แอนิมอลฟาร์ม

คอลัมน์ บทบรรณาธิการ

แอนิมอลฟาร์มคําแนะนำของผู้นำคสช.ให้ประชาชนอ่านหนังสือเรื่อง Animal Farm นวนิยายเสียดสีการเมืองของนักเขียนชาวอังกฤษ จอร์จ ออร์เวลล์ ทำให้เกิดประเด็นถกเถียงกันอย่างกว้างขวาง

ทั้งในแง่การตีความคำแนะนำ เนื้อหาของหนังสือ และจังหวะเวลาของสถานการณ์การเมือง ช่วงเวลานี้ที่พรรคการเมืองพยายามเกาะกลุ่มจัดตั้งรัฐบาลและหานายกรัฐมนตรีที่เชื่อมโยงจากการเลือกตั้ง

ยิ่งเมื่อผู้แนะนำเคยเป็นผู้นำกองทัพและผู้นำคณะรัฐประหาร ยิ่งทำให้เกิดข้อสงสัย

ว่าเหตุใดจึงแนะนำให้อ่านนวนิยายเสียดสีการยึดครองอำนาจของ โจเซฟ สตาลิน ผู้ปกครองสหภาพโซเวียตให้เป็น รัฐเผด็จการ

ทั้งนี้ ไม่ว่าคำแนะนำให้อ่านแอนิมอล ฟาร์มเป็นไปด้วยเหตุผลใด นับเป็นเรื่องดีที่ทำให้คนในสังคมตื่นตัวสำหรับการอ่านหนังสือ โดยเฉพาะหนังสือที่ปลุกให้ใช้ความคิดและวิจารณ์ อีกทั้งเปิดโลกทัศน์ให้กว้างสู่โลกสากล

คำแนะนำแอนิมอลฟาร์มอาจทำให้ผู้คนคิดเห็นแตกต่างกัน เช่น บางส่วนเห็นว่าต้องการสื่อสารเหมือนนิทานอีสปเรื่องกบเลือกนาย และต้องการเตือนประชาชนอย่าได้หลงเชื่อผู้ที่กล่าวอ้างว่าจะนำพาความเท่าเทียมมาให้ประชาชน เพราะเมื่ออยู่ในอำนาจก็ตั้งตัวเป็นเผด็จการเหมือนกันจนแยกไม่ออก

ดังนั้นเมื่ออ่านหนังสือแล้วจึงได้ข้อคิดทางการเมืองมากมาย

ข้อคิดหนึ่งคือ หากคนในสังคมนิ่งเฉยดูดาย หรือมัวหวาดกลัวผู้ปกครองที่ไร้ความยุติธรรม จะเท่ากับการส่งเสริมให้เผด็จการเติบโต แข็งแกร่งและทำทุกอย่างตามอำเภอใจ

เมื่อเปรียบเทียบกับยุคปัจจุบันตัวละครที่เป็นสัตว์นานาชนิดในนวนิยายเรื่องนี้ยังคงใช้สื่อหรือเสียดสีบุคลิกลักษณะของผู้คนในวงการการเมืองได้อยู่

แต่ด้วยกลไกทางประชาธิปไตย และโลกแห่งการสื่อสารที่เปิดกว้างทุกวันนี้ เป็นเรื่องยากที่แต่ละประเทศจะมีสังคมแคบๆ แบบในฟาร์ม และปราศจากการตรวจสอบหรือวิพากษ์วิจารณ์จากประชาชน

เฉพาะคำแนะนำให้อ่านผลงานเขียนของผู้สนับสนุนแนวคิดสังคมนิยมประชาธิปไตยที่ทำให้เกิดการถกเถียงขึ้นได้ ก็ต้องขอบคุณแล้ว

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน