พลังแห่งการยับยั้งชั่งใจ สิ่งที่ควรปลูกฝังให้เยาวชน

สวัสดีครับผู้อ่านทุกท่าน หลายท่านในที่นี้อาจมีบุตรหลานที่ต้องดูแล ซึ่งแน่นอนว่าทุกคนย่อมปรารถนาให้พวกเขาเติบโตมาเป็นคนที่ดีและเพียบพร้อม จึงพยายามสรรหาทุกอย่างมาเติมเต็มให้ แต่แล้วทำไมพวกเขาถึงได้กลายเป็นเด็กที่เอาแต่ใจ ไม่เชื่อฟัง และไม่สามารถยับยั้งความต้องการของตัวเองได้เลย

หากใครกำลังประสบเหตุการณ์เช่นนี้อยู่ วันนี้เรามาหาสาเหตุและวิธีการแก้ไขกันเถอะครับ

ประเทศเกาหลีใต้เคยเป็นประเทศที่ยากจนมาก ผู้คนใช้ชีวิตด้วยความหวาดระแวง อันเนื่องมาจากสงคราม พอประเทศก้าวหน้าขึ้นมีการศึกษาที่ดี มีเทคโนโลยีทันสมัย ผู้คนก็หวังจะให้ลูกหลานได้รับสิ่งดีๆ เพราะในอดีตตัวเองไม่เคยได้รับมาก่อน จึงเกิดการผลักดันให้คนรุ่นหลังได้รับการศึกษาที่ดีที่สุด แม้ว่าต้องใช้เงินมากเท่าไหร่ก็ตาม

ปัจจุบันเด็กเกาหลีจึงแทบไม่ต้องทำอะไรเลยนอกจากเรียน สิ่งอื่นนอกเหนือจากนั้นพ่อแม่ทำให้ทั้งหมดด้วยความรัก และพยายามเติมเต็มทุกอย่างที่ลูกต้องการ และยิ่งในยุคนี้เด็กนิยมใช้ของแบรนด์เนมและสินค้าราคาแพงจนเกิดเป็นการแข่งขันและการเหยียดกันภายในโรงเรียน พ่อแม่ก็ยิ่งพยายามหาของเหล่านั้นมาให้ลูกเพื่อไม่ให้พวกเขารู้สึกอายเพื่อน

แต่แทนที่พวกเขาจะรู้สึกขอบคุณกับความเหนื่อยยากของพ่อแม่ กลับกลายเป็นว่ายิ่งได้รับมากเท่าไหร่ ระดับความต้องการยิ่งสูงขึ้นไปเท่านั้น เมื่อไม่ได้ดั่งใจก็พยายามทำทุกวิถีทางเพื่อให้ได้สิ่งที่ต้องการ โดยไม่สามารถยับยั้งชั่งใจได้เลย

ผมคิดว่าในที่นี้ก็คงมีหลายครอบครัวที่เป็นแบบเดียวกัน แต่พ่อแม่ที่รักลูกจริงๆ นั้นจะต้องไม่ตามใจเขาทุกอย่าง หรือก็คือ “ต้องไม่สปอยล์ลูก” แม้ว่าในความเป็นจริงเราอาจจะให้เขาได้ 100% แต่เราควรจะให้เขาเพียง 70-80% ส่วนที่เหลือก็ให้เขาอดทนรอคอย เพื่อว่าในวันข้างหน้าเขาจะสามารถควบคุมกับความต้องการของตัวเองได้ เพราะโลกความเป็นจริงนั้นไม่มีอะไรได้ดั่งใจไปเสียทุกอย่าง

ผมขอยกตัวอย่างงานวิจัยหนึ่งในปี 1966 ได้มีการทดลองเอามาร์ชเมลโล่ให้เด็กวัย 4 ขวบ จำนวน 653 คน โดยมีเงื่อนไขว่า “ถ้าสามารถอดทนดูเฉยๆ โดยไม่กินเป็นเวลา 20 นาทีได้ จะให้อีกชิ้นหนึ่ง” ซึ่งเด็กส่วนใหญ่จะอดทนรอไม่ได้แล้วกินก่อน ภายหลังพบว่าเด็กกลุ่มนี้มักประสบปัญหาในเรื่องการเรียนและการทำงาน เพราะความสามารถในการแก้ปัญหาหรือจัดการเรื่องต่างๆ ค่อนข้างต่ำ

แต่ที่น่าแปลกใจคือเด็กกลุ่มที่อดทนรอได้ ปัจจุบันพวกเขากลายเป็นคนที่ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานเป็นอย่างดี ซึ่งส่วนหนึ่งนั้นเป็นผลมาจาก ‘การยับยั้งชั่งใจ’ แสดงให้เห็นว่าสิ่งสำคัญในการประสบความสำเร็จไม่ใช่ IQ หรือฐานะทางครอบครัว แต่เป็นพลังแห่งการยับยั้งความต้องการ เมื่อพวกเขารู้จักยับยั้งความต้องการได้ตั้งแต่เด็ก เขาก็จะสามารถใช้ชีวิตได้โดยไม่ตามใจตัวเองและก้าวข้ามความยากลำบากในจิตใจได้ทีละนิด แม้จะอยากเล่นเกม แต่ก็สามารถหักห้ามจิตใจแล้วไปอ่านหนังสือได้ แม้ตั้งใจอ่านหนังสือแล้วผลสอบออกมาไม่ได้อย่างที่หวัง ก็สามารถยับยั้งความโกรธ ความเสียใจ แล้วกลับไปตั้งใจเรียนอีกครั้งได้ โดยไม่เกิดเหตุการณ์น่าเศร้าอย่างการฆ่าตัวตายเพราะรับไม่ได้ที่เกรดตก เป็นต้น

โอปราห์ วินฟรีย์ พิธีกรหญิงชาวแอฟริกันชื่อดังที่มีเรทติ้งการชมสูงที่สุดในประวัติศาสตร์รายการโทรทัศน์ และยังเป็นผู้หญิงที่รวยที่สุดแห่งศตวรรษที่ 20 ของประเทศสหรัฐอเมริกา ในวัยเด็กเธอมีความทรงจำที่แสนเจ็บปวดเพราะถูกญาติข่มขืนจนตั้งครรภ์ และคลอดลูก มีหลายครั้งที่คิดจะฆ่าตัวตาย หากเราตกอยู่ในสถานการณ์นั้นเราจะเกลียดผู้ชายคนนั้น และจมอยู่ในความสิ้นหวังขนาดไหนครับ?

แต่วันหนึ่งจิตใจที่อยากมีชีวิตต่อได้ปลุกเธอออกจากความทรงจำเลวร้ายนั้น เธอรู้สึกตัวได้ว่าเธอไม่สามารถมีชีวิตอยู่ได้ หากปล่อยให้ตัวเองจมอยู่ในความแค้นแบบนี้ต่อไปโดยไม่ยับยั้งชั่งใจ

เธอจึงคิดวิธี “เปลี่ยนบาดแผลให้เป็นสติปัญญา” เธอเปลี่ยนความแค้นเป็นคำขอบคุณ โดยให้สัญญากับตัวเองว่าจะเขียนคำขอบคุณในทุกๆ วัน วันละ 5 ข้อ เพราะฉะนั้นทุกเช้าที่ตื่นขึ้นมา เธอก็ต้องคิดว่าวันนี้จะขอบคุณอะไรดี เกิดเป็นจิตใจพิเศษที่สร้างทุกอย่างให้เป็นคำขอบคุณได้ ทำให้เธอไม่มีเวลาไปคิดถึงความแค้นในอดีตอีกต่อไป เป็นตัวอย่างที่ดีในการยับยั้งชั่งใจจากความเกลียดชัง

3 สิ่งสำคัญในการสร้างพลังในการยับยั้งชั่งใจ ได้แก่ “การให้สัญญา” เราทำการให้สัญญาบางอย่างเพื่อให้มีความอดทนในการรอคอยจนเกิดเป็นพลังในการยับยั้งชั่งใจ ดังตัวอย่างข้างต้น ที่ให้สัญญาว่าจะให้มาร์ชเมลโล่อีก 1 ชิ้น หากรอคอยได้ 20 นาที

ต่อมาคือ “การคิด” ต้องอาศัยกระบวนการคิด วิเคราะห์ ถึงผลดีและผลเสียของการยับยั้งชั่งใจ ซึ่งจะทำให้เกิดการตัดสินใจด้วยตนเอง เช่น หากไม่ยับยั้งชั่งใจในเรื่องการกิน ก็จะอ้วนแน่นอน เมื่อคิดถึงผลเสียแล้ว ก็ยอมหักห้ามจิตใจดีกว่า

และสุดท้ายคือ “การปลูกฝังความฝัน” เด็กที่ไม่มีความฝันจะใช้ชีวิตไปเรื่อยๆ อย่างไรก็ได้ แต่เมื่อมีความฝันแล้ว เขาจะเริ่มยับยั้งสิ่งที่ตัวเองอยากจะทำ แล้วทุ่มพลังให้กับการทำสิ่งที่ต้องทำเพื่อให้ไปถึงความฝัน

ในยุคสมัยที่เทคโนโลยีก้าวหน้า อะไรก็รวดเร็วไปเสียทุกอย่างแบบนี้ ก่อให้เกิดปัจจัยที่กระตุ้นความต้องการของมนุษย์ได้ตลอดเวลา ดังนั้นหากเราไม่มีการยับยั้งชั่งใจเลย ก็เหมือนกับรถที่มีคันเร่งแต่ไม่มีเบรก สุดท้ายก็ได้แต่ชนแล้วก็พังพินาศเท่านั้น ผมหวังว่าทุกท่านจะได้มีโอกาสฝึกให้บุตรหลานที่รักลองเหยียบเบรกในจิตใจของตัวเองวันละนิด เพื่อให้ชีวิตพวกเขาไปถึงที่หมายอย่างมั่นคงและปลอดภัยนะครับ


ดร.(กิตติมศักดิ์) ฮักเชิล คิม
ผู้ก่อตั้งมูลนิธิเยาวชนสัมพันธ์นานาชาติ ประจำประเทศไทย
[email protected]

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน