คอลัมน์ บทบรรณาธิการ

ภารกิจของคณะผู้แทนรัฐบาลไทยที่มีจำนวนถึง 46 คนในการเดินทางไปนครเจนีวา เพื่อนำเสนอรายงานการปฏิบัติตามพันธกรณีภายใต้กติการะหว่างประเทศ ว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิการเมือง หรือไอซีซีพีอาร์ ฉบับที่ 2 ต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาตินั้นเสร็จสิ้นลงแล้ว ด้วยความน่าสนใจหลายประเด็น

เจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศอธิบายว่า เวทีนี้รับรองโดยสมัชชาสหประชาชาติ ไม่ใช่เวทีที่จะมุ่งโจมตีประเทศใดประเทศหนึ่ง หากเป็นแนวปฏิบัติตามปกติตามพันธกรณีกฎหมายระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนอื่นๆ

ดังนั้นข้อเสนอจากเวทีนี้ในเรื่องการปรับปรุงสถานการณ์สิทธิมนุษยชนจึงย่อมเป็นที่คาดหมายว่าจะได้รับการตอบสนอง

คณะผู้แทนไทยส่วนใหญ่จากกระทรวงยุติธรรมตอบคำถามคณะกรรมการ สิทธิมุนษยชนในหลายประเด็น ตั้งแต่ร่างรัฐธรรมนูญการปรับแก้ล่าสุด, มาตรา 44, ศาลทหาร, พ.ร.ก.ฉุกเฉิน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้, เสรีภาพในการรวมตัวโดยสันติ ไปจนถึงการหายสาบสูญของทนายสมชาย นีละไพจิตร และกรณีการสาบสูญของบิลลี่ พอละจี

มีข้อสังเกตว่าหลายกรณีที่เป็นคำถามที่ยังไม่มีคำตอบ หลายเรื่องเกี่ยวโยงกัน เพราะเป็นการบังคับใช้กฎหมายที่มีผลทั้งโดยตรงและโดยอ้อมต่อสถานการณ์สิทธิมนุษยชน

กฎหมายสำหรับสถานการณ์ไม่ปกติ เช่น ม.44 ที่คณะผู้แทนไทยแจ้งต่อเวทียูเอ็นว่าเป็นการบังคับใช้กฎหมายตามปกติ จึงเป็นจุดขัดแย้งในตัวคำอธิบายเอง

นอกจากนี้คำอธิบายของตัวแทนไทยต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนยูเอ็นถึงบริบทการเมืองและสังคมไทยก่อนหน้าเหตุรัฐประหาร 2557 รวมถึงความพยายามของรัฐบาลและสภานิติบัญญัติแห่งชาติในการผลักดันมาตรการและกฎหมายที่ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม พัฒนาการตามโรดแม็ปสู่การปรองดอง การปฏิรูป และการเลือกตั้งทั่วไป

น่าติดตามว่ายูเอ็นจะมีปฏิกิริยาและข้อเสนอว่าอย่างไร

เพราะคำเตือนที่ตรงไปตรงมาจากยูเอ็นหลายครั้งถูกฝั่งไทยสรุปว่าไม่เข้าใจบริบทการเมืองไทยหลายครั้ง

ทั้งที่สิทธิมนุษยชนยังคงเป็นความหมายเดิม

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน