ยุคตู่ไม่ใช่ยุคป๋า

คอลัมน์ ใบตองแห้ง

พปชร.ยกมือพรึ่บพรั่บให้ ชวน หลีกภัย เป็นประธานสภา นึกว่าดีลรัฐบาลลุล่วง ที่ไหนได้ ปชป.บอกว่า ส.ส.ยกมือให้เพราะศรัทธา ไม่ใช่เพราะตระบัดสัตย์ผสมพันธุ์เผด็จการ

แห่ขันหมากไปสู่ขอ ทีแรกทำท่าจะสมสู่ เจ้าบ่าวประเคนสินสอดให้ทั้งเกษตร พาณิชย์ แต่ที่ไหนได้ ปัญหาย้อนกลับไปภายใน แล้วกลุ่มสามมิตรได้อะไร ส.ส.ภาคใต้ที่อุตส่าห์โค่นเสาไฟฟ้ามา 13 ต้น จะแบกหน้าไปพบประชาชนได้ไหม ฯลฯ

ซ้ำร้าย ปชป.ยังตั้งแง่คำพูดลุง เรื่องแก้รัฐธรรมนูญ เรื่องขอดูชื่อรัฐมนตรี แถมระหว่างที่เขาต่อรองกัน ก็ยังไปแนะนำให้ประชาชนอ่านหนังสือ Animal Farm ทำเอาชาวบ้านงง เพราะถึงแม้ฉบับภาษาไทยใช้ชื่อ “การเมืองของสัตว์” แต่เนื้อหากลับเสียดสีเผด็จการ (ดีไปอย่าง นักการเมืองขำกลิ้ง แทนที่จะโกรธ)

อาการโดยรวมจึงน่าเป็นห่วง แม้ยังเป็นนายกฯ ได้ โดยอาศัย 250 ส.ว.+126 ส.ส. ซึ่งเป็นข้อได้เปรียบ ตามกติกามีชัย+วันชัย หรือต่อให้ตั้งรัฐบาลได้ก่อนหรือหลังโหวตนายกฯ รัฐบาลผสมเสียงปริ่มน้ำ ก็ออกอาการตั้งแต่ต้น

ที่จริงนักวิเคราะห์วิจารณ์ก็คาดกันไว้ก่อนแล้ว ว่าแม้ลุงสืบทอดอำนาจได้ก็จะปวดกบาลกับรัฐบาลผสม พรรคร่วมมีอำนาจต่อรองสูง ในพรรคก็มีกลุ่มก๊วน แถมยังเจอฝ่ายค้านเข้มแข็ง กระแสสังคม ฯลฯ แต่ไม่คาดว่า จะลำบากตั้งแต่ยัง ไม่เริ่มต้น

เป็นนายกฯ แล้วยุบสภา ให้เลือกตั้งใหม่? (โดยยังมี ม.44 เพราะยังไม่ตั้ง ครม.) บ้าไปแล้ว ใครคิดอย่างนั้น คราวนี้ แหละจะถูกทุกพรรครุมยำ คะแนนนิยมก็ตกต่ำทั้งตลาดบน “ตลาดล่าง”

นี่ไง ใครที่คิดว่าประชาธิปไตยครึ่งใบยังใช้ได้ ฝันหวานว่ายุคตู่จะอยู่ได้ยาวเหมือนยุคป๋า คิดผิดถนัด บริบทต่างกันสิ้นเชิง (อันที่จริง ดร.โกร่งบอกว่า ตอนนี้ไม่ใช่ประชาธิปไตยครึ่งใบ เป็นเผด็จการครึ่งใบต่างหาก)

ยุคป๋า พรรคการเมืองไม่เข้มแข็ง ไม่มีอำนาจต่อรอง ไม่มีพรรคฝ่ายต้านเกินครึ่งสภา (แต่แพ้ทศนิยม) ยุคป๋าไม่ต้องลงเลือกตั้ง ไม่ได้ใช้อำนาจเข้าข้างพรรคใดพรรคหนึ่ง พรรค การเมืองตั้งรัฐบาลไม่ได้ก็มาเชิญ ท่านก็ขอโควตากลาง ให้ทหารให้เทคโนแครตมาเป็นรัฐมนตรี ไม่ต้องไปเบียดบังโควตาพรรคที่ตัวเองเป็นแคนดิเดต

รัฐธรรมนูญ 2560 ก๊อบรัฐธรรมนูญ 2521 มีวุฒิสมาชิก 3 ใน 4 ของ ส.ส. เป็นเสาค้ำรัฐบาล โดย 180 ใน 225 คนเป็นทหาร มีบทเฉพาะกาลให้ร่วมโหวตงบประมาณ โหวตไม่ไว้วางใจ ผ่านกฎหมายสำคัญ

แต่รัฐบาล “สืบทอดอำนาจ” ที่ใช้ ส.ว.เลือกนายกฯ จริงๆ ก็มีเพียง พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ที่เป็นนายกฯ จากรัฐประหาร 2520 ได้อยู่ต่อด้วยเสียง ส.ว. 225+ส.ส.86 คนจาก 301 คน

ผลคืออยู่ได้ไม่ถึงปี ต้องลาออก เพราะทหารยังเติร์กเลิกหนุน หนุน พล.อ.เปรมมาแทน แล้ว พล.อ.เปรมก็ไม่เคยตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อยอีกเลย

“ประชาธิปไตยครึ่งใบ” ซึ่งเริ่มต้นในยุคเกรียงศักดิ์ อยู่ในบริบทที่ต่างจาก “เผด็จการครึ่งใบ” โดยสิ้นเชิง เพราะก่อนหน้านั้นคนไทยอยู่ใต้เผด็จการสฤษดิ์ถนอมยาวนาน จนถึง 14 ตุลา 2516 มีประชาธิปไตยสั้นๆ 3 ปี ก็เกิด “ประเทศกูมี” 6 ตุลา 2519 เกิดรัฐประหาร ตั้งรัฐบาลหอย ประกาศจะปกครองด้วยเผด็จการสุดโต่ง 12 ปี ขณะที่นักศึกษาหลายพันคนเข้าป่าจับปืน

ผู้มีอำนาจส่วนหนึ่งตระหนักถึงความผิดพลาด คณะรัฐประหารจึงโค่นรัฐบาลหอยเสียเอง พล.อ.เกรียงศักดิ์ประกาศเลือกตั้งใน 1 ปี นิรโทษกรรมผู้นำนักศึกษา เปิดรับคนกลับจากป่า ซึ่ง พล.อ.เปรมมาสานต่อเป็น 66/23

ประชาธิปไตยครึ่งใบแม้ถูกวิพากษ์วิจารณ์ แต่เมื่อเทียบกับยุครัฐบาลหอย ที่ทำเอาเข็ดขี้อ่อนขี้แก่ ผู้คนสมัยนั้นก็ยังรู้สึกว่า “ดีกว่ากันเยอะเลย” อย่าลืมว่าสังคมสมัยนั้นเคยชินกับเผด็จการมาตั้งแต่ปี 2500

ขณะที่พรรคคอมมิวนิสต์ ก็ประสบความพ่ายแพ้ จากแนวคิดทฤษฎีของตัวเอง ประกอบกับจีนเปลี่ยนนโยบาย คบไทยต้านเวียดนาม ผู้ถูกกระทำจาก 6 ตุลา ผู้ถูกกระทำจากรัฐประหาร ก็กลายเป็นผู้พ่ายแพ้ที่ไม่มีปากเสียง จำต้องยอมรับการนิรโทษกรรม แม้ไม่มีการสะสางความยุติธรรม

ยุคป๋าเมื่อ พคท.ล่มสลายจึงไม่มีพลังต้านในเชิงอุดมการณ์ ไม่เหมือนยุคตู่ที่มี 7 พรรค 16.5 ล้านคะแนน ยืนตรงข้าม

“ตู่โมเดล” ไม่ได้มีอะไรคล้าย “เปรมโมเดล” หรือ “เกรียงศักดิ์โมเดล” ต่อให้ใช้ ส.ว.โหวตเป็นนายกฯ เหมือนกัน เพราะเกรียงศักดิ์แม้มาจากรัฐประหาร ก็เป็นการโค่นขวาจัด แก้ความผิดพลาด ขณะที่ป๋าก็ไม่เกี่ยวข้องโดยตรงกับรัฐประหาร 6 ตุลา 2519 จึงมีภาพคนกลางที่สังคมยอมรับ

แต่อำนาจที่ก่อวิกฤตตั้งแต่รัฐประหาร 49 พฤษภา 53 พฤษภา 57 จนบัดนี้ก็ยังไม่แก้ไขความผิดพลาดแม้แต่น้อย มีแต่ดึงดันจะลงหลักปักฐานควบคุมประเทศไปอีก 20 ปี

นี่เราพ้น “หอยโมเดล” แล้วหรือยัง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน