียวกัน

อย่างไรก็ตาม ผมเห็นว่า เพื่อให้กระบวนการยุติธรรมทางอาญาเป็นไปในระบบและแนวทางเดียวกัน คดีของศาลฎีกาฯก็ควรมีหลักการและแนวทางเดียวกับกระบวนพิจารณาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาและใช้อายุความตามกฎหมายอาญาเช่นเดิม

สิงห์ชัย ทุ่งทอง

อดีตส.ว.อุทัยธานี

ผมเห็นด้วยว่าเมื่อศาลรับฟ้องคดีจากป.ป.ช.ที่ชี้มูลแล้วและผ่านกระบวนการตรวจสอบเบื้องต้นแล้ว ให้นักการเมืองหรือข้าราชการการเมืองพ้นจากตำแหน่งหรือยุติบทบาททันที ไม่เช่นนั้นอาจส่งผลต่อกระบวนการตรวจสอบข้อเท็จจริงได้ แต่จะต้องมีกระบวนการตรวจสอบคดี กระบวนการสืบสวนข้อเท็จจริงให้เร็วกว่าคดีปกติ ซึ่งส่วนตัวยังเห็นด้วยกับการให้แยกศาลเฉพาะคดีทุจริตทางการเมืองออกมา

นักการเมืองจะต้องยอม รับในประเด็นนี้ ในเมื่อเข้ามาเพื่อทำงานสาธารณะ เป็นการเสนอตัวมา สิ่งที่ตามมาคือจะต้องมีความเสียสละ ดังนั้น คดีต่างๆ ที่เกิดขึ้นจะให้เป็นไปตามกระบวนการปกติแบบ ชาวบ้านทั่วไปคงไม่ได้ แต่ต้องมีกระบวนการเฉพาะ

สรุปคือผมเห็นด้วยกับการที่เมื่อป.ป.ช.ชี้มูลแล้วส่งให้ศาล เมื่อศาลรับฟ้อง และได้ตรวจสอบ จากนั้นจะต้องยุติบทบาททันที

นอกจากนี้ ผมยังเห็นด้วยกับการกำหนดไม่นับอายุความผู้ถูก กล่าวหาหรือจำเลยที่หลบหนี โดยคาดหวังว่าจะช่วยลดคดีทุจริตได้ เพราะเชื่อว่าผู้ที่จะกระทำผิดจะเกิดความกังวล ยิ่งไปกว่านั้น กรณีที่ผู้กระทำผิดเสียชีวิตไปแล้ว ควรกำหนดให้ภรรยา สามี หรือทายาท ควรต้องรับผิดชอบความผิดในส่วนนั้นด้วย เพราะผมไม่เห็นด้วยว่าพอเสียชีวิตแล้วก็จบกันไป หรืออาจมีการโอนทรัพย์สินไปยังบุคคลอื่น ลูกเมียยังสุขสบาย จึงควรกำหนดอะไรก็ตามที่ให้ทายาทต้อง ร่วมแสดงความรับผิดชอบ แต่จะรับผิดชอบอย่างไร หรือมากน้อย แค่ไหน ก็ต้องผ่านกระบวนการพิสูจน์ข้อเท็จจริงว่าเป็นทรัพย์สินที่ได้มาอย่างไร

ส่วนในบทบัญญัติควรรวมไปถึงข้าราชการประจำด้วยหรือไม่นั้น ผมเห็นด้วยแน่นอนที่จะให้หมายรวมถึง ต้องใช้คำว่าทุกองคาพยพ พร้อมทั้งเห็นด้วยในประเด็นการอุทธรณ์คำพิพากษา ว่าให้ดำเนินการ ได้ใน 30 วัน แต่จำเลยต้องมาแสดงตนต่อเจ้าพนักงานของศาลเท่านั้น เพราะแน่นอนว่าจำเลยจะต้องมาด้วยตนเอง

ขณะที่การบัญญัติห้ามถอนฟ้องคดีการเมืองเป็นการละเมิดสิทธิหรือไม่นั้น ผมมองว่าไม่เป็นการละเมิด เพียงแต่ต้องนิยามให้ชัดเจนว่าเป็นคดีนักการเมือง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน