FootNote : ตัวแปร จาก ประชาธิปัตย์ จุดชนวน หงุดหงิด การเมือง

ที่เคยเห็นว่า 51 เสียงของพรรคภูมิใจไทยคือตัวแปรอย่างสำคัญในการจัดตั้งรัฐบาล อาจเป็นความจริง แต่ถ้าเมื่อใด 51 เสียงของพรรคภูมิใจไทยผนวกเข้ากับ 53 เสียงของพรรคประชาธิปัตย์

เมื่อนั้นก็จะกลายเป็น “ตัวแปร” ในลักษณะ “ซูเปอร์”ขึ้นมาโดยอัตโนมัติ

เพราะเท่ากับเป็น 104 เสียง

จำนวน 104 อาจไม่มากนักเมื่อเทียบกับจำนวน 250 ส.ว.ที่มีอยู่ในมือ แต่อย่าลืมเป็นอันขาดว่าเมื่อโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีในวันที่ 5 มิถุนายนแล้ว 250 ส.ว.ก็กลับบ้าน

การที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้องเจอกับ 104 เสียงพรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทย ในสภาผู้แทนราษฎร

ไม่น่าจะเป็นเรื่องสนุกเท่าใดนัก

ความไม่สนุกในที่นี้เพราะหาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา บริหารจัดการต่อ 53 เสียงของพรรคประชาธิปัตย์ และ 51 เสียงของพรรคภูมิใจไทยไม่ดี

โอกาสที่พรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทย จะเกิดความเอนโอนไปยังอีก 7 พรรคก็น่าหนักใจ

เพราะบังเกอร์จากพรรคเพื่อไทย พรรคอนาคตใหม่ พรรคเสรีรวมไทย พรรคเศรษฐกิจใหม่ พรรคประชาชาติ พรรคเพื่อชาติ พรรคพลังปวงชนชาวไทย

รวมกันแล้วเท่ากับ 246 เสียง

เมื่อ 103 บวกเข้ากับ 246 ตัวเลขก็ออกมาเป็น 347 เสียงในสภาผู้แทนราษฎร เท่ากับบังเกอร์ของพรรคฝ่ายค้านแข็งแกร่งและ แน่นหนาเป็นอย่างสูง

อย่าถามถึงญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจเลย แม้กระทั่งการประชุมรัฐสภาในวันที่ 5 มิถุนายนนี้ก็หนักหนาสาหัสอย่างยิ่ง

การเมืองในปัจจุบันจึงสะท้อนการเมืองในลักษณะสร้างพันธมิตร ในแนวร่วมอย่างสำคัญ

กรณีของพรรคประชาธิปัตย์จึงก่อความหงุดหงิด

เป็นความหงุดหงิดทั้งภายในพรรคพลังประชารัฐและโยงยาวไปยังเหล่า “บิ๊ก” ในคสช.ที่เคยมีอำนาจเต็มไม้เต็มมือตั้งแต่เมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 เป็นต้นมา

จึงได้มีข่าวรัฐประหาร จึงได้มีข่าวยุบสภา จึงได้มีข่าวการชิงตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อย

 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน