ลงนามไฮสปีด : บทบรรณาธิการ

โครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน เฟสที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา เป็นเรื่องที่น่าจับตา ในสัปดาห์นี้ หลังจากการเจรจาร่างสัญญาฉบับที่ 2.3 สัปดาห์ก่อนยังไม่ได้ข้อสรุป

การเจรจาใหม่นี้ กระทรวงคมนาคมตั้งเป้าให้ได้ข้อสรุปทันเข้าการประชุมคณะรัฐมนตรีวันที่ 23 เม.ย.

หากครม.เห็นชอบจะได้ไปลงนามกับจีน บนเวทีการประชุมข้อริเริ่มสายแถบและเส้นทาง หรือ เบลต์ แอนด์ โรด ฟอรัม (BRF) ครั้งที่ 2 ที่กรุงปักกิ่ง วันที่ 26-27 เม.ย.

จังหวะเวลาดังกล่าวถือว่าเป็นฤกษ์ที่งามยามดีแก่ทั้งสองฝ่าย แต่ความร่วมมือระหว่างประเทศนั้น ผลประโยชน์ที่จะได้รับร่วมกันแบบวิน-วินย่อมเป็นเรื่องที่สำคัญกว่า

การเจรจาร่างสัญญาฉบับที่ 2.3 ดังกล่าว ครอบคลุมงานระบบราง ระบบไฟฟ้าและเครื่องกล รวมทั้งจัดหาขบวนรถไฟ และฝึกอบรมบุคลากร องค์ประกอบเหล่านี้ล้วนเป็นส่วนสำคัญของโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูง และมีงบประมาณที่สูง

ขณะที่อำนาจการต่อรองของไทย ต้องรับสภาพความเป็นจริงว่ามีไม่มากนัก หลังการเสียสมดุลทางการเมืองจากการรัฐประหาร

ตัวเลือกการร่วมลงทุนของไทย ไม่มีประเทศในฝั่งชาติประชาธิปไตยมาแข่งขันอย่างเข้มข้น ในแบบที่ควรจะเป็น

ดังนั้นหากต้องเจรจาค่าส่วนต่างราคาในโครงการที่อาจถึง 1,000 ล้านบาท ที่ไทยปรารถนาให้ลดลง ก็อาจไม่ง่าย

หรือหากได้ก็อาจต้องมีการแลกเปลี่ยนที่ไม่คุ้มค่านัก

ประเด็นสำคัญอีกเรื่องสำหรับจีนบนเวทีการประชุม BRF คือการผลักดันของจีนและสปป.ลาว ที่จะให้ไทยร่วมลงนามความร่วมมือเชื่อมโยงรถไฟความเร็วสูง 3 ประเทศ ให้ทันในการประชุมบนเวที วันที่ 26-27 เม.ย.นี้ หลังจากจีนและ สปป.ลาว ยืนยันข้อความในร่างบันทึกความร่วมมือฯ มาแล้ว

ดังนั้น กระทรวงคมนาคมจึงต้องเสนอร่างบันทึกความร่วมมือดังกล่าวให้ที่ประชุมครม.พิจารณา

ด้วยสถานการณ์นี้ตอกย้ำว่า การขับเคลื่อนเส้นทางสายไหมเส้นใหม่ หรือ เบลต์ แอนด์ โรด เป็น ยุทธศาสตร์สำคัญที่จีนต้องผลักดันให้ก้าวหน้าให้ได้

ส่วนไทยจะต้องหาจุดยืนให้มั่นคงด้วยการดึงประชาชนเป็นฐาน เพื่อจะมีอำนาจในการต่อรองที่จะผลักดันผลประโยชน์ของประเทศและของภูมิภาค และเพื่อรักษาพันธมิตรและประเทศคู่ค้าให้สมดุลกัน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน