คอลัมน์ ออกจากกรอบ : ฮักเชิล คิม

หนังสือพิมพ์ข่าวสด

เสื้อผ้าเครื่องแต่งกายก็ต้องมีดีไซเนอร์ออกแบบเพื่อให้เข้ากับผู้ใส่มากที่สุด ความสวยงามของเสื้อผ้าขึ้นอยู่กับว่าเสื้อผ้านั้นเหมาะสมกับผู้ใส่หรือไม่ เพราะรูปร่างของผู้ใส่แต่ละคนย่อมมีความแตกต่างกัน แต่การจะเปลี่ยนรูปร่างของผู้ใส่ไม่ใช่เรื่องที่ทำได้ง่ายๆ ครับ

ดังนั้นดีไซเนอร์ จะต้องรู้ว่าผู้ใส่มีข้อเด่นข้อด้อยตรงไหน แล้วออกแบบเสื้อผ้าที่เหมาะสมให้ดูดีที่สุด

“จิตใจ” ก็เช่นเดียวกัน

จิตใจที่มีความเศร้า มีความท้อแท้สิ้นหวัง เราไม่สามารถเปลี่ยนแปลงสถานการณ์หรือเหตุการณ์ต่างๆ ที่เข้ามาในชีวิตได้ แต่หากจิตใจมีดีไซเนอร์หรือนักออกแบบจิตใจคอยช่วยแล้วล่ะก็ จากคนที่จมอยู่กับความท้อแท้ก็จะสามารถย้ายไปสู่จิตใจที่มีความหวังได้

เรื่องการออกแบบจิตใจนี้ ผมขอยกตัวอย่างอาจารย์ท่านหนึ่งครับ ท่านนับเป็นผู้พิการไทยคนแรกที่ได้เข้ารับราชการ เคยดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ระดับ 10 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เคยเป็นพระอาจารย์ของพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภาในช่วงที่พระองค์ทรงศึกษาอยู่ ปัจจุบันเป็นผู้ก่อตั้งและเป็นประธานมูลนิธิสากลเพื่อคนพิการ และนอกจากนี้ยังมีบทบาทสำคัญเป็นผู้พัฒนาและยกระดับคุณภาพชีวิตคนพิการผ่านทางองค์กรด้านผู้พิการต่างๆ ถึงในระดับภูมิภาคอาเซียน

อาจารย์ท่านนี้มีชื่อว่า ศาสตราจารย์ วิริยะ นามศิริพงศ์พันธุ์ ในช่วงวัยเด็กนั้น ท่านไม่ได้มีความพิการแต่อย่างใด แต่ด้วยความคึกคะนองในช่วงที่เรียน มศ.3 เป็นคนที่ชอบค้นคว้าและทดลองวิทยาศาสตร์ วันหนึ่งก็เกิดอุบัติเหตุขึ้น ทำให้ดวงตาของท่านทั้งสองข้างบอดสนิท ภายหลังจากที่เกิดเหตุการณ์ท่านเสียใจเป็นอย่างมากคิดว่าเมื่อเป็นผู้พิการก็คงไม่สามารถที่จะทำหรือปฏิบัติงานอะไรได้เหมือนที่เคยตาดีอยู่ ในสังคมที่มีความเชื่อว่าคนตาบอดทำอะไรไม่ได้ ทำให้ไม่มีการเปิดโอกาสในหลายๆ ด้านกับคนตาบอด (รวมทั้งผู้พิการในด้านอื่นๆ ด้วย) ไม่ว่าจะเป็นการศึกษา การทำงาน สิทธิต่างๆ ในการดำรงชีวิต เป็นต้น

อาจารย์วิริยะเล่าว่า ในสมัยนั้นกฎหมายไม่ได้เปิดโอกาสให้คนตาบอดหรือคนพิการทำอะไรได้เลย แม้แต่ครอบครัวของอาจารย์ก็ยากที่จะเชื่อว่าคนตาบอดจะทำอะไรได้มากกว่าที่เป็น ครั้งหนึ่งคุณพ่อเคยพูดปลอบใจกับอาจารย์วิระยะว่า ถึงแม้เธอจะตาบอดแต่ก็ไม่เป็นไร ฉันจะส่งเรียนเป็นหมอดูกับศาลเจ้าชื่อดังแทน

ในขณะที่ครอบครัวกำลังจะหมดหวังอยู่นั้น พี่ชายก็ได้ติดต่อไปที่โรงเรียนสอนคนตาบอดกรุงเทพฯ ฝากฝังให้น้องชายได้ไปเข้าเรียนที่นั่น ที่โรงเรียนสอนคนตาบอดตาบอดกรุงเทพฯ อาจารย์วิริยะได้พบกับ มิสเจนีวีฟ คอลฟิลด์ (Miss. Jenivieve Caulfield สตรีตาบอดชาวอเมริกัน ผู้ก่อตั้งโรงเรียนสอนคนตาบอดกรุงเทพฯ) และซิสเตอร์โรสมัวร์ แม่อธิการโรงเรียนสอนคนตาบอดกรุงเทพฯ

คำพูดแรกที่ได้ถือเป็นคำสอนของอาจารย์วิริยะในตอนนั้นคือ “ต้องเชื่อว่าตาบอดทำได้ทุกอย่าง แล้วหางานที่ท้าทายทำ หากยังเชื่อว่าทำอะไรไม่ได้ก็จะทำอะไรไม่ได้จริงๆ”

ที่นั่นท่านได้เรียนรู้การใช้ชีวิตใหม่อีกครั้งผ่านทางรุ่นพี่ตาบอด ไม่ว่าจะเป็นการรับประทานอาหาร การทำความสะอาดบ้าน การอ่านอักษรเบรลล์ อาจารย์วิริยะ จึงเริ่มมีกำลังใจจากการใช้ชีวิตในฐานะผู้พิการเป็นครั้งแรก

วิริยะ นามศิริพงศ์พันธุ์

ตั้งแต่ตอนนั้นความคิดของ อาจารย์วิริยะก็เปลี่ยนไป ท่านได้รู้ว่ามีอีกทางหนึ่งที่ท่านไม่จำเป็นต้องมองด้วยตัวเอง แทนที่มิสเจนีวีฟจะมอบคำพูดปลอบใจ ท่านกลับช่วยเปลี่ยนจิตใจ และย้ายจิตใจของท่านจากความสิ้นหวังไปสู่ความหวังใหม่ หรือการช่วยออกแบบจิตใจให้นั่นเอง หลังจากนั้นท่านก็ได้เข้าไปเรียนที่โรงเรียนเซนต์คาเบรียล และโรงเรียนอัสสัมชัญตามลำดับ

เมื่อถึงช่วงที่ต้องเข้ามหาวิทยาลัยท่านลองนั่งคิดว่าจะหาอาชีพท้าทายอะไรมาทำเพื่อสานต่อการขับเคลื่อนกฎหมายให้กับคนพิการ จึงคิดว่าอาชีพทางด้านกฎหมาย เป็นอาชีพที่เหมาะกับคนตาบอดในต่างประเทศ และคนตาบอดก็ทำได้ดี จึงตั้งเป้าว่าจะเรียน นิติศาสตร์ และได้คว้าอันดับที่ 1 ของคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ไปเรียนต่อกฎหมายภาษีที่มหาวิทยาลัยฮาวาร์ดในที่สุด หลังจากที่ท่านกลับมาก็ได้มีโอกาสเข้ารับราชการเป็นอาจารย์สอนกฎหมายที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

อาจารย์วิริยะยังจำคำที่มิสเจนีวีฟบอกกับท่านในสมัยนั้นได้อีกว่า “…วิริยะ ถ้าเธอเติบโตขึ้นแล้วประสบความสำเร็จ เธอไม่ต้องตอบแทนฉัน แต่ขอให้เธอไปช่วยเหลือคนพิการในประเทศไทย…”

จากวันนั้น อาจารย์วิริยะก็ได้เป็นส่วนหนึ่งในการส่งเสริมการปฏิรูปกฎหมายคนพิการในประเทศไทย เป็นประธานฝ่ายกฎหมายและสิทธิเสรีภาพมนุษยชน สภาคนพิการทุกประเภทแห่งประเทศไทย ประธานมูลนิธิสากลเพื่อคนพิการ เปิดศูนย์ฝึกคนพิการในระดับอาเซียน เป็นต้น

ครูของอาจารย์วิริยะมองข้ามสถานการณ์ มองข้ามความพิการของท่าน และช่วยออกแบบจิตใจให้กับท่านใหม่ จากคนที่อยู่ในความยากลำบากไร้ความหวัง กลายเป็นคนที่มอบความสุขและความหวังให้กับผู้คนมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายประกันสิทธิเสรีภาพสำหรับคนพิการ หรือการทำงานผ่านทางองค์กรต่างๆ เพื่อยกคุณภาพชีวิตคนพิการในระดับอาเซียนอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน

จิตใจที่สวยงามของอาจารย์วิริยะ ถ่ายทอดออกมาจนผู้คนสัมผัสได้ นี่แหละครับผลลัพธ์ของการมี ดีไซเนอร์ ที่ช่วยออกแบบจิตใจให้ แล้วคุณล่ะครับพร้อมจะมองหานักออกแบบจิตใจให้กับคุณแล้วหรือยัง?

ถ้าหากมีคนที่ออกแบบจิตใจให้เรา ไม่ว่าจะอ่อนแอแค่ไหน ไม่ว่าจะมีปัญหามากขนาดไหน ก็ไม่เป็นปัญหา และออกจากความสิ้นหวังและความเศร้าได้


ดร.(กิตติมศักดิ์) ฮักเชิล คิม
ผู้ก่อตั้งมูลนิธิเยาวชนสัมพันธ์นานาชาติ ประจำประเทศไทย
FB : Mind World by Kim Hak Cheol, Ph.D.

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน