FootNote : ปมประเด็นการถือหุ้น “สื่อ” โดมิโนจาก กกต. ไปยัง คสช.

ไม่เพียงแต่ นายปิยบุตร แสงกนกกุล เท่านั้นที่ตั้งข้อสังเกตว่า การร้องเรียนข้อกล่าวหาผู้สมัคร ส.ส.ถือหุ้น “สื่อ” จะกลายเป็นปมประเด็นร้อนในทางการเมือง

หาก นายสมชัย ศรีสุทธิยากร ก็ออกมาเตือนว่าอาจกลายเป็น “สึนามิ”

เพราะ ณ วันนี้ ไม่เพียงแต่จะมีการเคลื่อนไหวจากอีกฟากฝ่ายร้องเรียนและกล่าวหาผู้สมัครส.ส. 32 คนใน 6 พรรคพันธมิตรต้านการสืบทอดอำนาจคสช.ขึ้นมา

หากพรรคเพื่อไทยก็ส่งคนร้องเรียนผู้สมัครส.ส. 1 รายในพื้นที่กทม.ของพรรคพลังประชารัฐขึ้นแล้ว ทั้งยังสำทับด้วยว่ายังมีอีกหลายรายซึ่งถือหุ้น “สื่อ”ตามที่ปรากฏในบริษัท

นี่คือ “บูมเมอแรง”ทางการเมืองอันทรงพลานุภาพ

หากศึกษาจากกรณีของผู้สมัครส.ส.คนหนึ่งแห่งพรรคอนาคตใหม่ที่ถูกศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งเพิกถอนสิทธิไปแล้วตั้งแต่ก่อนวันที่ 24 มีนาคม

เพียงเพราะในรายการของบริษัทระบุคำว่า “สื่อ”อยู่ด้วยทั้งๆที่เป็นบริษัทรับเหมาก่อสร้าง

ก็พอจะมองเห็น “บรรทัดฐาน”ได้ว่าจะเป็นอย่างไร

ยิ่งเมื่อมาถึงกรณีที่มีผู้ร้องว่า นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ มีปัญหาเรื่องการโอนหุ้นบริษัทวี-ลัค มีเดีย อันเป็นบริษัทที่ประกอบธุรกิจ “สื่อ”

แม้ว่าจะเลิกผลิต “สื่อ”ตั้งแต่ปี 2559 ก่อนการสมัครรับเลือกตั้งเป็นส.ส.บัญชีรายชื่อมาแล้วเกือบ 3 ปีก็ตาม

ยิ่งทำให้กระบวนการร้องเรียนในเรื่องคุณสมบัติของผู้สมัคร ส.ส.ของแต่ละพรรคการเมืองว่ามีส่วนพัวพันหรือถือหุ้นบริษัทผลิต “สื่อ”ทวีความร้อนแรงมากยิ่งขึ้น

ทำท่าว่าอาจจะไม่มีเพียง 32 รายชื่อที่มีผู้ร้องเรียนไปแล้ว แต่อาจทะยานเป็น 100 รายชื่อผู้สมัครด้วยซ้ำไป

การร้องเรียนกันไปร้องเรียนกันมาระหว่างแต่ละฟากฝ่ายที่มีปัญหาและขัดแย้งกันในทางความคิด โดยพื้นฐานเท่ากับยืนยันว่า ปัญหาและความขัดแย้งยังดำรงอยู่

แต่ที่หนักหนาสาหัสยิ่งกว่านั้นยังทะลวงไปไกลยิ่งกว่า

นั่นก็คือ แสดงให้เห็นปมปัญหาของ 1 รัฐธรรมนูญ และ 1 กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ

ที่คิดว่าจะเรียบร้อย ราบรื่น กลับไม่เรียบร้อย ไม่ราบรื่น

เกาะติดข่าวการเมืองข่าวเลือกตั้ง แค่กดเป็นเพื่อนกับไลน์@ข่าวสด ที่นี่
เพิ่มเพื่อน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน