คอลัมน์ บทบรรณาธิการ

กรณีกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน หรือกอ.รมน. ภาค 4 พิจารณาถอนคำร้องทุกข์ข้อหาหมิ่นประมาททางอาญาและการละเมิดพ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ต่อนักรณรงค์สิทธิมนุษยชน 3 คนนั้นได้รับเสียงชื่นชมจากองค์กรทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ

ด้วยเห็นว่าการฟ้องร้องนั้นเป็นผลลบมากกว่าผลบวก เมื่อพิจารณาถึงเจตนาของการส่งเสริมสิทธิมนุษยชนในประเทศ

แม้ว่าในส่วนของภาครัฐจะไม่เห็นด้วยกับเนื้อหาทั้งหมดในรายงานสถานการณ์การทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ในจังหวัดชายแดนใต้ ปี 2557-2558

แต่การโต้แย้งกันด้วยเนื้อหาและ ข้อเท็จจริงจะเป็นทางออกที่ดีที่สุดและเป็นประโยชน์มากกว่าการเอาผิดที่ไม่ได้สร้างความเข้าใจต่อกัน

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เป็นองค์กรหนึ่งที่ชื่นชมการตัดสินใจของหน่วยงานทหาร และคาดหวังไปถึงกรณีนักปกป้องสิทธิมนุษยชนคนอื่นๆ ซึ่งทำหน้าที่อย่างสงบและ มีเจตนาในการสร้างสรรค์สังคมไทยให้เป็นที่ยอมรับ

อีกทั้งสนับสนุนให้ทางการไทยพิจารณาแก้ไขหรือยกเลิกกฎหมายที่ลิดรอนสิทธิเหล่านี้ และปรับปรุงให้มีเนื้อหาสอดคล้องกับพันธกรณีระหว่างประเทศของไทย

ข้อเรียกร้องนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะเห็นด้วยหรือไม่ น่าจะนำไปชั่งน้ำหนักกันอย่างจริงจัง

หลังจากมีตัวอย่างที่ดีในกรณีนี้แล้ว

ในเมื่อเป้าหมายของหน่วยงานของรัฐและองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนคือสันติสุขในจังหวัดชายแดนภาคใต้ การทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดจึงย่อมจะเพิ่มพลังในการแก้ปัญหา

แม้ว่าต่อไปนี้อาจมีกรณีคล้ายกันกับรายงานฉบับนี้ที่สองฝ่ายได้รับไม่ตรงกัน เห็นไม่ตรงกัน หรือขัดใจกัน แต่เมื่อมีตัวอย่างครั้งนี้แล้ว ก็จะมีหนทางของการตรวจสอบข้อเท็จจริงร่วมกัน แก้ไขข้อผิดพลาดร่วมกัน

หากพิสูจน์ว่าการละเมิดเกิดขึ้นจริง ฝ่ายทางการจะได้ดำเนินการกับผู้กระทำผิดตามกฎหมาย และเยียวยาให้แก่เหยื่อและญาติ

เป็นกระบวนการที่คณะทำงานทั้งสองกลุ่มมุ่งไปสู่เป้าหมายเดียวกัน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน