เด่นชัดยิ่งว่า การต่อสู้เพื่อชิงตำแหน่งผู้ว่าฯกทม.จะเป็นการต่อสู้ระหว่าง 4 พรรคการเมือง

1 คือ พรรคพลังประชารัฐ

เป็นไปไม่ได้ที่พรรคพลังประชารัฐจะไม่ส่งคนลงชิง ในเมื่อไม่เพียงแต่มีผู้ว่าฯกทม.คนปัจจุบันซึ่งมาด้วยอำนาจแห่งมาตรา 44 อยู่แล้ว หากแต่ยังมีรองผู้ว่าฯกทม.คนเก่งระวังหลังอยู่

1 คือ พรรคประชาธิปัตย์ อันถือได้ว่าเป็นเจ้าถิ่นที่ยึดครองพื้นที่กทม.มาอย่างต่อเนื่อง

ยิ่งกว่านั้น 1 พรรคเพื่อไทยก็เริ่มกำหนดตัวบุคคลแล้ว

ยิ่งกว่านั้น 1 พรรคอนาคตใหม่ก็ประกาศการรุกคืบเข้าไปยังสนามเลือกตั้งท้องถิ่นและเป้าหมายสำคัญย่อมเป็นกทม.

นี่คือความร้อนแรงของสนามชิงผู้ว่าฯกทม.คนใหม่

มีความเป็นไปได้สูงอย่างยิ่งที่ไม่เพียงแต่สนามเลือกตั้งท้องถิ่น โดยเฉพาะกทม.จะเท่ากับเป็นการจำลองการต่อสู้ทางการเมือง ระดับประเทศ

นั่นก็คือ ระหว่างการสืบทอดอำนาจของคสช. กับ การต่อต้านการสืบทอดอำนาจของคสช.

เท่ากับเป็นการประจันหน้าระหว่าง 2 ฝ่าย

1 คือ ฝ่ายพรรคพลังประชารัฐ กับ 1 ฝ่ายพรรคเพื่อไทยและพรรคอนาคตใหม่

ถามว่า พรรคประชาธิปัตย์จะกำหนด “ยุทธวิธี”อย่างไร

การเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มีนาคม ความพ่ายแพ้อย่างหมดรูปของพรรคประชาธิปัตย์ในกทม. มีการอธิบายว่าเพราะคนกทม.ต้องการความแจ่มชัด

แจ่มชัดว่าเห็นด้วยกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มากกว่าเห็นด้วยกับพรรคประชาธิปัตย์ จึงเลือกพรรคพลังประชารัฐแทนที่จะเป็นพรรคประชาธิปัตย์

นี่ย่อมเป็นโจทย์สำหรับพรรคประชาธิปัตย์โดยเฉพาะ

โจทย์จากการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มีนาคม เมื่อประสานกับโจทย์ในการเลือกตั้งกทม.ในเวลาอันใกล้ จะมีผลต่อการเลือกหัวหน้าพรรคและการตัดสินใจของพรรคประชาธิปัตย์

ตัดสินใจว่าจะเข้าร่วมรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐ

ตัดสินใจว่าจะยกมือให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี

หรือว่าจะดำรงอยู่ในฐานะพรรคฝ่ายค้าน “อิสระ”

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน