คอลัมน์ รายงานพิเศษ

สมรภูมิวัดพระธรรมกาย ภายใต้การล้อมกรอบด้วยอำนาจมาตรา 44 หลังจากยืดเยื้อมานานเกือบ 1 เดือน ดำเนิน มาถึงจุด “งานเลี้ยงย่อมมีวันเลิกรา”

ส่วนจะเลิกราในลักษณะใด

แบบต่างฝ่ายต่างแยกย้าย หรือลุยสลายด้วยพละกำลัง

ด้วยประเมินว่าขุมกำลังวัดพระธรรมกายกำลังเสียขวัญระส่ำระสาย จากการที่พระธัมมชโย และพระทัตตชีโว ถูกถอดถอนออกจากสมณศักดิ์กลายเป็นพระธรรมดา

แต่แล้วบรรยากาศ”พบกันครึ่งทาง”เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ก็แสดงให้เห็นสัญญาณดี เมื่อฝ่ายวัดพระธรรมกายยอมให้ฝ่ายเจ้าหน้าที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เข้าตรวจค้นภายในวัด

ทั้งพื้นที่โซนเอ โซนบี อาคารลูกโลก ฯลฯ รวมถึงอาคารบุญรักษา ซึ่งต้องสงสัยว่าอาจเป็นสถานที่หลบซ่อนตัวของพระธัมมชโย หรือพระไชยบูลย์ สุทธิผล ผู้ต้องหาตามหมายจับ 35 คดี

ก็ต้องจับตาดูกันต่อไป เพราะยังเหลือเวลาถึงวันที่ 12 และ 13 มี.ค.ตามกำหนดขีดเส้นตายดีเอสไอ ที่ประกาศไว้ขึงขังก่อนหน้าว่าอีก 5 วันนับตั้งแต่วันที่ 8 มีนาคม

ปัญหาวัดพระธรรมกายต้องจบ

หากดูตามสภาพความเป็นจริงตอนนี้ ฉากจบได้รับการวิเคราะห์ใน 2 รูปแบบ

แบบแรก คือ บุกค้นวัดแล้วสามารถจับกุมพระธัมมชโยตัวเป็นๆ มาดำเนินคดีตามกฎหมายทางโลกได้ เหมือนที่แกนนำรัฐบาล คสช.และดีเอสไอเคยพูดไว้

“จับตัวได้เมื่อไหร่ ปัญหาจบ เมื่อนั้น”

แบบที่สอง บุกค้นแล้วไม่เจอตัวพระธัมมชโย ซึ่งนั่นหมายความว่าดีเอสไอต้องล้มเหลวเป็นครั้งที่ 2 ต่อจากความล้มเหลวในการบุกเข้าตรวจค้นรอบแรกเมื่อวันที่ 16-18 ก.พ.

ถ้าผลออกมาแบบนี้ ก็มีความเป็นไปได้มากที่ฝ่ายผู้มีอำนาจต้องหันกลับมาพิจารณาทบทวนหลังจาก”ขี่ช้าง”มานานเกือบเดือน ยังจับ”ตั๊กแตน”ไม่ได้

จำเป็นต้องสั่งยุติการใช้มาตรา 44 กับวัดพระธรรมกาย

กลับมาใช้กระบวนการตามกฎหมายปกติหรือไม่

การใช้มาตรา 44 เข้าควบคุมพื้นที่วัดพระธรรมกายตั้งแต่วันที่ 16 ก.พ.เป็นต้นมา

เป็นชนวนเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 2 ราย คือ นายอนวัช ธนเจริญณัฐ และน.ส.พัฒนา เชียงแรง

เป็นสิ่งไม่คาดฝันและไม่มีใครอยากให้เกิด แต่ก็มีเสียงเรียกร้องให้รัฐบาลและคสช.ในฐานะผู้ออกคำสั่งใช้มาตรา 44 รวมถึงดีเอสไอในฐานะผู้ปฏิบัติ รับผิดชอบต่อการสูญเสีย

ถึงผู้นำรัฐบาลจะยืนกรานใช้มาตรา 44 กับวัดพระธรรมกายต่อไปจนกว่าจะจับตัวพระธัมมชโยได้

แต่การตายของ 2 ศพ ก็ทำให้แผนกระชับพื้นที่วัดพระธรรมกาย ประสบกับภาวะชะงักงัน เดินหน้าต่อไม่ได้ ถอยหลังกลับก็ไม่ได้ ได้แต่ตั้งด่านล้อมรอบวัด

เล่นสงครามเย็นแบบยืดเยื้อ

รัฐบาลและดีเอสไอประเมินผิดอีกรอบ เพราะสถานการณ์ที่ยืดเยื้อออกไป ไม่ได้ทำให้ฝ่ายลูกศิษย์วัดพระธรรมกายอ่อนแรงลง ตรงกันข้ามฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐต้องเผชิญแรงกดดันมากกว่า

จนเริ่มมีการพูดกันถึงการ”ถอย”

ในตอนแรกคาดการณ์กันว่า หลังการถอดถอนพระธัมมชโยออกจากสมณศักดิ์ สถานการณ์อาจทวีความเข้มข้นมากขึ้น ถึงขนาดนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ออกมาส่งสัญญาณ”งานเลี้ยงต้องมีวันเลิกรา”

ซึ่งก็ดูเหมือนจะเป็นจริงอย่างที่ว่า

เห็นได้จากการที่พระสนิทวงศ์ ผอ.สื่อสารองค์กร วัดพระธรรมกาย กับพระปลัดเสกสรร แกนนำจุดชุมนุมตลาดกลางคลองหลวง ยินยอมเข้ามอบตัว

รับข้อหาความผิดตามมาตรา 44 ข้อยุยง ปลุกปั่น ตามมาตรา 116 และความผิดตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ก่อนศาลจะอนุญาตให้ประกันตัวชั่วคราว

กรณีพระสนิทวงศ์ และพระปลัดเสกสรร แม้ด้านหนึ่งอาจ มองได้ว่าคือการ”ถอย”ของฝ่ายวัดพระธรรมกาย แต่อีกด้านหนึ่งก็สะท้อนให้เห็นได้เช่นกันว่า

กฎหมายปกติยังใช้การได้อยู่ และเป็นที่ยอมรับของฝ่ายผู้ได้รับผล กระทบมากกว่ามาตรา 44

และตรงนี้เองคือช่องทางออกของรัฐบาล

ไม่ใช่เฉพาะกรณีพระสนิทวงศ์ และพระปลัดเสกสรรเท่านั้น

การเรียกร้องในลักษณะกดดันจากฝ่ายกองเชียร์ ให้รัฐบาลฉวยโอกาสตีเหล็กตอนกำลังร้อน เร่งดำเนินการ”จับสึก”พระธัมมชโย ก็เช่นเดียวกัน

นับเป็นเรื่องที่ดีและถูกต้องที่รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่บ้าจี้ เต้นตามเสียงกองเชียร์ที่เชียร์กันอย่างขาดสติ

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ฝ่ายกฎหมาย นายออมสิน ชีวะพฤกษ์ รมต.ประจำสำนักนายกฯ ตลอดจนพ.ต.ท. พงศ์พร พราหมณ์เสน่ห์ ผอ.สำนักงานพระพุทธศาสนาฯ คนใหม่ ระบุตรงกัน

การจับสึกพระธัมมชโย ไม่ใช่เรื่องทำได้ง่ายๆ เพียงชั่วข้ามคืน เพราะต้องผ่านกระบวนการตามกฎหมายของสงฆ์ หรือพระธรรมวินัย ที่ทางโลก ไม่สามารถสอดมือเข้าไปยุ่งเกี่ยวได้

ในการประชุมมหาเถรสมาคมเมื่อ วันศุกร์ที่ผ่านมา จึงทำได้แค่การรับทราบการถอดถอนสมณศักดิ์ของพระธัมมชโยเท่านั้น ไม่สามารถมีมติสั่งให้สึกในทันทีได้

เพราะการจะไปถึงขั้นนั้น จะต้องมีการดำเนินเรื่องผ่านเจ้าคณะผู้ปกครองสงฆ์ตามลำดับชั้น ตั้งแต่เจ้าคณะใหญ่หนกลาง เจ้าคณะภาค 1 เจ้าคณะจังหวัด เจ้าคณะอำเภอ เจ้าคณะตำบล และเจ้าอาวาสวัด

ซึ่งล่าสุดผอ.สำนักงานพระพุทธศาสนาฯ เปิดเผยว่า ได้เริ่มดำเนินการโดยทำเรื่องไปถึงเจ้าคณะใหญ่หนกลางแล้ว ที่เหลือจึงได้แต่รอ ไม่อาจใช้อำนาจทางโลก หรือทางการเมืองเข้าไปแทรกแซงล้วงลูกได้

สรุปก็คือถึงขั้นตอนการ”สึก”พระธัมมชโย อาจต้องใช้เวลาอีกนาน แต่ก็เป็นวิถีทางที่ถูกต้อง เป็นที่ยอมรับของผู้ถูกกล่าวหาหรือได้รับผล กระทบ

ต่อปัญหาพระธัมมชโยและวัดพระธรรมกาย เมื่อเรื่องมาถึงจุดนี้ การจัดการปัญหาด้วยการใช้กฎหมายปกติ ถึงอาจจะต้องยอมเสียหน้าบ้าง แต่ก็เป็นบันไดทางลงที่ดีที่สุดในตอนนี้

ที่สำคัญรัฐบาลและคสช.ยังมีปัญหาใหญ่กว่าให้ต้องเร่งสะสางอีกมาก ในช่วงโค้งสุดท้ายของโรดแม็ป

ไม่ว่าการสร้างความปรองดองทางการเมือง สร้างความสามัคคี ให้กับคนในชาติ ปฏิรูปประเทศ ฯลฯ

การที่แกนนำรัฐบาลและคสช.ต้องรีบตัดไฟแต่ต้นลม

ดาหน้าปฏิเสธ ยังไม่มีการปรับเพิ่มอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) จาก 7 เปอร์เซ็นต์ เป็น 8 เปอร์เซ็นต์ในตอนนี้ เพราะไม่ต้องการซ้ำเติมประชาชนผู้บริโภค

สะท้อนให้เห็น สุดท้ายแล้วปัญหาเรื่องพระธัมมชโย และวัดพระธรรมกาย อย่างไรก็ไม่เร่งด่วนเท่ากับปัญหาเศรษฐกิจ

ที่เป็นจุดสลบของรัฐบาลอย่างแท้จริง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน