หมู่พระมหามณเฑียร (ตอนแรก)

คอลัมน์ รู้ไปโม้ด

โดย น้าชาติ ประชาชื่น

หมู่พระมหามณเฑียร (ตอนแรก) – มีพระราชพิธีเฉลิมราชมณเฑียร อยากทราบว่าหมายความถึงบริเวณใดในพระราชวัง

กิตติ์ก้อง

ตอบ กิตติ์ก้อง

มีอรรถาธิบายเรื่องพระที่นั่งองค์สำคัญที่เกี่ยวเนื่องด้วยพระราชพิธีบรมราชาภิเษก โดย รศ.ยุวดี ศิริ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตีพิมพ์ในศิลปวัฒนธรรมฉบับพิเศษ พระราชพิธีบรมราชาภิเษก 2562 สรุปความดังนี้

หากกล่าวอย่างสามัญชน พระราชพิธีบรมราชาภิเษก ก็คือ พิธีที่รับรองฐานะความเป็นประมุขของสังคมอย่างเป็นกิจจะลักษณะ เป็นพิธีสำคัญพิธีหนึ่งสำหรับราชอาณาจักรที่มี พระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข พิธีนี้ถือเป็นเครื่องเชิดชูเฉลิมพระเกียรติยศขององค์พระประมุข ว่าได้ทรงเป็นพระราชาธิบดีแห่งราชอาณาจักรนั้นโดยสมบูรณ์แล้ว

หมู่พระมหามณเฑียร

หมู่พระมหามณเฑียร

ในประเทศไทย พระราชพิธีบรมราชาภิเษกเป็นการรวมเอา พระราชพิธีสำคัญ 2 ส่วนเข้าไว้ด้วยกัน ส่วนหนึ่งคือพระราชพิธีบรมราชาภิเษก และอีกส่วนหนึ่งคือพระราชพิธีเฉลิมราชมณเฑียร หรือกล่าวอย่างสามัญก็คือพิธีขึ้นบ้านใหม่ของพระเจ้าแผ่นดินนั่นเอง

โดยพระราชพิธีทั้ง 2 ส่วนนั้น นอกจากแบบแผนประเพณีที่ถือปฏิบัติตามแบบอย่างโบราณ ไม่ว่าจะเป็นการสรงน้ำมุรธาภิเษก การรับเครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ การจารึกพระนามในพระสุพรรณบัฏ การเฉลิมพระราชมณเฑียร หรือการออกมหาสมาคม เป็นต้นแล้ว

การประกอบพระราชพิธีดังที่กล่าวมายังเกี่ยวเนื่องด้วยพระที่นั่งองค์สำคัญๆ ในพระบรมมหาราชวังหลายองค์ หากจะมีความแตกต่างกันในการประกอบพระราชพิธีบ้างก็เพียงหน้าที่การใช้สอยที่ต่างกันออกไปในแต่ละรัชกาลตามที่จะโปรดเกล้าฯ ให้ใช้พระที่นั่งองค์ใดประกอบพระราชพิธีในส่วนใด

เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชได้ทรงสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์เป็นราชธานี ให้สร้างพระบรมมหาราชวังเป็นที่ประทับและเสด็จออกว่าราชการแผ่นดิน

โดยโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระที่นั่งขึ้น 2 หมู่ คือ หมู่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท (เดิมคือหมู่พระที่นั่งอินทราภิเษกมหาปราสาท หรือหมู่พระที่นั่ง อมรินทราภิเษกมหาปราสาท) เรียกกันโดยทั่วไปว่าหมู่พระมหาปราสาทและหมู่พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน หรือเรียกกันโดยทั่วไปว่าหมู่พระมหามณเฑียร

หมู่พระมหามณเฑียร

ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกตั้งแต่รัชกาลที่ 1 เป็นต้นมา โปรดเกล้าฯ ให้ใช้พระที่นั่งทั้ง 2 หมู่นี้เป็นหลัก โดยพระที่นั่งในหมู่พระมหาปราสาท นอกจากพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทแล้ว ในบางรัชกาลก็โปรดเกล้าฯ ให้ใช้พระที่นั่งจักรีมหาปราสาทด้วย

ส่วนพระที่นั่งในหมู่มหามณเฑียร โปรดเกล้าฯ ให้ใช้พระที่นั่ง 3 องค์ อันได้แก่ พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน พระที่นั่งไพศาลทักษิณ และพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยมไหสูรยพิมาน โดยพระที่นั่งทั้ง 5 องค์ดังกล่าว มีความสำคัญอันเกี่ยวเนื่องด้วยพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

ในการพระราชพิธีเสด็จขึ้นเฉลิมพระราชมณเฑียรของ พระมหากษัตริย์แห่งพระราชวงศ์จักรี ตั้งแต่รัชกาลที่ 1 ถึงรัชกาลที่ 9 โปรดเกล้าฯ ให้ใช้พระที่นั่งจักรพรรดิพิมานเป็นพระที่นั่ง ในการเฉลิมพระราชมณเฑียร

พระที่นั่งองค์นี้ใช้เป็นที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 1 รัชกาลที่ 2 และรัชกาลที่ 3 มาตลอด เว้นแต่เมื่อมีการบูรณะที่ต้องย้ายไประทับที่หมู่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทเป็นครั้งคราว จนถึงรัชกาลที่ 4

เมื่อเสด็จขึ้นเฉลิมพระราชมณเฑียรแล้วก็ประทับอยู่ที่พระที่นั่งองค์นี้เป็นเวลาถึง 8 ปี จนโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระราชมณเฑียรหมู่พระอภิเนาว์นิเวศน์ขึ้นในสวนขวาของหมู่พระราชมณเฑียร จึงเสด็จฯ ไปประทับอยู่จนเสด็จสวรรคต

ส่วนพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ เสด็จฯ กลับมาประทับที่พระที่นั่งจักรพรรดิพิมานอยู่ระยะหนึ่ง จากนั้นเมื่อโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระราชมณเฑียรหมู่พระที่นั่งจักรีมหาปราสาทแล้วจึงย้ายไปประทับ พระราชมณเฑียรใหม่แห่งนั้น ขณะที่ในรัชกาลที่ 6 เสด็จฯ มาประทับที่พระราชมณเฑียรนี้หลายครั้ง และเสด็จสวรรคต พระที่นั่งองค์นี้ด้วย

ตั้งแต่รัชกาลที่ 7 เป็นต้นมาเมื่อเสด็จขึ้นเฉลิมพระราชมณเฑียรแห่งนี้แล้ว ก็ประทับแรมอยู่ 1 ราตรีบ้าง 3 ราตรีบ้าง พอเป็นมงคลฤกษ์จึงได้เสด็จฯ ไปประทับ พระราชวังอื่นต่อไป ฉบับพรุ่งนี้ (15 ..) อ่านเรื่องพระที่นั่ง 3 องค์ ที่รวมเป็นหมู่พระมหามณเฑียร

[email protected]

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน