เศรษฐกิจโจทย์ยาก : บทบรรณาธิการ

คอลัมน์ – บทบรรณาธิการ

เศรษฐกิจ-โจทย์ยาก – รัฐบาลเพิ่งปลาบปลื้มกับผลการจัดอันดับขององค์กร International Institute for Management Development ว่า ไทยมีอันดับความสามารถในการแข่งขัน ประจำปี 2562 ดีขึ้นถึง 5 อันดับ จากอันดับที่ 30 เป็น 25 เพราะเป็นอันดับที่ดีที่สุดในรอบกว่า 10 ปีมานี้ ซึ่งคงทำให้ภาคเอกชนและนักลงทุนรายใหญ่ปลื้มด้วยเช่นกัน

แต่ประชาชนผู้ทำมาค้าขายทั่วไปอาจดีใจด้วยไม่ได้นาน เมื่อมีตัวเลขทางเศรษฐกิจอีกมุมมองหนึ่งแจ้งตามมา

ยอดหนี้สาธารณะคงค้าง วันที่ 31 มีนาคม 2562 มีจำนวน 6,908,743.63 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 41.78 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือจีดีพี

ด้วยสถานการณ์เศรษฐกิจโลกขณะนี้ แม้รัฐบาลบอกว่าอย่าได้ไปกังวลมากนัก ก็อาจห้ามคนคิดหรือวิตกไม่ได้

กระทรวงการคลังเคยอธิบายว่า ยอดมูลค่าหนี้สาธารณะที่ไม่เกินร้อยละ 60 ของจีดีพีสอดคล้องกับการกำหนดเพดานหนี้สาธารณะต่อจีดีพีในระดับสากล

ตอนนี้หนี้สาธารณะเพียงเพิ่งทะลุร้อยละ 40 แปลว่ายังไปได้อีก

ด้วยเหตุผลนี้ รัฐบาลจึงพยายามให้สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติใส่เกียร์เดินหน้าให้โครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศไปสู่การมีแรงขับเคลื่อนจากอุตสาหกรรมมูลค่าสูง

พร้อมย้ำว่าการยึดกรอบวินัยการคลังอย่างเดียวแต่ไม่ลงทุน จะทำให้เสียโอกาสได้

ปัญหาขณะนี้คือใครจะช่วยสร้างบรรยากาศของการลงทุนและสร้างแรงขับเคลื่อนดังกล่าวได้

รัฐบาลใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้นนี้ มีศักยภาพพอสำหรับโจทย์เศรษฐกิจนี้หรือไม่ เป็นเรื่องที่ประชาชนจับตาอยู่ ไม่น้อยไปกว่าการต่อรองทางการเมืองเรื่องอื่นๆ

พรรคการเมืองที่มีบุคลากรมาจากรัฐบาลชุดเดิม ต้องพิสูจน์ตัวเองอย่างหนักว่าจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง จากเดิมที่ประคองเศรษฐกิจ เป็นผลักดันเศรษฐกิจให้เดินหน้าได้อย่างไร

กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เพิ่งเสนอปรับลดเป้าหมายการส่งออกปี 2562 ขยายตัวที่ร้อยละ 3 จากเป้าหมายเดิมร้อยละ 8 เนื่องจากการส่งออกไทย 4 เดือนแรกติดลบเกือบทุกรายตลาด

สภาพการณ์นี้ยิ่งทำให้โจทย์แก้ยากกว่าเดิม

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน