คอลัมน์ รายงานพิเศษ

ประเด็นสิทธิมนุษยชนของไทยถูกพูดถึงอีกครั้ง หลังกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา เผยแพร่ รายงานสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนของประเทศต่างๆ ประจำปี 2559

ในส่วนของไทย สหรัฐมองว่าแม้การละเมิดสิทธิน้อยกว่าปีที่ผ่านมา แต่ยังมีการรายงานถึงการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่ในลักษณะเกินกว่าเหตุ และยังมีการตีกรอบการแสดงความคิดเห็น

ยังไม่เปิดกว้างเรื่องสิทธิมนุษยชน ไม่มีมาตรฐานในการดูแลเหยื่อค้ามนุษย์

และมองว่าสถานการณ์ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ยังน่าเป็นห่วง มีการจับกุมโดยพลการ ขณะเดียวกันสภาพเรือนจำ ก็แออัด

สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ

คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ

เห็นด้วยกับรายงานด้านสิทธิมนุษยชนที่สหรัฐเปิดเผยเรื่องการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่เกินกว่าเหตุต่อผู้ต้องหาคดีอาชญากรรมและการเมือง รวมถึงการแสดงความเห็นที่ถูกตีกรอบ เพราะเท่าที่เห็นกันอยู่ก็เป็นแบบนั้นจริงๆ

ในปีที่ผ่านมารัฐบาลทหารใช้อำนาจเกินขอบเขตหลายเรื่อง เช่น ปฏิบัติการต่อวัดพระธรรมกาย การจับกุมไผ่ ดาวดิน ซึ่งเป็นนักศึกษาคนหนึ่งที่แสดงความเห็น อาจถูกบ้างหรือผิดบ้างแต่การใช้อำนาจรัฐจับกุมคุมขังนักศึกษาที่ออกมาแสดงความเห็นย่อมถือว่าเกินกว่าเหตุอยู่แล้ว

คดีการเมืองจำนวนมากมีการจับกุมผู้ต้องหาทางการเมืองแต่กลับไปเล่นงานเป็นคดีอาญา ซึ่งถือว่าเป็นปัญหาใหญ่อย่างหนึ่งในการบริหารประเทศของรัฐบาลคสช. อีกทั้งสิทธิประกันตัวซึ่งเป็นสิทธิพื้นฐานของประชาชนก็กลับไม่ให้ประกันตัว

ผลที่ตามมาคือมีผู้ต้องหาจำนวนมากต้องติดคุกโดยไม่ได้รับการประกันตัว ในมุมของสิทธิมนุษยชนถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างแน่นอน และเมื่อคุกแน่นเกิดความแออัดสภาพภายในก็ไม่ดีเป็นแหล่งบ่มเพาะอาชญากรรม

ดังนั้น ปัญหาแบบนี้ถ้าเป็นไปภายใต้รัฐบาลระบบนี้ก็คง ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ เพราะหากพูดหรือแสดงความเห็นที่แตกต่างก็จะถูกจับกุม หรืออย่างน้อยที่สุดก็ถูกจับไปปรับทัศนคติ

ส่วนตัวยังเห็นด้วยกับรายงานที่ระบุการเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยมีอุปสรรค เพราะไม่ว่าจะเคลื่อนไหวอย่างไรก็โดนจับ นักศึกษาที่ออกมาเคลื่อนไหวโดนไม่รู้กี่คดีแล้ว เป็นอุปสรรคด้านสิทธิมนุษยชน

หากสถานการณ์ยังเป็นเช่นนี้แน่นอนว่าการเมืองไทยจะติดลบต่อไป และมีผลกระทบหลายอย่างแบบที่เป็นมาตลอดเกือบ 3 ปี เช่น การเจรจาการค้า เรื่องระหว่างประเทศหลายประเด็นซึ่งไม่มีแนวโน้มของการแก้ไข

ไม่เห็นว่าประชาธิปไตยที่สมบูรณ์จะเกิดเมื่อไรทำให้การคาดการณ์เป็นไปได้ยาก ก็จะยิ่งทำให้การเมืองไทยแย่ลง

ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี

ผอ.ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้

นโยบายของรัฐบาลไทยต่อสถานการณ์ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ตลอดระยะเวลา 4-5 ปีที่ผ่านมาเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก เพราะยุทธศาสตร์และแผนงานที่ส่วนกลางกำหนดมุ่งเน้นการป้องกัน ควบคุม และระมัดระวังไม่ให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนเพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้ก็เพื่อป้องกันไม่ให้ปัญหาความไม่สงบยกระดับไปสู่ระดับสากล

อย่างไรก็ตามปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนก็ยังมีอยู่ แม้จะลดน้อยลงจากเดิมแล้วก็ตามแต่สภาพปัญหาถือว่าไม่ได้ขยางวงกว้างเหมือนที่ผ่านมา บางกรณีเกิดจากการทำหน้าที่ ผิดพลาดที่อาจเกิดจากความเข้าใจคลาดเคลื่อน ซึ่งองค์กร สิทธิมนุษยชนในพื้นที่ยังพบข้อมูลส่วนนี้อยู่ จึงอาจเป็น ส่วนหนึ่งสหรัฐออกรายงานยังห่วงกังวลปัญหานี้ต่อพื้นที่ชายแดนใต้

ในระยะยาวอยากให้รัฐบาลมีแผนงานเพื่อแก้ปัญหาด้านนี้ให้ชัดเจน ในระยะสั้นก็ควรยกระดับการคุ้มครองด้านสิทธิประชาชนในพื้นที่ให้มากขึ้น เพื่อลดระดับความขัดแย้งระหว่างประชาชนกับเจ้าหน้าที่รัฐ

มุ่งเน้นไปที่การคุ้มครองและให้โอกาสนักสิทธิมนุษยชน ในพื้นที่ได้ร่วมทำงานตรวจสอบ ลดการข่มขู่คุกคาม เพื่อให้การเก็บข้อมูลเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เพราะนักสิทธิมนุษยชนเปรียบเสมือนองค์กรกลางคอยทำหน้าที่เป็นฝ่ายที่ 3 ในการช่วยดูแลความไม่สงบ

สิทธิขั้นพื้นฐานโดย เฉพาะด้านการเข้าถึงสิทธิตามกระบวนการยุติธรรมตามปกติ คืออีกประเด็นที่ต้อง ให้ความสำคัญมากขึ้น แต่เงื่อนไขจากการใช้กฎหมายพิเศษอย่าง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และกฎอัยการศึกก็เอื้อให้เกิดการละเมิดสิทธิ เพราะให้อำนาจเจ้าหน้าที่ไว้อย่างกว้างขวาง จึงเป็นโจทย์สำคัญที่รัฐบาลต้องสร้างสมดุลในการปฏิบัติงาน และการคุ้มครองสิทธิประชาชน

แนวทางการแก้ไขอาจทำได้ด้วยการวางมาตรการในอนาคต หาช่องทางผ่อนปรนการใช้กฎหมายพิเศษให้เริ่มกลับเข้าสู่สถานการณ์ปกติ ใช้กฎหมายทั่วไปเข้ามาแทนที่ อย่าง พ.ร.บ.ความมั่นคง ที่เปิดช่องให้ผู้ต้องหาสามารถเข้าถึงสิทธิทางกระบวนการยุติธรรมตามปกติ

ยิ่งอยู่ในระหว่างการพูดคุยเพื่อสันติภาพมาตรการที่ควรนำมาใช้ควบคู่กันไปคือกระบวนการยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน (Transitional Justice) เพื่อเสริมสร้างบรรยากาศการคลี่คลายปัญหาความไม่สงบตามหลักสันติวิธี โดยกระบวนการนี้จะเกิดการตั้งคณะกรรมการกลางในการค้นหาความจริง คนผิดต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมตามปกติ พร้อมทั้งนำไปสู่ขั้นตอนของการอภัยโทษและการเยียวยา

ช่วงเวลาที่ผ่านมาประชาชนในพื้นที่ยอมรับการทำงาน ของภาครัฐมากขึ้น แม้แต่ภายใต้การนำของรัฐบาลทหาร ในตอนนี้ก็เพราะภาครัฐให้ความสำคัญต่อการไม่ละเมิดประชาชน

ดังนั้น หากมีการยกระดับการคุ้มครองสิทธิพื้นฐานของประชาชนให้มากขึ้น ทั้งในส่วนของกระบวนการยุติธรรม และลดความเข้มข้นของกฎหมายพิเศษลง ก็ช่วยให้บรรยากาศการพูดคุยสันติภาพมีประสิทธิภาพมากขึ้น ส่งผลให้สถานการณ์ความไม่สงบคลี่คลายลง

สุรพงษ์ กองจันทึก

ประธานมูลนิธิผสานวัฒนธรรม

รายงานที่สหรัฐ เสนอออกมานั้นคิดว่าเป็นการมองในแง่ให้ความหวัง อยากให้ไทยเดินหน้าต่อไป เนื่องจากใกล้ช่วงเวลาประกาศใช้รัฐธรรมนูญ และมีการเลือกตั้งแล้ว จึงอยากให้ไทยมีภาพในการพัฒนาด้านสิทธิมนุษยชนเพื่อนำไปสู่การเลือกตั้งในช่วงเวลาอันใกล้นี้

สภาพความเป็นจริงขณะนี้รัฐบาลยังคงควบคุมเรื่องสิทธิเสรีภาพและสิทธิมนุษยชนของประชาชน เราไม่ได้ดีขึ้นแต่อย่างใด

ช่วงเปลี่ยนผ่านที่จะมีรัฐธรรมนูญใหม่และมีการเลือกตั้ง รัฐบาลต้องผ่อนปรนทางกฎหมายในหลายเรื่องเพื่อให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการแสดงออกทางการเมืองมากขึ้น รวมถึงจะสร้างบรรยากาศของการปรองดองที่รัฐบาลกำลังผลักดัน

ส่วนเรื่องสิทธิมนุษยชนนั้น ปัญหาใหญ่คือเรื่องค้ามนุษย์ที่รัฐบาลยังไม่จริงจัง ในการแก้ปัญหา ทั้งยังบังคับใช้กฎหมายไม่ครอบคลุมเหยื่อค้ามนุษย์ รวมถึงการคุ้มครองที่ยังไม่มีประสิทธิภาพเท่า ที่ควร

สะท้อนได้อย่างชัดเจนว่าคนทำงานในด้านนี้ยังไม่ เข้าใจปัญหาที่เกิดขึ้น แต่ที่เห็นว่าดีขึ้นอย่างได้ชัดคือการแก้ปัญหาแรงงานเด็กที่รัฐบาลออกกฎหมายหลายฉบับขึ้นมาคุ้มครองแรงงานเด็กให้มีสภาพการทำงานที่ดีกว่าเดิม รวมถึงรับการคุ้มครองในแง่สิทธิมากขึ้น

สำหรับปัญหาในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ แม้ช่วง หลังสถานการณ์ความรุนแรงจะน้อยลงแต่ยังมีการบังคับ ใช้กฎหมายความมั่นคงอยู่หลายฉบับซึ่งกระทบต่อสิทธิเสรีภาพและสิทธิมนุษยชนต่อคนในพื้นที่ รัฐควรเลิกใช้กฎหมายมั่นคงในพื้นที่ และหากจะใช้ก็ให้ใช้เฉพาะในพื้นที่ที่เป็นพื้นที่สีแดงจริงๆ

ที่สหรัฐมองว่าการเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนใน ไทยยังมีปัญหา เพราะส่วนหนึ่งทหารยังไม่เข้าใจในเรื่องนี้ ยังมีความเข้าใจที่จำกัด อย่างการออก พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหาย ที่ถูกสนช.ตีกลับมา ทำให้มองได้ว่ายังไม่เข้าใจเรื่องสิทธิมนุษยชนทั้งที่เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่

สหรัฐเป็นประเทศใหญ่และเป็นคู่ค้าที่สำคัญของไทยซึ่งพึ่งพาการส่งออกเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจ รายงานชิ้นนี้อาจกระทบกับความสัมพันธ์ของ 2 ประเทศ และอาจส่งผลต่อการค้าการลงทุนและการส่งออกสินค้า และอาจส่งผลให้ไทยถูกตำหนิในเวทีนานาชาติด้วย

อังคณา นีละไพจิตร

กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.)

หลายเรื่องที่สหรัฐระบุเป็นเรื่องที่กรรมการสิทธิฯรับทราบและได้รับเรื่องร้องเรียนเพื่อให้ดำเนินการตรวจสอบอยู่ด้วย เช่นกัน อาทิ ประเด็นเสรีภาพของการแสดงความคิดเห็น การซ้อมทรมาน เป็นต้น

ส่วนที่ระบุว่าไทยไม่เปิดกว้างเรื่องสิทธิมนุษยชน ไม่มีมาตรฐานการดูแลคุ้มครองเหยื่อค้ามนุษย์นั้น ในส่วน ของการค้ามนุษย์เข้าใจว่ารายงานฉบับนี้ออกมาในช่วงที่ ไทยเองได้ปรับปรุงหลายอย่างไปแล้ว แต่ก็ยังมีข้อจำกัด ในหลายเรื่อง

ต้องยอมรับว่าเรื่องของการดูแลผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์เป็นเรื่องใหม่ มีผู้มาร้องเรียนต่อกรรมการสิทธิฯด้วย เช่น คนที่มาเป็นพยานไม่ได้รับการดูแล หรือคนที่ถูกนิยามว่า เป็นเหยื่อ

ส่วนที่ระบุว่าชายแดนภาคใต้เจ้าหน้าที่มีการละเมิดและใช้กำลังเกินกว่าเหตุและสภาพเรือนจำแออัดนั้น เรื่องเรือนจำแออัดไม่เฉพาะแค่จังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่เป็นปัญหาเรือนจำทั้งประเทศ

ด้วยความแออัดทำให้การดูแลผู้ต้องขังไม่ถูกต้องตาม หลักสากลเท่าที่ควร รัฐบาลโดยเฉพาะกระทรวงยุติธรรมต้องนำมาพิจารณาเพราะว่ามีการพูดมาหลายครั้ง

ส่วนของสถานการณ์ทั่วไปทางภาคใต้ การรายงานการละเมิดสิทธิ การซ้อมทรมาน ทางกรรมการสิทธิฯได้รับเรื่องร้องเรียนอย่างต่อเนื่อง สิ่ง ที่เราพยายามจะทำคือการขอเข้าไปเยี่ยมผู้ร้องให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ หากรัฐบาลอนุญาต น่าจะเป็นสิ่งที่ดีเพราะจะเป็นการพิสูจน์ข้อเท็จจริงว่ามีการทรมานจริงหรือไม่

ส่วนที่รายงานระบุว่า การเคลื่อนไหวองค์กรสิทธิมนุษยชนในไทยมีอุปสรรคนั้น ในฐานะที่เป็นประธานอนุกรรมการ ด้านสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง สิ่งซึ่งเป็นข้อกังวล และได้รับการร้องเรียนมากคือเสรีภาพในการแสดงความ คิดเห็น

เมื่อใดก็ตามที่ประชาชนมีปัญหาและไม่สามารถแสดงความเห็นได้ก็จะถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิ บางครั้งการจัดการประชุมถูกตีความเป็นการชุมนุม ทำให้ไม่สามารถจัดประชุมหรือปรึกษาหารือได้ บางครั้งเป็นการประชุมหรือหารือเพื่อความรู้ ไม่ได้เป็นการชุมนุมทางการเมือง

ไม่เฉพาะสหรัฐเท่านั้นที่มองเราเรื่องนี้ ช่วงหลังๆ ก็จะมีแถลงการณ์จากสหประชาชาติออกมาให้ความเห็นหลายๆ ครั้งเกี่ยวกับเรื่องสิทธิเสรีภาพของประชาชน เราควรรับฟัง

หากเรื่องใดที่เราปฏิบัติแล้วแต่สหรัฐมีข้อมูลไม่ครบถ้วนก็ต้องชี้แจงข้อมูลไป แต่ถ้าเรื่องใดที่เรายังมีข้อจำกัดอยู่ก็ต้องปรับปรุง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน