คอลัมน์ รายงานพิเศษ

หลังจาก นายธีรยุทธ บุญมี นักวิชาการสาธารณะ แสดงความเห็นเกี่ยวกับทิศทางอนาคตการเมืองไทย ภายใต้การบริหารของรัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ว่ายังไม่มีความหวังเรื่องการปฏิรูป และการบริหารของ คสช.ในขณะนี้ เริ่มอยู่ในสภาพเรือแป๊ะพายวน โดยเฉพาะเกี่ยวกับมาตรการสร้างความปรองดอง และการวางแผนยุทธศาสตร์ต่างๆ

ขณะที่ นพ.ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส มองว่าหากยังรวมศูนย์อำนาจไว้ที่ส่วนกลาง จะทำให้เกิดปัญหาชาติจึงแนะให้ปฏิรูปจากข้างล่างโดยกระจายอำนาจไปสู่ชุมชนท้องถิ่น เพื่อนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน

พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี โต้ว่าเป็นการติเรือทั้งโกลน ติโขนยังไม่ทรงเครื่อง

มีความเห็นจาก นักวิชาการ อดีตผู้บัญชาการทหารสูงสุด ดังนี้

สุขุม นวลสกุล

อดีตอธิการบดี ม.รามคำแหง

นายธีรยุทธวิจารณ์ตามที่ท่านเห็น ซึ่งคล้ายกับที่คนอื่นเห็น แต่ที่รู้สึกคือนายธีรยุทธน่าเชื่อถือเพราะเป็นฝ่ายเดียวกับรัฐบาล คสช. ที่เชียร์ กันมา แต่กลับมองตรงกันข้าม แสดงให้เห็นว่าน่าจะเป็นคำเตือนจากกัลยาณมิตร

ดังนั้นรัฐบาลอย่าคิดว่าเป็นฝ่ายตรงข้ามที่คอยเหยียบย่ำ แต่ควรกลับไปคิดดูว่าการบริหารเหมือนเรือพายวนในอ่างหรือไม่

สิ่งที่นายธีรยุทธเตือนไม่ว่าจะเป็นการสืบสอดอำนาจ เรื่องการ ปฏิรูป รัฐบาลน่าจะคิดจริงจังให้ได้ เพราะระยะหลังอย่างที่นายธีรยุทธ พูดก็ดูวนๆ มีคณะกรรมการออกมา 4 คณะ เราคิดว่าจะ จบ แต่ล่าสุดเปลี่ยนเป็น 2 คณะมองดูแล้วจะเอาอย่างไรกันแน่

การที่พล.ท.สรรเสริญ ออก มาตอบโต้ ก็รู้อยู่แล้วว่าใครที่กล่าวหารัฐบาล โฆษกก็เล่นทันที บางครั้งมากกว่าตัว นายกฯด้วยซ้ำ ซึ่งรู้ว่าเป็นหน้าที่คอยปกป้องรัฐบาลด้วย

ไม่คิดว่าสิ่งที่นายธีรยุทธ วิจารณ์เป็นการติเรือทั้งโกลน แต่การวิจารณ์ก็คือดิสเครดิตเพราะไม่ได้เสนออะไร รัฐบาลเมื่ออาสาเข้ามาแล้วก็มีหน้าที่ทำ นาย ธีรยุทธก็คงคิดอย่างนั้น เพราะกว่าที่นายธีรยุทธจะออกมาวิจารณ์รัฐบาลก็บริหารมา 3 ปีแล้ว ปกติจะออกมาวิจารณ์ทุกปี รัฐบาลจึงควรรับฟังไว้

ขอให้ถือว่าคนกันเองพูด ไม่ได้มีเจตนาร้าย เพียงแต่เตือนสติ ว่าตอนนี้พายวนแล้วน่าซ้ำซาก ไม่มีอะไรเล่นให้คนตั้งความหวังแล้ว

รัฐบาล คสช.บริหารมาเกือบ 3 ปีแล้ว ไม่มีจุดหมายให้มั่นใจได้ว่าตกลงแล้วจะไปจุดไหน ได้ยินแต่ว่าสร้างความปรองดอง การปฏิรูป แต่ยังไม่เห็นอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน

ส่วนที่นายธีรยุทธเตือนรัฐบาลว่าอย่าอยู่ฝืนเกินโรดแม็ปนั้น คนทั่วไปก็มองว่าถ้าเมื่อไรคนเริ่มรู้สึกว่ารัฐบาลทำไม่ได้ตามโรดแม็ปจะเกิด ปัญหา แต่วันนี้คนเห็นว่ารัฐบาลยังมีประสิทธิภาพในแง่ของการรักษาความสงบ แต่เมื่อไรถ้ารู้สึกว่าปัญหาปากท้องวันนี้รัฐบาลไม่ได้ทำอะไร ไม่ได้เป็นไปตามโรดแม็ป จะบริหารขึ้นปีที่ 4 ปีที่ 5 คนก็เริ่มรู้สึกว่าเป็นการผูกขาดแล้ว สงสัยว่าที่รัฐบาลพูดมาไม่จริง ถ้าเปลี่ยนฉากจัดให้มีการเลือกตั้ง แล้วรัฐบาลคสช.กลับมาได้ ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

ส่วนเรื่องการปฏิรูปนั้น ทันทีที่รัฐบาลเปิดไพ่ใบสุดท้าย หากไม่มีอะไรคืบหน้าคนจะผิดหวัง นอกจากผิดหวังแล้ว ยังคิดว่าเบี้ยวด้วยซ้ำ

ส่วนที่พล.ท.สรรเสริญระบุว่า ปัญหาวิกฤตประเทศไม่สามารถเนรมิตให้สำเร็จได้ภายในไม่กี่วัน แต่เกือบ 3 ปีแล้วยังแก้วิกฤตให้เป็นรูปธรรมไม่ได้ เรื่องนี้ถูกมองอย่างนั้น รัฐบาลจึงไม่มีสิทธิปฏิเสธ แต่ต้องอธิบายว่าปัญหาอะไรที่แก้ได้บ้าง

รัฐบาลคงตอบว่าความสงบ เวลาตอบคำถามเห็นชัดแต่เรื่องความสงบ ส่วนเรื่องอื่นไม่ชัดเจน การปฏิรูประบบราชการก็ไม่เห็น การปราบโกงก็เช่นกัน เหมือนลูบหน้าปะจมูก ถ้าพวกเดียวกันเองก็ไม่กล้าทำอะไร

สำหรับข้อวิจารณ์ของ นพ.ประเวศ รัฐบาลควรนำไปปรับปรุงแก้ไข เพราะนพ.ประเวศ ก็ไม่ใช่ฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลเหมือนกัน

สุเชาวน์ มีหนองหว้า

คณบดีคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มรภ.อุบลราชธานี

การวิเคราะห์ทิศทางอนาคตประเทศภายใต้การบริหารของคสช. ของนายธีรยุทธ เห็นว่าเป็นมุมมอง ในบทบาทของนักวิชาการที่ทำหน้าที่สะท้อนภาพ และบริบทของสังคม

เพราะนายธีรยุทธได้แสดงทัศนะต่อรัฐบาลเกือบทุกรัฐบาลที่ผ่านมา ซึ่งรัฐบาลควรรับฟัง

ขณะเดียวกัน ขอชื่น ชมที่หลายฝ่ายแนะนำให้รัฐบาลเปิดใจรับฟังการสะท้อนมุมมองของนายธีรยุทธ และนักวิชาการคนอื่นๆ ด้วย เพราะถือเป็นภาพสะท้อนจากนักวิชาการทางสังคม เปรียบเทียบเหมือนสำนักโพล ที่ออกมาสะท้อนความเห็นประชาชน

การวิเคราะห์ทิศทางอนาคตประเทศดังกล่าว คิดว่าไม่น่าจะใช่การดิสเครดิตรัฐบาล เพราะคนที่ออกมาพูดก็ทำหน้าที่นักวิชาการในทุกรัฐบาล ถ้าทุกคนได้ติดตามบทบาทของเขามาตลอด จะเห็นว่าไม่ได้ออกมาพูดบ่อย จึงอยากให้มองว่าเป็นข้อเสนอแนะที่ควรรับฟัง

ส่วนคสช.ที่ได้ทำงานมา 3 ปี อยู่ในสภาพเรือแป๊ะพายวนเหมือน ที่นายธีรยุทธวิจารณ์หรือไม่นั้น เห็นว่าคสช. มีความตั้งใจในการแก้ปัญหา แต่ปัญหาหลักๆ ทั้งปัญหาทางการเมือง ปัญหาเศรษฐกิจ การยุติข้อขัดแย้ง และการสร้างความปรองดอง ต้องใช้เวลา

โดยเฉพาะการสร้างความปรองดองเป็นปัญหา เรื้อรังอาจจะทำได้ช้า ไม่ ทันใจฝ่ายที่เฝ้ามองอยู่

ขณะที่การทำงานด้านการปฏิรูปทุกเรื่องต้องก้าวไปข้างหน้า มียุทธศาสตร์ระยะยาว มีแม่น้ำ 5 สาย นำทางไปสู่การเลือกตั้ง แต่ในเมื่อมีหน่วยงานเข้ามาเกี่ยวข้องเยอะ องคา พยพต่างๆ อาจดูอุ้ยอ้ายบ้าง ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้การเคลื่อนไปข้างหน้าเป็นไปโดยช้า

แต่การสะท้อนมุมมองจากนักวิชาการเป็นสิ่งที่คสช.ควรต้องรับฟัง รวมถึงเสียงสะท้อนจากภาคส่วนต่างๆ ที่ให้คำแนะนำในทางสร้างสรรค์แก่คสช.

เพื่อประเทศจะก้าวสู่การพัฒนาแบบสร้างสรรค์ และมีการเลือกตั้งตามโรดแม็ป

ฐิติพล ภักดีวานิช

คณบดีคณะรัฐศาสตร์ ม.อุบลราชธานี

คนพวกนี้ไม่เชื่อในระบอบประชาธิปไตยมาตั้งแต่ต้น แล้วมาตั้งโต๊ะแถลงภายหลังว่า รู้สึกผิดหวังกับ คสช. ต่อการดำเนินการปฏิรูปและการปรองดอง เรื่อยไปจนถึงการกระจาย อำนาจที่ไม่เกิดขึ้น หนำซ้ำยังมีลักษณะของการรวมศูนย์ไว้ ที่ส่วนกลางในทุกด้าน คงไม่ทันแล้วต่อสถานการณ์ในขณะนี้

ทัศนคติของผู้วิจารณ์ทั้ง 2 คนนี้ มีความเชื่อมั่นในชน ชั้นนำและคนมีการศึกษาว่า สามารถคิดได้มากกว่าชาวบ้านทั่วไป พวกเขาไม่เคยออกมาปกป้องระบอบประชาธิปไตย รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง แต่กลับเชื่อมั่นในการรัฐประหาร การเปิดช่องให้อำนาจนอกระบบเข้ามาแทรกแซง

สิ่งที่พวกเขาออกมาพูด จึงอาจตั้งคำถามได้เพียงว่า เพื่อต้องการให้อยู่ในกระแสของการเมืองระดับชาติใช่หรือไม่

และยังตั้งข้อสังเกตได้อีกว่า บุคคลทั้งสองเคยวิจารณ์ความชอบธรรมจากที่มาของรัฐบาลนี้หรือไม่ ตรงนี้ก็ตั้งคำถามได้อีกว่า นอกจากที่ออกมาแถลงฉากหน้านั้น เบื้องหลังคิดอย่างไร

ความต้องการของพวกเขาไม่ว่าจะเป็นการปฏิรูป การปรองดอง และการบริหารราชการแผ่นดินแบบกระจายอำนาจ สามารถเกิดขึ้นได้ก่อนการรัฐ ประหารปี 2557 เพียงแค่ออกมาสนับสนุน การเลือกตั้ง ให้เดินหน้าตามครรลองประชาธิปไตย ซึ่งอาจต้องใช้เวลาในการเรียนรู้ค่อยเป็นค่อยไปบ้าง แต่สิ่งที่สังคมไทยได้ในตอนนี้สวนทางอย่างสิ้นเชิง

3 ปีที่ผ่านมาการปฏิรูปยังไม่คืบหน้า การกระจายอำนาจไม่เกิดขึ้น แถมความถี่ในการใช้มาตรา 44 อำนาจพิเศษ ก็เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ยิ่งสะท้อนความไร้ประสิทธิภาพของตัวบทและการบังคับใช้กฎหมายในประเทศมากขึ้นเรื่อยๆ

เป็นเรื่องปกติที่อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ และตัวแทนจากแม่น้ำ 4 สาย จะออกมาตอบโต้บุคคลทั้งสอง เพราะกลุ่มผู้ถืออำนาจไม่รับฟังเสียงวิจารณ์จากใครอยู่แล้ว แต่อยากแนะนำคสช.ว่า ไม่ต้องไปให้น้ำหนักกับคนเหล่านี้มากนัก

ขณะเดียวกันอยากเรียกร้องสังคมไทยเลิกให้น้ำหนักกับการแสดงความเห็นทางการเมืองของกลุ่มคนรุ่นนี้ที่ตกยุคไปแล้ว แต่ควรเปิดใจกว้าง รับฟังเสียงของคนรุ่นใหม่ อย่างนักศึกษา เพราะการปฏิรูปประเทศ จะต้องเกิดขึ้นเพื่ออนาคต ซึ่งหมายถึงคนเจเนอเรชั่นนี้

คนที่ช่วงวัยแตะ 60-70 ปี ควรตระหนัก และลดทอนบทบาทของ ตัวเองลง มิเช่นนั้นการปฏิรูปที่อ้างถึงจะเหมือนเดิมไม่เปลี่ยนแปลง

เพราะพวกเขาจะพยายามนำเสนอแต่ระบบเดิมในอดีตที่คิดว่าดีให้กับส่วนรวม แต่อาจไม่ดีอีกแล้วในสายตาของคนยุคสมัยใหม่

พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์

อดีตผู้บัญชาการทหารสูงสุด

การที่รัฐบาล คสช. กำลังเดินหน้าเรื่องการปฏิรูป และการสร้างความสามัคคีปรองดองของคนในชาติ มองว่าสมเหตุสมผลดีอยู่แล้ว

โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคสช. เป็นประธาน และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม กำหนดขอบ เขตการทำงานโดยใช้หลักการทำงานแบบเศรษฐกิจพอเพียง ถือว่าเหมาะสมดีแล้วไม่มากและไม่น้อย

รัฐบาลได้จัดทุกกลุ่มทุกฝ่ายให้ เข้ามาพูดมาคุย พบปะกัน สิ่งไหนที่สามารถทำประโยชน์ร่วมกันได้ขอให้ความร่วมมือกัน เป็นการสร้างพื้นฐานในอนาคต ถือว่าทำถูกหลักวิชาการแล้ว เพื่ออนาคตประเทศไทยจะได้อยู่ด้วยกันด้วยดี และสันติสุข

สำหรับการปฏิรูปประเทศนั้น ต้องมองว่ามีหลายเรื่องไม่ใช่ทำเพียง 1-2 เรื่อง จะมาให้คะแนนว่าเท่าไรนั้นคงไม่ได้ เรื่องคนเป็นหนึ่งในการปฏิรูป ส่วนระบบก็ต้องดำเนินกันไป ซึ่งทั้งหมดนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะต้องควบคู่กันไป

ตนเคยเข้าไปในเวทีต่างๆ มาหลายครั้ง มีคนมากมายมาวิจารณ์การทำงานของรัฐบาล จึงอยากจะบอกว่า พวกที่เข้ามาทำงานเพื่อประเทศชาติ เป็นทหารก็ไม่ได้เก่งกาจอะไรมากมาย และเขาไม่เคยบอกว่าตัวเองเก่งกาจ แต่มีความตั้งใจดี

ทหารไม่ได้เก่งไปทุกด้าน ทหารก็เก่งเรื่องทหาร เข้ามาทำงานตรงนี้ถือว่าทำได้ดีแล้ว ประชาชนต้องช่วยกันทำ โดยเฉพาะพวกที่เก่งๆ ทั้งหลาย

ดังนั้น คนที่ออกมาว่าแบบไม่สร้างสรรค์ เข้ามาช่วยกันทำงานดีกว่าหรือไม่ ตอนนี้รัฐบาลเปิดโอกาสให้ทำอยู่แล้ว

ส่วนการที่นายธีรยุทธเตือนรัฐบาลว่าอย่าฝืนอยู่เกินโรดแม็ปนั้น ก็เห็น นายกฯพูดอยู่เสมอว่าไม่อยากอยู่

อย่างไรก็ตาม ทั้งนายธีรยุทธ และนพ.ประเวศ มีชื่อเสียงในทางที่ดี หากให้ข้อมูลในเชิงสร้างสรรค์ รัฐบาลต้องรับฟังอยู่แล้ว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน