ไม่ว่ากรณีที่มีผู้สมัครส.ส.พรรคเศรษฐกิจใหม่ ออกมายื่นต่อกกต.ขอให้ยุบพรรคของตน

สายตาก็ทอดมองไปยัง “พลังประชารัฐ”

ไม่ว่ากรณีที่มีหัวหน้าพรรคการเมืองบางพรรคออกมาเสนอให้มีการขยายบทเฉพาะกาล มาตรา 270 ของรัฐธรรมนูญให้การประชุมรัฐสภาครอบคลุมถึงร่างพรบ.งบประมาณรายจ่าย

สายตาก็ทอดมองไปยัง “พลังประชารัฐ”

ไม่ว่ากรณีทีมีการแจ้งความกล่าวหาต่อ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ นายปิยบุตร แสงกนกกุล ร้ายแรงถึงขั้นผิดประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 ร้ายแรงถึงขั้นหมิ่นศาลรัฐธรรมนูญ

สายตาก็ทอดมองไปยัง “พลังประชารัฐ”

เหมือนกับพรรคพลังประชารัฐกำลังตกเป็น “จำเลย” ในทางการเมืองจากสถานการณ์ที่ผลการเลือกตั้งออกมาอย่างผิดไปจากพิมพ์เขียวที่วางเอาไว้ตั้งแต่รัฐประหารเดือนพฤษภาคม 2557

ที่เด่นชัดก็คือ พรรคเพื่อไทยยังเป็นพรรคอันดับ 1 ได้รับเลือกตั้งจำนวนมากที่สุด

พรรคพลังประชารัฐกลายเป็นพรรคที่ได้รับเลือกอันดับ 2

ยิ่งกว่านั้น พรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทย พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคชาติพัฒนา ซึ่งเป็นพรรคเก่าแก่ยังพ่ายแพ้ให้แก่พรรคอนาคตใหม่

กลายเป็นพรรคอันดับ 4 อันดับ 5 และอันดับ 6

หากพรรคพลังประชารัฐต้องการเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล ด้านหนึ่ง จะต้องรวบรวมเสียงให้ได้เกินกว่า 251 ด้านหนึ่ง จะต้องบั่นทอนหรือสร้างความรวนเรให้กับอีกปีกหนึ่ง

ไม่ว่าจะเป็นพรรคเพื่อไทย ไม่ว่าจะเป็นพรรคอนาคตใหม่หรือแม้กระทั่งพรรคเศรษฐกิจใหม่

นั่นแหละจึงเกิดกรณีแล้วกรณีเล่าในทางการเมือง

เหตุใดกรณีแล้วกรณีเล่าจึงก่อให้เกิดความสงสัยต่อพรรคพลังประชารัฐ ทั้งๆที่ได้รับการปฏิเสธอย่างแข็งขันจากพรรคพลังประชารัฐ คำตอบเริ่มจากรากฐานของพรรคพลังประชารัฐ

พรรคพลังประชารัฐเป็นพรรคเครือข่ายของ คสช. เริ่มต้นการสร้างพรรคโดยอิทธิพลของ คสช. โดยเฉพาะอย่างยิ่งบทบาทในการใช้ “พลังดูด” และการบั่นทอนพรรคการเมืองฝ่ายตรงกันข้าม

กลยุทธ์นี้จึงกลายเป็น “เอกลักษณ์”พรรคพลังประชารัฐ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน