บทบรรณาธิการ

การเรียกค่าเสียหายทางแพ่งกับอดีตนายกรัฐมนตรีและผู้เกี่ยวข้อง ในโครงการรับจำนำข้าวในขณะนี้ เป็นข่าวที่ได้รับความสนใจไม่เฉพาะในประเทศ ยังเป็นข่าวต่างประเทศด้วย

เพราะกรณีการใช้อำนาจตามมาตรา 44 ให้อำนาจกรมบังคับคดีในการใช้มาตรการบังคับทางปกครองด้วยการยึด อายัด และขายทอดตลาดทรัพย์สินของผู้ต้องรับผิดในโครงการรับจำนำข้าวนั้นเป็นเรื่องไม่ได้พบเห็นกันทั่วไป

การเรียกร้องให้ตัวบุคคลชดใช้ค่าเสียหายจากการดำเนินนโยบายของรัฐ ซึ่งไม่ใช่การคอร์รัปชั่น อาจเป็นกรณีศึกษาใหม่ในระดับนานาประเทศ

โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาโครงการรับจำนำข้าวในลักษณะเงินอุดหนุนของรัฐ

การทุ่มงบประมาณแผ่นดินในการอุดหนุน (subsidy) สินค้าเกษตรนั้นเป็นนโยบายที่หลายประเทศใช้ เพื่อคุ้มกันและรักษาสถานะทางเศรษฐกิจของเกษตรกรไว้ แม้ว่ารัฐจะไม่ได้กำไรในการค้าขายดังกล่าว ตรงกันข้ามมักเป็นตัวเลขขาดทุนที่เต็มใจ

อย่างไรก็ตาม ในกรณีโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลชุดก่อนนั้น เป็นตัวเลขขาดทุนที่มีประชาชนจำนวนมากไม่เต็มใจ

อาจด้วยเหตุผลไม่เห็นด้วยกับนโยบายที่ ไม่เป็นไปตามกลไกตลาด หรือไม่เห็นด้วยกับจำนวนเงินที่ต้องถูกแบ่งไปให้เกษตรกร หรือคลางแคลงใจว่าจะไปถึงเกษตรกรไม่เต็มเม็ด เต็มหน่วย

ดังนั้น การล้มเลิกนโยบายนี้จึงต้องมาจากกระบวนการทางการเมือง เช่น ไม่เลือกพรรคการเมืองที่นำเสนอนโยบายนี้อีก

การล้มเลิกนโยบายของรัฐบาลที่ใช้เงินมหาศาลมีกรณีศึกษาในประเทศอื่น เช่น ชาวอเมริกันไม่เลือกผู้แทนพรรครีพับลิกันอีก หลังจากรัฐบาลชุดนั้นนำประเทศก่อสงคราม

หรือกรณีชาวอังกฤษส่วนใหญ่ยุติการเลือกพรรคฝ่ายซ้าย เพราะเริ่มไม่เห็นด้วยกับนโยบายเศรษฐกิจและการใช้เงินในสวัสดิการรัฐมากขึ้น

ส่วนชาวญี่ปุ่น ช่วงหนึ่งเคยลงโทษพรรคการ เมืองฝ่ายขวาที่ปฏิรูปเศรษฐกิจไม่สำเร็จ

ทั้งหมดนี้ยังไม่เคยเกิดกรณีการดำเนินคดีตัวบุคคลเพื่อเรียกค่าเสียหายจากผู้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีหรือนายกรัฐมนตรี เนื่องจากแต่ละคนมาตามวิถีประชาธิปไตย

ด้วยความที่นโยบายรัฐเป็นไปตามการเลือกและการตัดสินใจของประชาชน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน