หนี้สิน-ผู้ใช้แรงงาน

คอลัมน์ บทบรรณาธิการ

หนี้สิน-ผู้ใช้แรงงาน – คดีสะเทือนขวัญจากการฆ่าตัวตายเดี่ยวและสังหารหมู่ครอบครัวเพื่อหนีชีวิตเนื่องจากปัญหาหนี้สินและเศรษฐกิจฝืดเคือง เป็นสิ่งที่ ตรงกันข้ามกับผลการจัดอันดับของสื่ออเมริกัน ว่าไทยขึ้นแท่นอันดับหนึ่ง ประเทศที่มีความทุกข์ยากน้อยที่สุดในโลก

อาจเพราะการจัดทำดัชนีวัดความทุกข์ยาก หรือ Misery Index ของสื่อบลูมเบิร์กใช้การคำนวณอัตราเงินเฟ้อและการว่างงานที่ต่ำ ซึ่งโดยทั่วไปน่าจะสะท้อนความรู้สึกของชาวบ้านที่อยู่ในระบบเศรษฐกิจนั้นๆ

อย่างไรก็ตาม ความทุกข์ยากทางเศรษฐกิจที่สำคัญยิ่งและดูจะเป็นอมตะก็คือการเป็นหนี้ โดยเฉพาะกับกลุ่มผู้ใช้แรงงาน

ผลสำรวจล่าสุดเนื่องในวันแรงงานของศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย หัวข้อ สถานภาพแรงงานไทย : กรณีศึกษาผู้มีรายได้ ต่ำกว่า 15,000 บาท พบว่า ส่วนใหญ่มีรายได้เฉลี่ยเดือนละ 10,000-15,000 บาท ในจำนวนนี้ร้อยละ 86.2 ไม่มีเงินออม ทำให้แรงงานร้อยละ 95 มีภาระหนี้สินจากการกู้ยืมมาใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน ที่อยู่อาศัย และยานพาหนะ

โดยเฉลี่ยจำนวนหนี้สินต่อครัวเรือนประมาณ 158,000 บาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 15 เมื่อเทียบกับปีก่อน

ขณะที่สัดส่วนการกู้เงินในระบบสูงกว่า ซึ่งต้องผ่อนชำระประมาณเดือนละ 7,200 บาท แต่ช่วง 1 ปีที่ผ่านมา ส่วนใหญ่ยังคงเจอปัญหาผิดนัดชำระหนี้ เพราะมีค่าใช้จ่ายเดือนชนเดือน และรายได้ไม่พอกับค่าใช้จ่าย จากราคาสินค้าและค่าครองชีพที่สูงขึ้น

ข้อมูลอีกส่วนจากผู้เชี่ยวชาญธนาคารแห่งประเทศไทย ระบุว่า การที่ไทยมีอัตราคนว่างงานต่ำ ไม่ได้หมายความว่าผู้คนไม่ได้ทุกข์ยากเสมอไป เพราะแรงงานบางส่วนอาจไม่มีทางเลือกและต้องทนทำงานที่ไม่มั่นคง

เช่น แรงงานในภาคเกษตรกว่า 10 ล้านคน ส่วนใหญ่ไม่ได้มีสถานะเป็นลูกจ้างและไม่ได้อยู่ในระบบประกันสังคม จึงเข้าไม่ถึงสวัสดิการสำคัญ ไม่ว่า คลอดบุตร สงเคราะห์บุตร ทุพพลภาพ หรือเสียชีวิต ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นปัจจัยเกื้อหนุนต่อหนี้สินที่พอกพูนขึ้น

แม้รัฐบาลสั่งการให้หน่วยงานความมั่นคงไปช่วยแก้ปัญหาให้ประชาชนที่เดือดร้อน แต่ถ้าไม่พิจารณาปัญหาใหญ่ให้ถ่องแท้ เรื่องคงไม่จบที่การจับกุมผู้ปล่อยเงินกู้ นอกระบบเท่านั้น

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน