คอลัมน์ รายงานพิเศษ

นับถอยหลังอีก 14 วัน การเก็บภาษีเงินได้จากครอบครัวนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี จากกรณีขายหุ้นบริษัทชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ให้กับกลุ่มเทมาเส็กเมื่อวันที่ 23 ม.ค.2549 จะขาดอายุความในวันที่ 31 มี.ค.นี้

ประเด็นที่เป็นปัญหาเกิดจากนายพานทองแท้ และน.ส.พินทองทา ชินวัตร ซึ่งถูกระบุว่าเป็นนอมินีนายทักษิณ นำหุ้นชินคอร์ปที่ซื้อมาจากบริษัทแอมเพิลริช 329.2 ล้านหุ้น ในราคาหุ้นละ 1 บาท แล้วนำมาขายต่อให้เทมาเส็กหุ้นละ 49.25 บาท ซึ่งส่วนต่างจากราคาซื้อ-ขาย นอกตลาด หลักทรัพย์นี้ต้องเสียภาษีเงินได้ราว 1.6 หมื่นล้านบาท

กรณีนี้ตามมาตรา 19 ของประมวลรัษฎากร มีอายุความ 10 ปี แต่ต้องออกหมายเรียกภายใน 5 ปี ซึ่งครบตั้งแต่ 31 มี.ค.2555

ล่าสุดรัฐบาลสั่งให้กรมสรรพากรเก็บภาษีตามความเห็นของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.)

โดยอาศัยมาตรา 61 ของประมวลรัษฎากร ที่ระบุว่าภายใน 10 ปี ถ้าปรากฏหลักฐานแน่ชัด กรมสรรพากรใช้อำนาจประเมินภาษีได้ทันที ไม่ต้องไปออกหมายเรียกใดๆทั้งสิ้น แล้วให้เริ่มนับหนึ่งใหม่ไปอีก 10 ปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล

อดีต รมว.คลัง

เมื่อวิเคราะห์อย่างละเอียดแล้ว เห็นว่าการเก็บภาษีเงินได้จากนายทักษิณ กรณีขายหุ้นชินคอร์ป ตามแนวทางของรัฐบาลน่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุด

จากเดิมที่คิดว่าสามารถทำได้ 2 แนวทาง คือ ให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ใช้มาตรา 44 เพื่อขยายเวลาอุทธรณ์ เรียกประเมินภาษี แต่ในทางการเมืองไม่สามารถทำได้ จึงต้องใช้อีกแนวทาง ตามข้อเสนอของสตง.คือได้เรียกภาษีจากตัวแทนของนายทักษิณไปแล้ว ให้ถือว่าได้ดำเนินการแล้ว

สาเหตุที่การเรียกเก็บภาษีหุ้นชินคอร์ปล่าช้ามาจนถึงขณะนี้และจะหมดอายุความในวันที่ 31 มี.ค. เพราะเจ้าหน้าที่กรมสรรพากร และบุคคลที่เกี่ยวข้อง ไม่ได้เอาใจใส่ ไม่มีการติดตาม หากเกิดความเสียหายขึ้นถือว่าเจ้าหน้าที่กรมสรรพากรละเว้นการปฏิบัติหน้าที่

ที่ผ่านมาใครที่มีอำนาจติดตามดูแลในเรื่องนี้ แต่ไม่ดำเนินการก็ต้องสอบสวนข้อเท็จจริงทั้งหมด ซึ่งปลัดกระทรวงการคลังได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงแล้ว ทำให้เชื่อว่าจะเกิดความชัดเจนในเรื่องนี้

มองว่าไม่น่าเป็นเรื่องทางการเมือง เพราะเป็นหน้าที่สรรพากรที่จะต้องติดตาม เนื่องจากเป็นเรื่องสำคัญ แต่ที่ผ่านมาแสดงให้เห็นว่ายังไม่ได้ใส่ใจ ทำให้การเรียกภาษีใกล้หมดอายุความ

ส่วนที่ผู้เสนอว่าหากไม่สามารถเรียกเก็บภาษีได้ สามารถใช้กฎหมายของคณะกรรมการปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) เข้ายึดทรัพย์ได้หรือไม่นั้นไม่ทราบ แต่เข้าใจว่าตามแนวทางของสตง.ที่เสนอมาให้ใช้ตามมาตรา 61 จะสามารถเดินหน้าจัดเก็บภาษีกับนายทักษิณได้

สำหรับบทเรียนในเรื่องนี้ คือ ฝากถึงเจ้าหน้าที่รัฐ รวมทั้ง รมว.คลังว่า ปัญหานี้เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2553 ที่ศาลภาษีตัดสินว่า หุ้นดังกล่าวไม่ได้เป็นของบุตรนายทักษิณ โดยกรมสรรพากรและอดีตรมว.คลังที่ลงนามในขณะนั้นไม่ได้มีการอุทธรณ์ในเรื่องดังกล่าว

ตามความเห็นส่วนตัว รมว.คลังน่าจะต้องอุทธรณ์ ต้องชั่ง น้ำหนัก และดำเนินการให้เกิดความชัดเจน เพราะกรณีนี้เป็นเรื่องผลประโยชน์ประเทศชาติ

หากเดินหน้าอุทธรณ์แล้วไม่สำเร็จให้ถือว่าอย่างน้อยก็ได้ดำเนินการไปแล้ว ดีกว่าไม่ทำอะไรเลย

พัฒนะ เรือนใจดี

อาจารย์คณะนิติศาสตร์ ม.รามคำแหง

เห็นด้วยกับการให้กรมสรรพากรดำเนินการเก็บภาษีเงินได้จากครอบครัวนายทักษิณ จากการขายหุ้นชินคอร์ป โดยที่ไม่ใช้มาตรา 44

เพราะมาตรา 44 เป็นการใช้อำนาจของฝ่ายบริหาร โดยหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) โดยไม่ผ่านกระบวนการยุติธรรม ทั้งที่เป็นเรื่องของการพิสูจน์สิทธิ ใช้สิทธิของผู้ถูกกล่าวหา ก็ควรให้เป็นไปตามกระบวนการปกติ

และแม้รัฐบาลจะสั่งหรือไม่ก็ตาม ก็เป็นหน้าที่ของกรมสรรพากรอยู่แล้ว และถูกต้องแล้วที่ต้องดำเนินการก่อนหมดอายุความ

ส่วนการเรียกเก็บหรือไม่เรียกเก็บภาษี เกิดขึ้นตามการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองหรือไม่นั้น ส่วนตัวคิดว่าไม่เกี่ยวกัน เพราะสรรพากรมีหลักในการเก็บภาษีอยู่แล้วตามปกติ แต่หากเป็นเรื่องของการเร่งรัด ตรวจสอบเพิ่มเติม หรือตรวจสอบย้อนหลัง ก็อาจมีส่วนที่เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองได้

ส่วนที่ปล่อยให้เวลาล่วงเลยมาเกือบ 10 ปี จนจะหมดอายุความ ไม่รู้ว่าเป็นเพราะเหตุใด จึงจำเป็นต้องตรวจสอบสรรพากร ว่าทำไมปล่อยให้เวลาล่วงเลยมา ติดขัดอย่างไร ซึ่งต้องดูว่าใครเป็นผู้รับผิดชอบ เพราะเป็นความเสียหาย

หากรัฐบาลหรือทางราชการไม่สามารถเรียกภาษีได้ 1.6 หมื่นล้านบาท จะถือว่าเสียประโยชน์ หากพบเป็นความผิดจากเจ้าหน้าที่ที่ปล่อยปละละเลยก็ต้องรับผิดชอบ

ส่วนที่มีผู้เสนอว่าหากคดีขาดอายุความ ให้ใช้กฎหมายของคณะกรรมการปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) เข้ายึดทรัพย์ได้นั้น เข้าใจว่านายกฯ ปฏิเสธวิธีการแบบนั้นแล้ว หรือหากจะใช้ควรเริ่มก่อนคดีหมดอายุความ เพราะหากคดีหมดอายุความแล้วไปดำเนินการแบบนั้น จะถือว่าขาดความชอบธรรม

สำคัญที่สุดคือการดำเนินคดีควรทำให้เสร็จเรียบร้อยในคราวเดียว ไม่เช่นนั้นจะไม่จบไม่สิ้น และจะไม่พ้นข้อครหา

รัฐบาลเองจะเสียรังวัดว่ากลั่นแกล้งได้

เกียรติ สิทธีอมร

รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์

เรื่องนี้เป็นเรื่องตั้งแต่มีคำพิพากษาของศาลแล้วว่าหุ้นนี้เป็นการถือหุ้นแทน เจ้าของจริงคือนายทักษิณ เป็นหน้าที่ของแต่ละฝ่ายที่ต้องไปดำเนินการ แต่อำนาจโดยตรงอยู่ที่อธิบดีกรมสรรพากร

ประเด็นที่บอกว่าต้องแจ้งให้ผู้เสียภาษีทราบภายใน 5 ปีนั้นสามารถตีความได้ในเจตนา จากคำพิพากษาของศาลว่าหุ้นนี้เป็นการถือหุ้นแทนเจ้าของจริงคือนายทักษิณ ซึ่งเป็นคดีที่รับรู้โดยทั่วไป เพราะมีการประกาศในสื่อ ก็น่าจะตรงกับเจตนาของกระบวนการแจ้งอยู่แล้วระดับหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ต้องไปว่ากันในชั้นศาล รัฐบาลคงไม่มีอำนาจ เพราะตามกฎหมายคืออำนาจของอธิบดีกรมสรรพากร ถ้าไม่ดำเนินการจะเข้าข่ายละเว้นการปฏิบัติหน้าที่

เท่าที่ทราบมีการดำเนินการอยู่ระดับหนึ่งแล้วในยุคก่อนๆ ซึ่งขณะนี้ถ้าพบว่ามีใครไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย เป็นเรื่องที่ต้องว่ากันตามเนื้อผ้า ไม่ใช่บอกว่าผ่านมาแล้วไม่ต้องไปดู และไม่ใช่เพราะเรื่องนี้เป็นคดีใหญ่ คดีสำคัญแล้วต้องทำ แต่ต้องทำทุกคดี ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นรัฐบาลที่ดำเนินการ ใครที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องก็ควรดำเนินการ

และในกระบวนการช่วงที่ผ่านมาต้องตอบสังคมให้ชัดว่าเกิดอะไรขึ้น รัฐบาลต้องเอาข้อเท็จจริงมาอธิบายให้สังคมได้รับฟัง

ส่วนการที่กรมสรรพากรอาจพิจารณาโดยไม่ได้ดูมาตรา 61 ของประมวลรัษฎากร แต่ดูเรื่องไม่ได้ออกหมายเรียกภายใน 5 ปีถือว่าขาดอายุความนั้น เห็นว่าเรื่องนี้จะไปยุติในชั้นศาล

กรณีที่มีการมองว่าที่ผ่านมาการเรียกเก็บกับไม่เรียกเก็บภาษีเกิดขึ้นตามการเปลี่ยนแปลงการเมือง ก็มองย้อนไปปี 2554-56 ทำไมไม่มีการดำเนินการ แต่ไม่อยากให้แต่ละฝ่ายมานั่งเถียงกันเรื่องการเมือง เพราะเรื่องนี้เป็นประเด็นข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย ซึ่งถือว่ายุติแล้วในศาลฎีกา ก็ต้องปฏิบัติตามนั้น การเมืองจะพูดอะไรก็แล้วแต่ไม่มีความหมาย

ส่วนที่มีผู้เสนอว่าหากคดีหมดอายุความให้รัฐบาลใช้กฎหมายของคณะกรรมการปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) เข้ายึดทรัพย์ทันทีนั้น เห็นว่าต้องใช้ตามเจตนารมณ์ของกฎหมายฉบับนั้นๆ ไม่ใช่ใช้ไม่ได้แล้วไปใช้อีกฉบับหนึ่ง จึงต้องไปดูว่าความผิดที่เกิดขึ้นเข้าข่ายหรือไม่ หากเข้าข่ายแล้วไม่ดำเนินการก็ผิด

ไม่อยากบอกว่าต้องทำอย่างนั้นอย่างนี้ เราไม่เห็นข้อเท็จจริง ทั้งหมดที่เกิดขึ้น แต่เมื่อหลักฐานข้อเท็จจริงชัด และยุติในชั้นศาลแล้ว ถือเป็นบรรทัดฐาน ไม่ต้องมานั่งเถียงกัน

แต่หากในที่สุดไม่สามารถเก็บภาษีได้แล้ว คนที่ต้องรับผิดชอบคือกรมสรรพากร และผู้ที่มีอำนาจคืออธิบดี บางทีอาจจะต้องไปถึงปลัดกระทรวงการคลัง ก็ต้องไปว่ากันตามกฎหมาย

อย่างไรก็ตาม การซื้อขายหุ้นไม่เพียงเฉพาะที่เป็นคดีตอนนี้ แต่ในยุคนั้นมีการตั้ง นอมินีซื้อขายหุ้นเพื่อเลี่ยงกฎหมาย เชื่อว่าการถือหุ้นอย่างนี้ยังมีเยอะ แต่ที่ตรวจสอบกันเข้มมีกรณีเดียว ดังนั้นต้องตรวจสอบให้หมด ผิดกฎหมายไหนก็ต้องดำเนินการ

หรือการใช้ตลาดหลักทรัพย์เป็นกลไกในการไม่จ่ายภาษี ก็ต้องกลับไปทบทวน รวมถึงมีการตั้งบริษัทที่เกาะปลอดภาษี เป็นเครื่องมือสำคัญในการหลบเลี่ยงเงินที่ไม่ถูกกฎหมายหรือโครงสร้างที่จะหลีกเลี่ยงกฎหมายชัดเจน แล้วทำไมไม่ทำอะไร

แม้กระทั่งเงินที่เข้ามาซื้อหุ้นในตลาดหลัก ทรัพย์ ผ่านการจดทะเบียนในเกาะปลอดภาษีเต็มไปหมด มองไม่เห็นว่าเจ้าของเงินคือใคร

ดังนั้น ยุคปฏิรูปกำลังจะทำอะไรบ้างที่จะปฏิรูปสิ่งเหล่านี้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน