2553 ถึง 2562

คอลัมน์ บทบรรณาธิการ

2553 ถึง 2562 : บทบรรณาธิการ – นอกจากเหตุการณ์ทางการเมืองในช่วงสัปดาห์นี้จะเข้มข้นด้วยการเปิดตัวสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ยังเป็นสัปดาห์เริ่มต้นการรำลึกเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมืองเมื่อปี 2553 ด้วย

หากนับตามสถานการณ์การสลายการชุมนุมที่แยกราชประสงค์ ย่านธุรกิจในกลางเมืองหลวง ช่วงเวลาดังกล่าวอยู่ระหว่างวันที่ 7-19 พ.ค. 2553 หลังการชุมนุมทางการเมืองของมวลชนที่เรียกร้องให้รัฐบาลยุบสภาและจัดการเลือกตั้งใหม่

ข้อเรียกร้องนี้น่าจะเป็นเรื่องธรรมดาที่เกิดขึ้นได้ในประเทศประชาธิปไตยทั่วไป โดยเฉพาะเมื่อสถานการณ์การเมืองดำเนินมาถึงขั้นที่ต้องอาศัยกลไกยุติความขัดแย้งระดับประเทศ

แต่เหตุการณ์พฤษภา 2553 กลับลงเอยด้วยการใช้กำลังทหาร

การเลือกตั้งเป็นทางออกสำคัญในระบอบประชาธิปไตย เพราะเปิดกว้างให้คนหมู่มากในประเทศมีส่วนร่วมทางการเมือง

หากเกิดข้อขัดแย้งที่รัฐบาลและรัฐสภาตัดสิน ไม่ถูกว่า ประชาชนส่วนใหญ่เห็นด้วยกับแนวทางใด การเลือกตั้งจะช่วยทำให้ได้คำตอบที่ชัดเจน

กฎกติกาของการเลือกตั้งโดยรวมไม่ซับซ้อน กล่าวคือพรรคที่มีคะแนนส.ส.หรือตัวแทนประชาชนสูงสุดจะได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลเพื่อบริหารประเทศต่อไป

นานาประเทศที่จัดการเลือกตั้งในปีนี้ ไม่ว่า อินเดีย อินโดนีเซีย อิสราเอล สเปน ฯลฯ ล้วนยึดกฎกติกาดังกล่าว

ประเทศไทย ซึ่งอยู่ในฐานะประเทศ ที่เลือกตั้งเพื่อเปลี่ยนผ่านการรัฐประหาร สู่ประชาธิปไตย จึงไม่ควรใช้เส้นทางที่ แปลกแยก

การที่ไทยอยู่ในสถานการณ์พิเศษ ยิ่งถูกจับตาว่าผลการเลือกตั้งปี 2562 จะสานต่อหรือเปลี่ยนแปลงคณะบริหารประเทศ

หลังจากมีการใช้กติกาการเลือกตั้งแบบใหม่ การแต่งตั้งส.ว. 250 ที่นั่งให้มีอำนาจเลือกนายกรัฐมนตรี ไปจนถึงการกำหนดยุทธศาสตร์ชาติที่ กินเวลายาวนาน 20 ปี

แม้ผลการเลือกตั้งส.ส.จะออกมาชัดเจนว่าพรรคใดเป็นฝ่ายชนะ แต่ด้วยเงื่อนไขที่กำหนดไว้ ทำให้เจตนารมณ์ของการสะท้อนเสียงประชาชนผ่านการเลือกตั้งไม่เป็นไปโดยธรรมชาติ

หากย้อนไปพิจารณาช่วงเวลาเดียวกัน เมื่อปี 2553 การไม่เลือกเส้นทางที่ซื่อสัตย์ตรงไปตรงมาต่อประชาชน คือบทเรียนของโศกนาฏกรรม

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน