คอลัมน์ บทบรรณาธิการ

เป็นเวลากว่า 3 สัปดาห์แล้วที่มาตรา 44 ประกาศใช้ควบคุมพื้นที่วัดพระธรรมกายและพื้นที่โดย รอบในตำบลคลอง 3 อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี มี เจ้าหน้าที่เข้าปิดล้อมทางเข้าออกวัด

มีการตรวจค้นพระสงฆ์ที่ออกมาบิณฑบาต และจำกัดอาหารที่จะนำเข้าไปภายในวัด ซึ่งยังมี พระภิกษุ สามเณร อุบาสก อุบาสิกา ที่ปฏิบัติธรรมอยู่หลายพันชีวิต

ขณะเดียวกัน มีการเรียกบุคคลทั้งพระสงฆ์และฆราวาสกว่า 100 รูป/คน เข้ารายงานตัวอย่าง ต่อเนื่อง

ต่อมามีประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีถอดถอนสมณศักดิ์พระเทพญาณมหามุนี อดีตเจ้าอาวาส เป็นพระภิกษุธรรมดา รวมทั้งเพิ่มมาตรการที่จะจับสึกนำตัวไปดำเนินคดี

แม้ยังไม่มีแนวโน้มว่าจะพบตัวหรือไม่

สําหรับมาตรการจับสึกทันทีนั้น แม้ผอ.สำนักพุทธศาสนาแห่งชาติคนใหม่ ระบุว่าเป็นเรื่องของคณะสงฆ์ เพราะบางกรณีอาจไม่ผิดพระธรรมวินัย แต่ผิดกฎหมาย

แต่ในแง่ของพระธรรมวินัยนั้น หากพระภิกษุรูปใดต้องครุกาบัติปาราชิก 4 ข้อที่พระพุทธเจ้าบัญญัติไว้ ก็มีอันพ้นสภาพจากความเป็นภิกษุโดยทันที

ปัจจุบันการจะให้พระภิกษุรูปใดสละสมณเพศนั้น กฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ 21 พ.ศ.2538 ว่าด้วย การให้พระภิกษุสละสมณเพศ ระบุไว้ว่าประพฤติ ล่วงละเมิดพระธรรมวินัยเรื่องเดียวกันหรือหลายเรื่องเป็นอาจิณ ไม่สังกัดอยู่ในวัดใดวัดหนึ่ง หรือไม่มีวัดเป็นที่อยู่เป็นหลักแหล่ง และถูกฟ้องร้องว่ากระทำผิด ครุกาบัติ

จึงต้องดูว่ากรณีพระไชยบูลย์เข้าข่ายนี้หรือไม่

ส่วนความพยายามของรัฐบาลที่จะใช้ช่องทางการปกครองคณะสงฆ์ในการแก้ปัญหา โดยผอ.สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติจะทำเรื่องเสนอที่ประชุมมหาเถรสมาคม และเจ้าคณะใหญ่หนกลางเพื่อพิจารณา

ถ้าเป็นไปตามแนวทางนี้ น่าจะเป็นอธิกรณ์ใหม่ซึ่งอาจจะต้องไปเริ่มที่เจ้าคณะผู้ปกครองชั้นต้น นั่นคือระดับเจ้าตำบลคลองสาม เจ้าคณะอำเภอคลองหลวง และเจ้าคณะจังหวัดปทุมธานี จึงยัง ไม่แน่ชัดว่าจะจบแบบใด จับสึกได้เลยหรือไม่

แต่ที่น่าคิดก็คือ เพราะมีการใช้อำนาจรัฐเข้ามาจัดการมากมายหลายประการไปก่อน จึงทำให้ เกิดภาพความขัดแย้งในเชิงการเมืองอย่างไม่อาจ หลีกเลี่ยงได้

เรื่องจึงเหมือนไปไกลเกินกว่าจะมาใช้มาตรการทางสงฆ์ไปเสียแล้ว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน